Wednesday, December 02, 2020

บันทึกน้ำท่วม 2563

 ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนของทางฝั่งอ่าวไทย ปลายเดือนพฤศจิกายน ก็มีฝนตกตลอดเรื่อยๆ  พอดีเดินทางไประนองช่วงวันที่ 27 -29 พฤศจิกายน  ทางระนองอากาศมัวๆ แต่ฝนไม่ตก  ตอนขากลับบ่ายวันที่ 29 พฤศจิกายน ก็จะเจอฟ้ามัวมาตลอดทาง  เข้ากาฐนดิษฐ์ฝนตกหนักมาก  ขับรถยากมาก

วันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. ก็ฝนตกหนักมากเป็นช่วงๆ ก็ยังไม่น่ากลัวเท่าไร แต่มีบางโรงเรียนประกาศเลื่อนวันเปิดเทอมจากวันที่ 1 ธค เป็นวันที่ 3 ธค เพราะอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าฝนจะตกหนัก 1-3 นี้ 

วันที่ 2 ธ.ค. ฝนตกหนักตั้งแต่เช้า ซึ่งก็เป็นความต่อเนื่องมาเป็นวันที่สาม มีหลายจุดในเมืองที่น้ำเริ่มท่วมเข้าบ้าน  รอบนอกวลัยลักษณ์ก็เห็นมีโพสต์น้ำท่วมทั้งชินิดเข้าบ้าน  และทางที่ขาดไป  จริงๆวันที่ 3 นี้มีกำหนดนักนิเทศสหกิจที่หาดใหญ่  ก็ต้องเลื่อนไปเพราะได้ข่าวว่าทางชะอวดทางขาด

ในที่สุดวลัยลักษณ์ก็ประกาศงดการเรียนการสอนวันที่ 2 - 3 ธันวาคม 2563  พนักงานก็สามารถ work from home ได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

วันนี้ (2 ธค) ขับรถเข้าในท่าศาลา มีฝนตกแต่ก็ไม่มีจุดที่น้ำขังน้ำท่วม  แม้แต่ที่ป้ายหน้ามอที่เป็นจุดต่ำ  แต่ในมอมีคนส่งภาพมาให้ดูว่าน้ำท่วมลานจอดรถตึกต่างๆ  หอพักวลัยนิวาส ก็คงเป็นน้ำท่วมอีกครั้งที่ถือว่าใหญ่น่ากลัว

เห็นคนโพสต์รูปทางกรุงชิง  สะพานเล็กๆบางแห่งถูกน้ำท่วมแล้ว  สะพานเบี่ยงที่กำลังก่อสร้างคลองกลายก็ปิดแล้ว


ฟังจากข่าวที่เขานำเสนอ  บอกว่าปีนี้หนักกว่าปี 54  สะพานคลองกลายขาดแล้วทั้งทางจริงและทางเบี่ยง  มีรถ Fortuner ตกลงไปคัดหนึ่งด้วยค่ะ

ถนนเส้นต่างๆก็น้ำท่วมสูง เส้นสามแยกบ้านตาลน้ำท่วมถนน  แถวถนนตรงพระพรหมก็น้ำท่วมสูง หน้ารามก็น้ำท่วม  สรุปว่าน้ำมากจริงๆค่ะปีนี้  

ฝนก็ตกไม่หยุดเลย  วันที่ 2 นี้ตกตลอดวัน










3 ธ.ค. 2563  ตื่นมาตีสี่กว่าๆก็ได้ยินเสียงฝนตกหนักแล้วก็เบาลง แต่ก็ยังคงตกต่อเนื่อง ด้วยสภาพฝนแบบนี้ พื้นที่ต่างๆคงยังเจอน้ำท่วมต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เข้าไปดูข่าวในเพจ ประเทศคอน  มีภาพน้ำท่วมหนักหลายๆที่ ในตัวเมืองนครน้ำท่วมสูงมาก มากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน










4 ธ.ค. 2563 สถานการณ์เข้าสู่สภาพปกติ


Tuesday, October 27, 2020

ตึกถล่มที่สี่แยกคอกวัวเมื่อปี พ.ศ. 2485

 ช่วงไม่กี่ปีก่อนคุณพ่อจะเสีย จะมีโอกาสถามเรื่องราวเก่าๆในชีวิตของคุณพ่อไว้มาก เรื่องหนึ่งที่คุณพ่อเล่าให้ฟังคือ คืนแรกที่เข้ากรุงเทพฯ ไปนอนที่วัดมหาธาตุ แล้วเกิดมีตึกถล่ม เสียงดังสนั่นมาถึงวัดมหาธาตุ เขาไปดูกันตอนเช้า น่ากลัวมากเพราะเป็นอาคารบนถนนราชดำเนิน

ฟังแล้วก็ข้องใจว่าแล้วตึกนั้นคือตึกอะไร  พอดีช่วงปี 2014 ติดตามอ่านเว็บเรือนไทย จะมีผู้รู้ชนิดรู้จริง เช่น ดร. วินิตา หรือ แก้วเก้า ผู้เป็นเข้าของเรือนใช้ชื่อว่า เทาชมพู เป็นผู้ตอบหลัก  มีคุณเพ็ญชมพู  ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ฯลฯ มาถกความรู้กันอย่างน่าตื่นใจ  ก็เลยถามเข้าไปเป็นกระทู้ เนื่องจากได้รับคำตอบที่ดีมากๆ ก็อยากจะนำมาเก็บไว้เป็นข้อมูลค่ะ


"เคยเกิดเหตุอาคารถล่มบริเวณอาคารริมถนนราชดำเนินกลางหรือไม่คะ

Singing Blue Jay อสุรผัด * ตอบ: 22

 เมื่อ 13 ก.พ. 14, 23:42

ได้เห็นการตอบแบบลงรายละเอียดของแต่ละท่านในเรือนไทย ก็เลยกล้าถามค่ะ ว่าในอดีตช่วงที่เพิ่งสร้างอาคารริมถนนราชดำเนินกลางเสร็จใหม่ๆเคยเกิดกรณีอาคารถล่มหรือไม่คะ

คุณพ่อของดิฉันเป็นคนต่างจังหวัดเข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพเมื่อประมาณเจ็ดสิบปีที่แล้ว เล่าว่า วันแรกที่ไปถึงไปพักที่วัดมหาธาตุ วันรุ่งขึ้นอาคารใหม่ก็ถล่ม เสียงดังสนั่นมาก ก็เลยไม่แน่ใจว่าเคยมีกรณีอย่างนี้หรือไม่ (ไม่แน่ใจเรื่องปี พ.ศ.ค่ะ น่าจะเป็นช่วงปี 248X เพราะขณะนี้คุณพ่ออายุ 88 ปี)

