Sunday, August 29, 2004

โกมาซุม...ดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง

อาทิตย์ที่ผ่านมา มีน้องไปเดินเที่ยวงานเกษตรที่หาดใหญ่ซื้อกล้วยไม้โกมาซุมมาฝาก เพราะเห็นว่าเป็นคนระนอง ความที่โกมาซุมเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง แต่ในฐานะคนระนองก็ออกจะอายๆว่าไม่ค่อยเห็นต้นไม้นี้สักเท่าไร ได้มาก็เลยรีบค้นข้อมูลว่าตกลงทำไมอยู่ๆโกมาซุมถึงมามีความสำคัญกับเมืองระนอง

เริ่มจากชื่อ โกมาซุม ฟังเป็นภาษาญี่ปุ่น เกาหลีไปโน่น ไปค้นแล้วเจอว่า โกมาซุมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ “ Dendrobium Formasum “ ซึ่งในเว็บไซต์จังหวัด บอกว่า “ที่มาของชื่อ โกมาซุม มาจากชาวอังกฤษคนหนึ่ง ชื่อ มิสเตอร์ สกอต ซึ่งเข้ามาทำเหมืองแร่ บริษัท ไซมิสติน ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ได้ตัดดอกไม้ชนิดนี้ ซึ่งพบในป่าแถบนั้น มาแขวนประดับไว้บริเวณบ้าน แล้วเรียกว่า “ ฟอร์ม มา ซ่อม ” คาดว่าคงเป็นการเรียก Species ของต้นไม้นี้ และคนไทยได้เรียกชื่อต่อ ๆ มาจนกลายเป็น “ โกมาซุม ” ในปัจจุบัน ด้วยความสวยงามของดอกโกมาซุม ซึ่งสามารถพบเห็นได้อย่างดาษดื่นในป่าของจังหวัดระนอง นายจำนง เฉลิมฉัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองในขณะนั้น จึงได้ประกาศให้ “โกมาซุม ”เป็นดอกไม้ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2536 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “

อืมม์....ก็มีเค้าอยู่บ้างเพราะสมัยก่อนมีฝรั่งมาทำงานในเหมืองแร่ระนองจริงๆถึงจะไม่มากนัก และโดยนิสัยฝรั่งที่สนใจต้นไม้ดอกไม้ คงหาต้นไม้มาประดับบ้าน เรื่องความเพี้ยนของชื่อนี้เคยเจอมากับตัวเองตอนที่ได้ต้นไม้จากพี่สาวที่ซื้อมาจากงานเดือนสิบ เขาบอกว่าดอกไม้นี้มาจากเมืองจันทบุรี ชื่อ ไซกามอน ฟังแล้วก็งงๆ ในที่สุดไปเจอที่ออสเตรเลีย บ้านที่ไปพักอยู่ปลูกต้นไซกามอนนี้ด้วย หน้าตาเหมือนกัน แต่ดอกใหญ่กว่ากันคนละเรื่องเลย และชื่อจริงๆคือ “ไซคลาเมน”

ลักษณะของดอกมีคำบรรยายว่า “มีลักษณะคล้ายกับดอกแคทลียา ซึ่งเป็นราชินีดอกกล้วยไม้ พบมากในป่าที่มีความชุ่มชื้นของจังหวัดระนอง โดยเฉพาะเขาน้ำตกหงาว บริเวณอำเภอเมือง ลักษณะลำต้น เป็นปล้อง ๆ เท่านิ้วชี้ เนื้อเยื่ออ่อน ๆ ใบบาง ๆ เรียวเล็ก สีเขียวอ่อนถึงแก่ แยกออกสองทาง โกมาซุมจะออกดอก ออกช่อสมบูรณ์สวยงามมาก ลักษณะดอก มีสีขาว มีสี่กลีบ กลีบใหญ่มีแต้มสีเหลืองอ่อนอยู่ตรงกลางบริเวณใกล้ลิ้น มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ บานอยู่ได้หลายวัน โดยจะออกดอกบานสะพรั่ง ในช่วงเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม ของทุกปี” ( คัดมาจาก http://www.ranongprovince.com/komazum.htm )