ขออนุญาตถามต่ออีกเรื่องด้วยนะคะ  คุณแม่สมัยสาวๆก็เข้าไปเรียนตัดเสื้อโดยมีที่พักอยู่ในโรงเรียนสอนตัดเสื้อแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เรียนคืออาคารมุมอนุสาวรีย์ด้านที่ตรงข้ามกับโรงเรียนสตรีวิทยา ตอนนี้เป็นอะไรก็ไม่ทราบค่ะ ดิฉันไม่ค่อยได้เข้ากรุงเทพ ต้องระบุแบบภาพที่จำได้ว่า มีอาคารภัตตาคารศรแดง  มีอาคารที่เคยเป็นที่ทำการบริษัทเมืองโบราณ  มีโรงเรียนสตรีวิทยา และก็มีอาคารที่คุณแม่ดิฉันพูดถึงนี่ละคะ อยากทราบว่าอาคารนั้นเป็นอาคารของใคร มีประวัติยังไงคะ

อารมณ์ถามเรื่องสมัยคุณพ่อคุณแม่นะคะ ต้องมาถามแถวนี้เพราะเวลาถามคุณพ่อก็ไม่ได้รายละเอียดมากนัก คุณแม่ก็ไม่อยู่ให้ถามแล้วค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ"


แล้วก็ได้คำตอบชนิดลงรายละเอียดอย่างวิเศษ

"เทาชมพู เจ้าเรือน หนุมาน ***** ตอบ: 32481 ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม เว็บไซต์

ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ก.พ. 14, 08:03

เคยมีตึกถล่มจริงค่ะ

เป็นตึกหลังเดิมตรงหัวมุมสี่แยกคอกวัว   อยู่มุมตรงข้ามคนละฝั่งกับตึกธนาคารออมสิน   เคยยุบตัวพังลงมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าเป็นเพราะคอรัปชั่นกินอิฐกินหินกินทรายกินเหล็กกันในการก่อสร้าง  ทำให้ตึกทานน้ำหนักไม่พอจึงทรุดตัวพังลงมา

ตึกนี้ต่อมาได้รื้อและสร้างขึ้นใหม่เป็นสถานีวิทยุ ททท.ของบริษัทไทยโทรทัศน์ ต่อมาถูกประชาชนและนักศึกษาเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516  จึงกลายเป็นที่ดินว่างๆ

หลายปีต่อมากลายเป็นที่ตั้งซุ้มขายสลากกินแบ่ง   ปัจจุบันคือที่ตั้งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ค่ะ

ส่วนร.ร.สอนตัดเสื้อ ดิฉันไม่ทราบ  แต่จากที่คุณบรรยายมา น่าจะเป็นบริเวณร้านอาหารวิจิตร ในปัจจุบันละมังคะ

ต้องรอผู้รู้มาตอบค่ะ"

แล้วก็มีผู้รู้มาให้ข้อมูลอีกหลายท่านจึงทราบว่า

ตึกที่ถล่มนั้นเป็นที่ทำการของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. บริษัทไทยโทรทัศน์ จากนั้นเป็นที่ทำการกตป. แล้วถูกเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 

"เพ็ญชมพู หนุมาน ******** ตอบ: 11420

ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 ก.พ. 14, 08:46

คุณใหญ่ นภายน เล่าถึงเรื่องนี้ในบทความเรื่อง ถนนราชดำเนินในความทรงจำ

ย้อนลงไปอีกนิดก็ถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีอนุสาวรีย์ ๑๔ ตุลา ตึกตรงนั้นปรากฏว่าพอสร้างแล้วพัง และพอพังแล้วก็สร้าง นั่นแหละมีตึกใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าของทางราชการ มีชื่อย่อว่า อ.จ.ส. ต่อมาชั้นบนของตึกนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ดำเนินงานโดยคุณจำนง รังสิกุล และคุณสมจิตร สิทธิไชย สมัยนั้นภาคบ่ายมีทายปัญหาและการบรรเลงดนตรีของคณะสุนทราภรณ์ ทุกเสาร์ – อาทิตย์

ตึกนี้มาถูกเผาเมื่อคราว ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ราบเรียบไปตามระเบียบอีกแห่งหนึ่ง

อ.จ.ส. ย่อมาจากอะไรหนอ  ฮืม"


"NAVARAT.C หนุมาน ******** ตอบ: 11294

ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 ก.พ. 14, 09:21
องค์การจัดซื้อและขายสินค้า

รูปแบบคือห้างสรรพสินค้าธรรมดาๆ ดำเนินการโดยข้าราชการเพื่อแข่งกับเอกชน ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ผลประกอบการขาดทุนยับเยิน ต้องเจ๊งไปในเวลาสั้นๆไม่กี่ปี"


"ลุงไก่ สุครีพ ****** ตอบ: 1281

ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 20:50
อ้างจาก: เทาชมพู ที่  14 ก.พ. 14, 08:03
เคยมีตึกถล่มจริงค่ะ
เป็นตึกหลังเดิมตรงหัวมุมสี่แยกคอกวัว   อยู่มุมตรงข้ามคนละฝั่งกับตึกธนาคารออมสิน   เคยยุบตัวพังลงมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าเป็นเพราะคอรัปชั่นกินอิฐกินหินกินทรายกินเหล็กกันในการก่อสร้าง  ทำให้ตึกทานน้ำหนักไม่พอจึงทรุดตัวพังลงมา
ตึกนี้ต่อมาได้รื้อและสร้างขึ้นใหม่เป็นสถานีวิทยุ ททท.ของบริษัทไทยโทรทัศน์ ต่อมาถูกประชาชนและนักศึกษาเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516  จึงกลายเป็นที่ดินว่างๆ
หลายปีต่อมากลายเป็นที่ตั้งซุ้มขายสลากกินแบ่ง   ปัจจุบันคือที่ตั้งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ค่ะ


เล่าเพิ่มเติมอีกหน่อย .. ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่กำนันเคยเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นหนองน้ำ เมื่อสร้างตึกคงจะไม่ได้ถมดินและบดอัดให้แน่นเสียก่อน ตึกสมัยนั้นก็ไม่ได้ใช้เสาเข็มคอนกรีตยาวเหมือนสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะใช้เสาเข็มไม้ยาวสักประมาณ ๔-๖ เมตร ตอกปูพรมลงไปตรงฐานเสาตึกและตามแนวคานคอดินของตึก คะเนตามประสบการณ์ว่าคงรับน้ำหนักของตึกได้ เมื่อเสาเข็มตอกจมอยู่ในดินอ่อนดินเลนไม่ใช่ดินแข็งเหมือนกับบนพื้นดินปกติ ก็ทำให้กลุ่มเสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักได้

เมื่อก่อสร้างอาคารไปถึงจุดหนึ่งที่น้ำหนักของอาคารถ่ายลงเสาเข็มเกินกว่าที่เสาเข็มจะรับน้ำหนักได้ ตึกก็เลยพังลงมา .. ผู้ใหญ่เล่าว่าตึกยุบลงไปในดินทั้งหลัง ไม่ใช่ทลายล้มลงมาทางด้านข้าง ไม่ใช่การคอรัปชั่นกินหินกินปูนกินเหล็กครับ ส่วนเรื่องอาถรรพ์ของที่ตรงนี้นั้นไม่มีข้อมูลครับ"



ส่วนเรื่องโรงเรียนของคุณแม่ได้ข้อมูลจากการไปถามเพิ่มมาว่า

"Singing Blue Jay อสุรผัด* ตอบ: 22

ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ก.พ. 14, 14:33

ขอบคุณทุกท่านที่มาตอบให้นะคะ  เรื่องตึกถล่มหายข้องใจกันไป ภาษาใต้แถวนี้เรียกว่า "หวางไป" ค่ะ   ยิ้มกว้างๆ

ส่วนภาพที่ลุงไก่โพสต์ให้ดู ตัวเองไม่ทราบข้อมูลอะไรเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอาคารหลังไหนแน่ เพียงแต่คุณแม่เคยบอกว่าอยู่หัวมุมพอดี และเป็นโรงเรียนที่มีที่พักให้นักเรียนต่างจังหวัดพักที่โรงเรียนได้ เคยถามคุณพ่อว่าชื่อโรงเรียนอะไรก็จำไม่ได้ บอกแต่ว่าสมัยนั้นย่านนั้นจะมีโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าสอนทำผมหลายแห่ง มีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งชื่อ "ลีฟวิ่ง" แต่โรงเรียนนี้ไม่ใช่ลีฟวิ่งค่ะ

เคยเห็นรูปถ่ายที่คุณแม่กับเพื่อนๆไปเดินเล่นกันแถวอนุสาวรีย์แล้วก็นั่งถ่ายรูปกันเป็นกลุ่มบนลานอนุสาวรีย์ ตอนเห็นรูปครั้งแรกตอนเด็กๆก็ถามว่าแล้วเดินข้ามถนนไปได้ยังไงคะ เพราะสมัยเรารถวิ่งกันขวักไขว่แล้ว ยุคนั้นถนนโล่ง เดินกันสบาย เย็นๆก็ไปเดินเล่นกัน"

"Singing Blue Jay อสุรผัด * ตอบ: 22

ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 18:13

อ้างจาก: Singing Blue Jay ที่  14 ก.พ. 14, 14:33

ขอบคุณทุกท่านที่มาตอบให้นะคะ  เรื่องตึกถล่มหายข้องใจกันไป ภาษาใต้แถวนี้เรียกว่า "หวางไป" ค่ะ   ยิ้มกว้างๆ

ส่วนภาพที่ลุงไก่โพสต์ให้ดู ตัวเองไม่ทราบข้อมูลอะไรเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอาคารหลังไหนแน่ เพียงแต่คุณแม่เคยบอกว่าอยู่หัวมุมพอดี และเป็นโรงเรียนที่มีที่พักให้นักเรียนต่างจังหวัดพักที่โรงเรียนได้ เคยถามคุณพ่อว่าชื่อโรงเรียนอะไรก็จำไม่ได้ บอกแต่ว่าสมัยนั้นย่านนั้นจะมีโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าสอนทำผมหลายแห่ง มีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งชื่อ "ลีฟวิ่ง" แต่โรงเรียนนี้ไม่ใช่ลีฟวิ่งค่ะ

เคยเห็นรูปถ่ายที่คุณแม่กับเพื่อนๆไปเดินเล่นกันแถวอนุสาวรีย์แล้วก็นั่งถ่ายรูปกันเป็นกลุ่มบนลานอนุสาวรีย์ ตอนเห็นรูปครั้งแรกตอนเด็กๆก็ถามว่าแล้วเดินข้ามถนนไปได้ยังไงคะ เพราะสมัยเรารถวิ่งกันขวักไขว่แล้ว ยุคนั้นถนนโล่ง เดินกันสบาย เย็นๆก็ไปเดินเล่นกัน

ขอกลับมาแจ้ง่ความคืบหน้าเกี่ยวกับโรงเรียนสอนตัดเสื้อที่ราชดำเนินทีได้ถามไว้นะคะ ข้องใจมากว่าคุณแม่เรียนที่ไหนแน่ ก็ได้พยายามสอบถามกลับไปที่คุณป้าพี่สาวของคุณแม่ ในที่สุดทราบว่าชื่อร้าน"เมธา"ค่ะ สมัยนั้นคงมีสาวๆมาเรียนกันมาก พี่สาวเล่าว่า เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งของคุณแม่คือ คุณป้าสนุ่น เทียนทอง พี่สาวของคุณเสนาะ เทียนทอง ก็มาเรียนอยู่ด้วยกัน คุณแม่ได้ไปเยี่ยมที่อำเภอวัฒนานครก่อนจะเสียชีวิตอีกไม่กี่ปีต่อมาค่ะ โดยทั้งคู่ไม่ได้เจอกันมาประมาณหกสิบปี แต่ต่างคนต่างก็จำความหลังสมัยก่อนกันได้!

ส่วนร้าน Living ที่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อชื่อดังในอดีต ค้นได้ว่า อาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร "ครูสอนตัดเสื้อ" ระดับตำนานของเมืองไทย ได้ย้อนความหลังให้ฟัง คัดมาจากสกุลไทยออนไลน์ค่ะ

"ความรู้สึกอยากเรียนมันเกิดขึ้นมาเอง เหมือนคนอยากเป็นหมอก็อยากจะเป็น ผมอยากเป็นช่างเสื้อ ชอบออกแบบ ผมทำเสื้อผ้าเป็นตั้งแต่ ม.๓ เมื่อก่อนจะมีร้านหนึ่งชื่อร้าน Living เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อของแม่ชีฝรั่งอยู่แถวบางขุนพรหม เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อโรงเรียนแรกๆที่พวกแหม่มสอน ก็ไปขอเขาเรียน เขาก็ไม่รับ เพราะเราเป็นผู้ชาย เราก็ขอเขา ขอเรียนตอนเย็น จนเขาสงสารก็เลยสอนให้ สมัยนั้นสร้างแบบกันบนหนังสือพิมพ์บ้าง ไม่มีกระดาษสร้างแบบเหมือนสมัยนี้ แล้วก็สมัยก่อนไม่ค่อยมีคัตติ้ง ง่ายๆ แบบแส็คง่ายๆแล้วก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แบบเสื้อเราก็ดูแบบจากต่างประเทศเป็นหลัก จากฮอลลีวู้ด ฝรั่งเศส ดีไซเนอร์ก็ไม่มี เพราะว่าพูดกันตามตรง คนไทยจะรับจากเมืองนอกทั้งนั้น ออกแบบให้ตาย เขาก็ต้องเอาแบบของนอกมาใช้"

http://www.yingthai-mag.com/?q=magazine/%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A3

แนบรูปในกล่องเก็บภาพของที่บ้านค่ะ ไม่มั่นใจว่าเป็นรูปของคุณพ่อหรือคุณแม่ เพราะถ้าเป็นเพื่อนคุณแม่ก็จะมีแต่สาวๆอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ก็คงเป็นรูปสมัยนั้นค่ะ ยิ้ม"



และก็ไม่น่าเชื่อว่าแค่เห็นภาพถ่ายก็มีคนสามารถลงรายละเอียดต่อเรื่องของกระดาษอัดภาพได้อีก