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ( http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style1/default.asp?npid=118&lg=1 ) บอกว่า โกมาซุม เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า “เอื้องเงินหลวง” ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium formosum Roxb. ex Lindl. มีลักษณะคล้ายดอกแคทลียา กลีบสีขาว กลีบใหญ่จะมีแต้มสีเหลืองอ่อนอยู่ตรงกลาง ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม พบมากบริเวณป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง โดยเฉพาะป่าที่น้ำตกหงาว

พอมาดูชื่อ Dendrobium formosum Roxb. ex Lindl. ก็เกิดความสงสัยต่อมาอีกว่าชื่อมันมีอะไรต่อท้ายกันนี่ แล้วดอกไม้นี้มันเป็นดอกไม้แถบบ้านเราหรือที่ไหนก็มี ลองไปค้นดูในข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์คิวของอังกฤษ ( http://www.rbgkew.org.uk/exhibitions/johnday/pages/jds_39_001.html ) พบว่า กล้วยไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบโดย Mr. William Roxburgh ในทางภาคเหนือของอินเดีย ซึ่ง Mr. Roxburgh เป็นผู้ช่วยศัลยแพทย์ของบริษัท East India Company เมื่อปี 1776 แต่หลังจากนั้นได้เป็นนักพฤกษศาสตร์ประจำบริษัทอยู่ถึง 24 ปี Dendrobium formosum ถูกตั้งชื่อ 15 ปี หลังจากที่เขาเสียชีวิต โดยใช้ชื่อที่เขาตั้งไว้ กล้วยไม้นี้พบได้ทั่วไปในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน ประเทศไทย และเวียตนาม

และสงสัยต่อไปถึง “ex Lindl.” ว่าหมายความว่าอย่างไร วันหลังจะลองถามเพื่อนที่เล่นกล้วยไม้ดู แต่เท่าที่ค้นในอินเทอร์เน็ต พบชื่อคล้ายๆกันที่เกี่ยวกับกล้วยไม้คือ Linden ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญในวงการกล้วยไม้ยุดรป ความหลงใหลเสน่ห์ของกล้วยไม้เริ่มต้นในยุโรปเมื่อประมาณปีค.ศ. 1818 ธุรกิจกล้วยไม้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ประเทศเบลเยี่ยมกลายเป็นศูนย์กลางการปลูกกล้วยไม้ Jean Linden (1817-1898) มีบทบาทในการค้นพบชนิดใหม่ๆหลายชนิด เขาได้ตั้งศูนย์เพาะต้นไม้ที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติที่กรุงบรัสเซลร่วมกับลูกชายและยังได้ตีพิมม์ "Lindenia - Iconographie des Orchidees" นิตยสารรายเดือนคุณภาพที่มีการออกต่อเนื่องถึง 17 ปี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องและรูปประกอบสวยๆจะหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. http://www.ranongprovince.com/komazum.htm
2.http://www.rbgkew.org.uk/exhibitions/johnday/pages/jds_39_001.html
3. http://www.school.net.th/library/create-web/10000/science/10000-854.html
4. http://www.sd.ac.th/student/jaturong/dendrobium.htm
5. http://www.orchidsonline.com.au/species401.html
6. http://www.shigitatsu.com/LINDENIAV1.htm

1 comment:

hutcha sriplung said...

ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับชื่อ Dendrobium formosum Roxb. ex Lindl. ดังนี้ครับ

Dendrobium เป็นชื่อสกุล (genus) ชื่อกล้วยไม้ต้นนี้ ชื่อไทยทั่วไปคือ เอื้องเงินหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างย่อ เขียนว่า Dendrobium formosum หรือถ้าจะย่อลงอีก จะย่อชื่อสกุล เป็น Den. formosum ครับ

ส่วน Roxb. ex Lindl. เป็นส่วนที่เกี่ยวกับคนตั้งชื่อครับ ส่วนนี้บอกว่า 'Mr. William Roxburgh' เป็นคนพบครั้งแรก และตั้งชื่อไว้ ex หมายถึง 'ต่อมาถูกเปลี่ยน' โดย Lindl. คือ 'Sir John Lindley' ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งครับ โดยทั่วไป เหตุผลการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง มีได้หลายกรณีครับ เช่น การรายงานครั้งแรกนั้นไม่ได้ตีพิมพ์อย่างถูกต้อง มีการจัดสกุลใหม่ หรืออื่นๆ ครับ