" ลุงไก่ สุครีพ ****** ตอบ: 1281

ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 20 ก.พ. 14, 19:51

ลักษณะของกระดาษอัดภาพแบบนี้ นิยมกันในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๐ ฟิลม์ถ่ายภาพจำได้ว่าเรียกขนาดฟิล์มเบอร์ ๑๒๐ ในยุคแรกฟิล์มไม่ได้อยู่ในกลักฟิล์ม แต่จะม้วนอยู่รอบแกนฟิล์มและจะมีกระดาษสีดำทาบมากับฟิล์ม การใส่ฟิล์มก้ต้องค่อยๆ คลายฟิล์มออกมา สอดปลายกระดาษเข้าแกนเปล่าอีกด้านหนึ่ง ปิดฝาหลังกล้องให้สนิทแล้วค่อยๆ หมุนแกนให้ฟิล์มเลื่อนไป

บนฝาหลังกล้องจะมีช่องเล็กๆ สำหรับมองตัวเลขลำดับภาพของฟิล์มบนหลังกระดาษห่อฟิล์ม โดยปกติฟิล์ม ๑ ม้วน จะจัดมาให้ถ่ายได้ ๑๒ ภาพพอดี พอถ่ายหมดม้วน ก็หมุนแกนด้านแรกกลับให้หมด ถอดฟิล์มไปส่งร้านให้ล้างและอัดภาพ .. บรรดาตากล้องมือใหม่มักไม่กล้าถอดฟิล์มเอง ก็จะเอากล้องไปที่ร้านช่วยถอดฟิล์มให้"


"POJA พาลี **** ตอบ: 298

ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 22 ก.พ. 14, 21:14

ตอบอย่างไม่แน่ใจนะคะ

4 ด้านของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไล่จากด้านร้านศรแดง (เมธาวลัย ศรแดง) ตามเข็มนาฬิกาไปเป็นร้านขายหนังสือริมขอบฟ้า (เมืองโบราณ) ขึ้นไปเป็นร้านแมคโดนัลด์ แต่ก่อนเป็นบาร์ชื่อ อเล็กซานดร้า แห่งสุดท้ายซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งคุณ Singing Blue Jay เอ่ยถาม น่าจะเป็นตึกที่ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร Side Walk ก่อนหน้าหลายปีเป็นร้านอาหารวิจิตรมาลี  ก่อนจะเป็นร้านอาหารเป็นร้านดอกไม้ ถ้าจะเป็นโรงเรียนเสริมสวยก่อนหน้านั้น ก็เป็นไปได้มากค่ะ


ส่วนอาคาร ศูนย์พณิชยกรรม (ศูนย์แสดงสินค้า)ของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ ที่สี่แยกคอกวัวนั้น ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ล้อมรั้วอยู่เฉย ๆ มาหลายปีแล้วค่ะ  ได้ข่าวว่าทาง กทม มีโครงการปรับปรุงเป็นห้องสมุดประชาชน  ซึ่งอาจจะเลยไปถึงอาคารกองสลากด้วย คือตึกทางด้านนั้นทั้งแถบ มาสุดตรงอาคารกรมประชาสัมพันธ์เก่าที่ถูกเผาไปตอน พฤษภา 35 ก็จะทำเป็นอนุสรณ์สถาน"


สรุปว่าได้ความรู้มาอีกมากจากความสงสัยเรื่องเก่าของคุณพ่อคุณแม่

สรุปได้ว่าคุณพ่อน่าจะเข้ากรุงเทพในปี พ.ศ. 2485 ส่วนคุณแม่น่าจะอยู่กรุงเทพช่วงแถวๆปี 2490 หรือเลยไปไม่กี่ปีแถวๆนั้น  เพราะคุณพ่อคุณแม่ไปเจอกัน  แต่งงาน  และมีลูกคนแรกในปี 2498 

เรื่องราวความหลังของครอบครัวก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ผูกโยงถึงประวัติศาสตร์กันได้




ดอนตะโกมีอะไรมากกว่าที่คิด...ไม่เคยรู้เลย...

เนื่องจากวันนี้มีงานที่ต้องลงพื้นที่ไปถามความต้องการของชุมชนในโครงการยกระดับเศรษฐกิจระดับตำบล ไปที่ อบต.ดอนตะโกค่ะ ได้คุยกับทีมนายกอบต. ปลัด หน.สำนักปลัดและผู้ใหญ่บ้านโชคดี สุทธิพันธ์ ทางอบต.เห็นดีด้วยที่จะเข้าร่วมโครงการ ก็ขอคุยไว้ก่อนเพื่อการส่งโครงการเสนอขึ้นไปนะคะ ถ้าโครงการได้รับการอนุมัติก็จะได้ทำงานลงพื้นที่กันค่ะ คุยงานไปขั่วโมงกว่า เรียบร้อยด้วยดี งั้นไปเยี่ยมชมสถานที่น่าสนใจของดอนตะโกกันดีกว่าค่ะ เราใช้คำว่า.... ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง 
ก่อนมาที่นี่ก็ไม่รู้จักดอนตะโกเลยนะคะ ไม่รู้จักสถานที่สำคัญและสิ่งมีชื่อเสียงของแถบนี้เลย รู้สึกอายเล็กน้อย เพราะเราอยู่เขตอำเภอท่าศาลาด้วยกัน ใกล้กันมาก ใกล้เกลือกินด่างมากค่ะ เพราะที่นี่มีอะไรมากกว่าที่คิด

ไม่เคยรู้ว่าที่นี่มีวัดเก่าแก่อย่างวัดจันพอ ที่ตั้งวัดมาตั้งแต่ปี 1099 (ข้อมูลทะเบียนวัดจาก http://www3.onab.go.th/2018/09/13/watrecord092561/
) มีพ่อท่านพุ่มผู้เป็นเกจิอาจารย์ดังอยู่ที่นี่ ช่วงนี้ได้ไปที่วัดปากโมร๊ะอยู่บ่อยๆ ไปกราบหลวงปู่กลิ่น ติสสโรในโลงแก้วที่วัดเสมอ เพิ่งทราบว่า หลวงปู่กลิ่น ป็นลูกศิษย์พระอุปัชฌาย์พุ่มเฒ่าแห่ง วัดจันพอ นี่เอง อ้อ ในวัดมีต้นไม้ที่ไม่ค่อยได้เห็นอย่างจันทร์กะพ้อ ที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านจันพอแถบนี้ มีต้นมะตูม มีต้นตะโกซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องยังไงกับดอนตะโก มีบ่อน้ำเก่าที่ปากบ่อทำขอบเป็นทรงแปดเหลี่ยม คำว่าเก่านี่คือข้างบ่อมีรอยจารึกปีก่อบ่อน้ำไว้ว่าปี 2493 ค่ะ มีรายชื่อและจำนวนเงินที่บริจาคไว้เสร็จสรรพ

ไม่เคยรู้ว่าที่อุตส่าห์ไปเที่ยวตระเวนหาชมฐานโยนีจากโบราณสถานต่างๆ ที่ดอนตะโกมีวัดถึงสามวัดที่มีฐานโยนีเก็บไว้ในวัดและสามารถเข้าชมได้ตลอดเวลา คือ วัดจันพอ วัดหญ้าปล้อง และวัดไทรขาม
ไม่เคยรู้ว่ามีตำนานทวดนาคที่เป็นพี่น้องกับทวดกลายอยู่ที่ดอนตะโกนี่เอง (จริงๆก็เพิ่งรู้ว่าทวดกลายท่านเป็นมุสลิมเมื่อไม่นานมานี้ด้วย) ศาลาทวดนาคบริเวณนั้นมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่หลายต้น และมีต้นประดู่แก้บนอยู่บริเวณใกล้เคียง (มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก comment ด้านล่าง ขอนำขึ้นมาไว้ตรงนี้ด้วยนะคะ "Apinun Komkum ทวดจันพอ หรือทวดหน้าศพ เป็นพี่ชายของทวดเจ้านายนอกหน้า(ผู้หญิง) และทวดกลาย เป็นลูกของ พระยารามเดโช(หวาน)เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เดิมเชื้อสายชาวมุสลิม มีลูกที่นับว่าเป็นเชื้อสายตรง คือ ๑. ทวดหน้าศพ (ต่วนกูหนาด/พี่ชาย) ๒. เจ้านายนอกหน้า(ผู้หญิง) ๓. ทวดกลาย (ต่วนกูกลาย)

พระยารามราชเดโช (หวาน หรือ ต่วนกูหวาน) ลูกเจ้าเมืองไทรบุรี ประเทศราชของอยุธยา ตามจารีตประเพณีของอยุธยา จะต้องนำเอาลูกเจ้าเมืองที่เป็นเมืองขึ้นทั้งหมด ของแต่ละหัวเมืองไปอยู่ที่อยุธยา และการนำลูกเจ้าเมืองเมืองขึ้นต่างๆที่มาอยู่ในอยุธยา ได้มีการประสิทธิ์ประสาทวิชาทางการทหาร วิชาทางไสยเวชให้ทุกคน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เจ้าเมืองไทรบุรีได้นำ นายหวาน (ต่วนกูหวาน) บุตรชายเข้าไปถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กของพระเจ้าปราสาททอง เพื่อนมหาดเล็กด้วยกันมี นายทองคำ ลูกเจ้ากรมคชบาล นายเผื่อน ลูกเจ้าพระยาพิษณุโลก นายน้อย ลูกเจ้าพระยาราชบังสัน นายสังข์ ลูกเจ้าพระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมา นายเหล็ก นายปาน ลูกเจ้าแม่วัดดุสิต เป็นข้าหลวงเดิมและเป็นพระสหายต้นเจ้าฟ้านารายณ์โอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง")
ไม่เคยรู้เลยว่าที่นี่มีต้นไม้ยักษ์หลายสิบคนโอบที่แอบซ่อนความยิ่งใหญ่ของต้นไว้ในสวนยาง ถ้าไม่ตั้งใจไปดูก็จะไม่มีโอกาสเห็น ไม่มีคนพาไปก็เข้าไม่ถูก หรือเข้าถูกแต่ก็เป็นที่มีเจ้าของ กลางสวนเขาเลยค่ะ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นต้นอะไรนะคะ ได้ยินแว่วๆว่าชื่อสมพง ซึ่งก็เคยได้ยินชื่อและเคยเห็นค่ะว่าต้นสมพงมีลักษณะคล้ายๆแบบนี้ ใครรู้จักก็ช่วยยืนยันหน่อยนะคะ แต่ขอบอกว่าเป็นต้นใหญ่มากจริงๆค่ะ เคยเห็นต้นไม้ใหญ่มามากก็ไม่ใหญ่เท่าต้นนี้ ดูรูปแล้วกันนะคะ อ.จงสุขไปยืนข้างพูพอนเนี่ย กลายเป็นมนุษย์จิ๋วไปเลย 

อะไรที่ไม่รู้ก็มารับรู้เสียวันนี้ และด้วยความที่มีเวลาจำกัดก็เลยยังไม่ได้ไปชมวัดไทรขาม ฝายมีชีวิตห้วยน้ำคลุ้ง ไม้ได้ไปชมสวนเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้ไปสวนปันสุขสับปะรดสี รวมถึงไม่ได้ซื้อของโอทอปห้าดาวอย่างข้าวซ้อมมือของจันพอ ไม่เป็นไรค่ะ ไปวันหลังบ้างก็ได้ อย่าหักโหม
เที่ยวมากไปก็จะหิวมากด้วย ได้ทราบมาว่าที่นี่มีร้านเก๋ๆ อาหารดีงามชื่อ "ฟาร์มสุข" ชื่ิอช่างเหมาะสมกับจงสุขมาก พวกเราก็เลยกินมื้อเที่ยงอร่อยๆกันที่นี่ เป็นร้านอาหารในสวนที่ตกแต่งสวน กลมกลืนและก็ดูเก๋มาก เจ้าของร้าน คุณเบิร์ด (ศิษย์เก่า MIT วลัยลักษณ์)ก็อารมณ์ดีมาก อาหารที่นี่ก็เลยอร่อย ได้กินอาหารฝรั่งๆรสชาติเข้มข้นก็ที่นี่ละค่ะ ลองสปาเกตตี้ไก่ใส่พริกหวาน อร่อยมากๆ อีกเมนูที่ได้ลองคือสตูว์ไก่ เนื้อนุ่มรสก็นุ่มดีมาก มากขนาดที่กินแล้วขอซื้อกลับมาอีกแพ็คหนึ่งทันที เมนูอื่นรอเที่ยวหน้านะคะ ได้ยินว่าช่วงกลางคืนร้านจะสวย... ต้องมาดูแล้วล่ะ
แล้วเราก็รีบกลับมายานแม่ค่ะ มีประชุมสรุปงานตอนบ่ายสองโมง ขับรถกลับมาบนถนนกลางนาที่เจิ่งน้ำ มีฉากหลังเป็นมฆสีเทาครึ้ม ฮื่อ... ท่าศาลาแสนดี ฝนจะตกก็ยังอุตส่าห์สวย
#LovelyThasala #ดอนตะโก #1ตำบล1มหาวิทยาลัย









ทริปสำรวจแหล่งประวัติศาสตร์สิชล

ทริปสายฟ้า - ฉีกผ้าร้าย ตอนที่ 1 : สายฟ้าพาชมภาพเขียนสีในถ้ำลึกลับที่สิชล


สายฟ้าเป็นชื่อของลูกนกตัวหนึ่งค่ะ ตอนนี้นางเป็นนกสายโบราณคดีไปแล้ว  :)


เมื่อวานนี้ (23 พฤษภาคม 2563) มีทริปดีงามและแสนจะมีสาระค่ะ เป็นทริปเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีสำคัญของสิชลและท่าศาลาที่ไม่ค่อยมีคนได้มีโอกาสชมกัน ทริปแบบนี้ปกติคงไม่มีโอกาสไปศึกษา ต้องติดตามคุณหมอบัญชาไปค่ะ แอบต่อขบวนไปด้วยคน ไปกับหมอบัญชาจะมีแต่เรื่องดีๆ


ทริปนี้จริงๆเริ่มต้นมาจากการที่คุณหมอมีลูกนกตะขาบทุ่งตัวหนึ่ง ตกลงมาจากต้นไม้ ทางคุณหมอเลี้ยงไว้ได้ 2 สัปดาห์แล้ว และตั้งชื่อให้ชื่อเท่ๆว่า “สายฟ้า” ปกติก็นกตะขาบทุ่งเป็นนกขนาดกลาง สีฟ้าสดสวยโดยเฉพาะเวลาบิน เสียงจะแหบห้าวมาก ถึงจะเป็นนกที่พบได้บ่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่นกเลี้ยง เห็นรูปน้องในเฟซ ยืนเกาะไหล่คุณหมออยู่ น่ารักมากๆ แถมกินโน่นกินนี่ตามแบบคนได้ น้องจะเสียนกแล้วค่ะ  :)


เมื่อวานซืน (22 พฤษภาคม 2563) คุณหมอก็ปรารภผ่านเฟซบุ๊กว่าจะพาน้องกลับบ้าน แต่จะพาไปฝึกบินในทริป “#ตามพรลิงค์มหานคร ที่สิชลและท่าศาลา แถม #ถ้ำพระใหม่หมาด ที่ใคร ๆ ยังไม่เคยรู้” ในวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2563 นี้ก่อน เห็นโพสต์แล้วต้องไม่รอช้านะคะ รีบขอตามทริปเลยค่ะ ได้ประโยชน์หลายสถาน ทั้งได้เจอน้องสายฟ้าด้วย ได้ชมแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญมากๆด้วย


ทีมฝั่งวลัยลักษณ์ท่าศาลามี 3 คน คือ อ.ต่าย ปิยะพงค์ อ.แหม่ม สมรักษ์ อีกคนก็ อ.จงสุข นี่ละค่ะ ทริปเริ่มเก้าโมงเศษๆ ขับรถไปเจอสมาชิกกันที่ต้นเหรียง ผู้ดูแลสมาชิกจุดนี้คือ อาจารย์จำรัส รอทีมคุณหมอที่นำพระอาจารย์ โสพิทร์ แซ่ภู่ จากวัดพระนครมานำทีมด้วย และมีทีมวลัยลักษณ์ในเมืองคือน้องไก่ ปิยวัชน์ และครอบครัว คือ น้องแอน และน้องลูกหว้า จากนั้นก็ขับรถตามกันไปไปทางวัดถ้ำเทียนถวายค่ะ แต่ไม่ได้เข้าวัด จะเลี้ยวขวาไปตามถนนเข้าไปอีก 


จุดแรกคือบริเวณหุบเขาใกล้วัดเทียนถวาย บริเวณที่เราเข้าไปก็เป็นที่ของคนในพื้นที่นะคะ มีการปลูกปาล์มเป็นสวน เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อรวมพลกันครบทั้งทีมที่มาเยี่ยมชม รวมถึงเจ้าของพื้นที่ ก็เป็นคณะใหญ่ประมาณเกือบยี่สิบคน คุณหมอก็แนะนำทีมให้รู้จักกัน และเกริ่นที่มาของการศึกษานี้ว่า ทางวลัยลักษณ์จะทำประวัติเมืองนครโดยเฉพาะในเขตตอนเหนือตั้งแต่ท่าศาลาขึ้นไป ซึ่งคุณหมอก็รับที่จะหาคนช่วยทำให้ ก็มี สุรเชษฐ์ แก้วสกุล สถาปนิกผู้สนใจประวัติศาสตร์ที่คุณหมอเห็นฝีมือ อยากจะให้มาช่วยทำงานให้ จากนั้นพี่จำรัสอธิบายให้ฟังต่อว่า บริเวณเขาแถวนี้มีถ้ำอยู่หลายถ้ำ นอกจากถ้ำเทียนถวายก็มีถ้ำพระ มีชื่อเรียกต่างๆหลายถ้ำ ถ้าที่เราจะชมนี้พิเศษที่เป็นถ้ำอยู่ใน “ที่วัง” ซึ่งหมายถึงที่ที่ระดับเจ้าเมืองอยู่กัน มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ มีทางเข้าทางเดียว มีกำแพงธรรมชาติกั้นโดยรอบ จากทางเข้าเดินไปทางขวามือจะมีทางเดินขึ้นไปบนถ้ำ ภายในถ้ำมีภาพเขียนสี ซึ่งเป็นเป้าหมายของทีมงานที่มาเก็บข้อมูลในวันนี้ คุณเชียร(กระมังคะ ถ้าพิมพ์ชื่อผิดขออภัย) ก็เสริมต่อว่า คนในพื้นที่เองก็จะเจอเศษถ้วยชามเวลาที่ทำการปรับพื้นที่ บางชิ้นที่เจอก็มอบให้ทางกรมศิลป์ไปแล้ว คือพื้นที่นี้กรมศิลปากรได้รับทราบแล้ว แต่การดำเนินการอย่างไรยังไม่ทราบแน่ชัด ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลค่ะ สุรเชษฐ์ได้อธิบายความเห็นว่า ภาพของพระที่เห็นจะใช้สีแดงเขียนตัดเส้น มีการตัดสังฆาฏิค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งคล้ายกับภาพที่เจอที่ถ้ำนีโม ที่ถ้ำพรรณาราที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ( อ้อ ฟังชื่อผิดค่ะ จริงๆคือถ้ำอีโม่ หรือถ้ำพระโบ ดูภาพเพิ่มเติมที่ลิงก์ของสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราชที่นี่ค่ะ https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/375492596383661 ) ซึ่งเป็นงานสมัยอยุธยาตอนต้น ที่นี่ก็คงต้องสำรวจกันอีก ถ้าเป็นจริงในยุคสมัยนั้นก็จะเป็นสิ่งใหม่ในการศึกษา เพราะปกติเราเราไม่ค่อยรู้เรื่องยุคนี้ จะรู้เรื่องเก่ายุคตามพรลิงค์หรือไม่ก็ปลายอยุธยาไปเลย ที่นี่จึงน่าสนใจมาก


เราเดินผ่านสวน แล้วปีนขึ้นเขาไปค่ะ ทีแรกคิดว่าถ้ำจะอยู่บนเขาตรงนั้น ปรากฏว่าไม่ใช่ ตรงนั้นคือปากทางเข้าหุบเขา เพราะเราจะต้องเดินลงมาอีก ลงไปแล้วก็ประหลาดใจมากเพราะจะเป็นพื้นที่ราบ ปลูกพืชสวนไว้ พื้นที่ตรงนี้คือหุบเขาจริงๆเลยค่ะ มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน เข้าได้ทางเดียว ไม่เคยเข้ามาในพื้นที่ลักษณะแบบนี้เลย ที่ใกล้เคียงคืออย่างในถ้ำมรกตที่ตรัง ที่เข้าไปแล้วมีเขาล้อมรอบ เขาที่นี่ดูไม่สูงมากขนาดนั้นเพราะพื้นที่ราบนี้ค่อนข้างกว้าง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ค่ะ จากปากทางเข้า เดินลงไป แล้วจะมีทางเดินขึ้นเขา จุดนี้จะเดินไปที่ปากถ้ำ ก่อนเข้าถ้ำเราก็มีการจุดธูปเทียนไหว้ขอเข้าไปในถ้ำ และมีพระอาจารย์ โสพิทร์ แซ่ภู่ เดินนำขบวนเข้าไป ถ้ำนี้ขนาดค่อนข้างเล็ก ไม่ได้เป็นโถงกว้างๆเหมือนถ้ำใหญ่อื่นๆ แต่ก็กว้างพอที่คนจะลงไปทีละสิบกว่าคนนะคะ ปากถ้ำจะแคบ ต้องเดินเรียงเดี่ยวลงไป ทางลาดลง และกว้างขึ้น แต่ขนาดถ้ำกว้างแค่ประมาณ 2 เมตร และบนผนังจะมีการวาดภาพพระอยู่เห็นได้ชัดเจนเป็นเส้นสีแดงๆ เห็นเป็นพระพุทธรูป เขียนเรียงรายกัน บางจุดก็ใกล้กันสามสี่ภาพ บางจุดก็ห่างออกไป ถ้ำนี้อากาศไม่ทึบ จะเห็นค้างคาวบินไปมาจำนวนหนึ่ง บนพื้นถ้ำก็จะมีเปลือกหอยจำนวนหนึ่ง คุณหมอบอกว่าเป็น land snail หน้าตาคล้ายๆหอยโข่งค่ะ


นอกจากภาพเขียนที่เห็นแล้ว ก็มีภาพเขียนด้วยสีดำๆเป็นภาพคน ซึ่งน่าจะเป็นคนรุ่นหลังที่เข้ามาในถ้ำแล้วขีดเขียน ซึ่งก็น่าเสียดาย :( ในถ้ำนี้ถึงจะไม่ใหญ่แต่ก็มีบริเวณที่เป็นหินแวววาวแบบกากเพชร มีหลืบร่องต่างๆที่เมื่อกวาดแสงไปไปก็จะเห็นเป็นภาพต่างๆอย่างเช่น ภาพพระพุทธรูป เป็นต้น 


ช่วงที่เข้าไปในถ้ำ พระอาจารย์ก็ได้นำสวดมนต์พร้อมกัน จากนั้นก็ตั้งวงสนทนาว่า จากภาพที่เห็น ประมาณอายุที่อยุธยาตอนต้น ช่วงที่เขียนภาพก็ค่อนข้างมีฝีมือ มีพระพุทธเจ้าประมาณ 17 พระองค์ ซึ่งก็อาจจะศึกษาดูว่าน่าจะมีถึง 28 พระองค์ตามคัมภีร์พุทธวงศ์หรือไม่ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่มีคุณค่ามากอีกแห่งหนึ่งของเมืองนคร คุยกันเรื่องจะทำอย่างไรกันต่อไป ต้องตอบคำถามให้ชัดเจนว่างานในถ้ำนี้เป็นงานยุคสมัยไหน เป็นอะไร และเป็นอย่างไร ในการสนทนา อ.จำรัสได้พูดถึงเมืองอลอง (หรืออะไรซักอย่างคล้ายๆชื่อนี้  :) ) นอกจากนั้นก็มีการให้ข้อมูลว่าพบเศษไหดินเผา แต่การจะเข้าชมต้องนอนเข้าไปดู ซึ่งค่อนข้างลำบาก พวกเราก็ออกจากถ้ำกันมาและให้ทีมงานหลักเก็บภาพในถ้ำให้ครบถ้วน และได้เวลาที่พระอาจารย์ต้องฉันเพลก่อนจะเลยเวลา


เมื่ออกมาจากถ้ำ เทียนยังไม่หมดเล่มดี คุณหมอก็โชว์สำเนาหนังสือภาษาเยอรมันเล่มหนึ่งที่ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์โอภาส ตันติฐากูร หนังสือชื่อ มาตาฮารี ผู้แต่งคือ นาย ฮันส์ มอร์เกนธาลเลอร์ ชาวสวิส ผู้เคยมาทำงานกับบริษัทเหมืองแร่ และได้พักอยู่บริเวณสิชล จากบันทึกของเขาก็จะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราชหลายเรื่อง ควรค่าที่จะอ่านและศึกษากันต่อไปค่ะ (อันนี้ก็ขอยกยอดไว้เป็นโพสต์อื่นนะคะ ท่าจะยาว)


ลงมาถึงพื้นราบ ประเคนอาหารให้พระอาจารย์ คุณหมอก็เล่าเรื่องากหนังสือให้ฟัง จากนั้นก็เดินชมพื้นที่ เพิ่งทราบว่าพลายจำเริญ ผู้มีอนุสาวรีย์อยู่ที่จุดชมวิวถนนเส้นสิชล - ขนอม ก็เคยถูกนำมาซ่อนอยู่บริเวณนี้เพื่อไม่ให้ถูกนำขึ้นไปกรุงเทพ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์จริงๆเลยค่ะ และพื้นที่นี้มีต้นทุเรียนป่าต้นใหญ่ อายุร้อยปี ตอนนี้กำลังจะออกดอก รออีกไม่กี่เดือนค่อยกลับมากินลูกกันนะคะ เปิดขายให้ใครๆได้กินกันที่าจะดีค่ะ ทุเรียนจากแหล่งประวัติศาสตร์ พิเศษมากๆ ที่อื่นไม่มี 


หลังจากนั้นก็ออกจากที่นี่ค่ะ ทีมเราขับรถออกไปรอที่ร้านอาหาร วันนี้ทางทีมจัดอาหารที่ร้านครัวบ้านก๋งให้ทาน อร่อยมากๆ หมดช่วงเช้าไปอย่างมีคุณค่า


น้องสายฟ้าก็ได้กลายเป็นนกที่สนใจโบราณคดีไปโดยปริยาย เพราะได้ฟังเลคเชอร์มากมาย ได้เข้าไปนั่งตาแป๋วอยู่ในถ้ำ ได้ชมภาพเขียนสี ได้สวดมนต์กับเขา นี่ก็เพราะน้องสายฟ้าถึงได้ตามทริปคุณหมอมา 555


จบโพสต์นี้ตรงนี้ดีกว่า เพราะช่วงบ่ายยังมีการไปชมวัดที่น่าสนใจอีกถึง 3 วัด ได้รับฟังเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

#ทริปสายฟ้าฉีกผ้าร้าย #ทริปโบราณคดี #ทริปประวัติศาสตร์ #บันทึกกันลืมว่าไปไหนมา

#LovelySichol #LovelyThasala #ที่วัง 


-------------------------------------------------------------------------------------

ทริปสายฟ้า - ฉีกผ้าร้าย ตอนที่ 2 : สายฟ้าพาเข้าวัด


ต่อเนื่องจากทริปเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีสำคัญของสิชลและท่าศาลาช่วงเช้า หลังจากที่เรากินอาหารเที่ยงเสร็จ ก็เริ่มทริปบ่ายค่ะ


จุดแรกที่เราไปคือวัดดอนใคร อยู่ที่ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา เป็นวัดที่เราคาดหวังจะไปชมศิวลึงค์ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดี เมื่อไปถึงพบว่าเป็นวัดใหญ่ กว้างขวาง เป็นวัดที่มีทรายขาวปูเต็มวัด โดยมีต้นไม้ใหญ่อยู่เต็ม มีเจดีย์ฐานใหญ่ที่ดูเป็นของใหม่ มีบันไดนาคที่มีสีแปลกตามาก คือมีคู่หนึ่งเป็นนาคสีน้ำเงิน คณะเราพยายามไปหาหลักฐานที่เป็นหินศิวลึงค์แต่ก็หาไม่พบ มีหินก้อนหนึ่งที่ดูจะคล้ายมากที่สุดแต่ก็ไม่เป็นทรงศิวลึงค์อย่างที่ได้ยินมา ถามพระสงฆ์ที่อยู่ที่วัด ท่านก็เพิ่งมาอยู่กันไม่นาน ไม่ทราบรายละเอียดของโบราณของวัด และก็ไม่เห็นหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ และก็บอกว่าเคยมีคนมาถามหาแบบนี้เหมือนกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากนะคะ 


ในเว็บไซต์แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ ของ สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม http://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/4280 ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “หลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้แก่ 1) ศิวลึงค์ 2 องค์ ทำด้วยหินทราย เป็นประเภทประเพณีนิยม มีลักษณะถ่ายทอดจากรูปทรงเลขาคณิต ส่วนยอดเป็นรูปโค้ง ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่โบราณสถานบ้านโคกตึก ปัจจุบันวัดสร้างที่ประดิษฐานไว้ในที่มิดชิดและปลอดภัย ส่วนอีกองค์เก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส 2) โยนิโทรณะ (ฐานศิวลึงค์) 2 องค์ ทำด้วยหินปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และทำด้วยหินทรายปัจจุบันชาวบ้านได้ทำฐานขึ้นมาเพื่อรองรับไม่ให้ตั้งอยู่บนพื้นดิน 3) ธรณีประตู ทำด้วยหินปูนมีสภาพชำรุด ปัจจุบันกำลังจมดินอยู่ใกล้พระอุโบสถหลังเก่าของวัด 4) หินบดยา สร้างด้วยหินทรายใช้สำหรับบดยา” แต่ที่เราไปหา ไม่พบสิ่งใดๆที่วัดเลย เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจเพราะที่วัดน่าจะเป็นที่เก็บสิ่งของไว้ได้ดี แต่ก็เห็นกันว่าสิ่งที่ควรอนุรักษ์บางทีก็ต้องมีวิธีการอื่นในการจะส่งมอบประวัติศาสตร์ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป


สิ่งใหม่ที่เพิ่งเคยเห็นที่นี่คือต้นมะตูมค่ะ เนื่องจากไม่เคยเห็นต้นหรือใบมาก่อน เคยเห็นแต่มะตูมเชื่อม กับมะตูมแห้งที่เขาเอามาชงดื่ม พระที่วัดนำชมต้นมะตูมของที่นี่ มี 2 ต้น ต้นใหญ่และต้นเล็ก เป็นชนิดที่เอาผลมาตากแห้งและชงดื่ม ไม่ใช่มะตูมหวานที่เอาไปเชื่อม ความน่าสนใจของมะตูมคือ ใบมะตูมจะมีลักษณะเป็นใบเรียงกันสามใบลักษณะเหมือนตรีศูล มีความเชื่อบ้างก็ว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์พระศิวะ บ้างก็ถือว่าเป็นตรีมูรติคือแทนพระพรหม พระศิวะและพระวิษณุ ในประเทศไทยมีการนำใบมะตูมมาทัดหูขวาในพิธีพราหมณ์ต่างๆ น่าสนใจนะคะ


ในที่สุดเราก็ออกจากวัดดอนใครโดยไม่ได้เห็นในสิ่งที่คาด เรามุ่งหน้าต่อไปที่วัดป่าเรียนค่ะ ท่านเจ้าอาวาส อาจารย์สมปองได้มาพบและเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเชิงโบราณดีและประวัติศาสตร์มากมาย ที่นี่นอกจากตัววัดที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็มีพิพิธภัณฑ์วัดป่าเรียนที่เก็บสะสมของเก่าๆไว้มาก อาจารย์สมปองได้รวบรวมของเก่าไว้ จัดเก็บใส่ตู้กระจก ทำทางเดินชมในอาคารสวยงาม น่าชม แต่เนื่องจากของมีจำนวนมาก ท่านก็ยังไม่ได้จัดหมวดหมู่ตามสถานที่พบ และไม่ได้เขียนประวัติของสิ่งของแต่ละชิ้น จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ผู้เข้าชมก็จะไม่ได้ความรู้ในส่วนนี้ ส่วนตัวเคยมาที่นี่ 3-4 ครั้ง เดินชมพิพิธภัณฑ์แล้วก็ไม่แน่ใจว่ากำลังชมอะไรอยู่ มีความสำคัญเพียงใด วันนี้จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่ได้ความรู้กลับไปค่ะ ท่านก็บรรยายให้ฟังประวัติของต่างๆ น่าสนใจหลายเรื่องค่ะ เช่น 


1. มีภาพหนึ่งแขวนอยู่บนผนัง (ดูรูปประกอบในโพสต์) ภาพนี้เดิมเป็นของวัดขุนโขลง ซึ่งเป็นวัดที่มีแหล่งโบราณสถานอยู่ที่ท่าศาลา ใกล้ๆ ม.วลัยลักษณ์ เป็นวัดที่เพิ่งได้ไปทำบุญฉลองศาลาน้ำใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 นี่เองค่ะ ก็เลยตื่นเต้นที่เห็นความสัมพันธ์กัน เมื่อวัดขุนโขลงร้าง ภาพและเอกสารอื่นๆจากวัดขุนโขลงถูกนำไปเก็บที่วัดสโมสร (หรือ วัดด่าน อยู่ใกล้ ม.วลัยลักษณ์เช่นกัน วัดนี้มีหอไตรอายุร้อยปีอยู่กลางน้ำ เป็นของเก่าที่น่าชมอีกแห่งค่ะ) แต่เมื่อเจ้าอาวาสวัดสโมสรรุ่นนั้นได้ย้ายไปดูแลวัดอื่น เอกสารตำราหนังสือเหล่านี้ก็ถูกทิ้งไว้ จนในที่สุดเขาก็เผาทิ้งในช่วงปี พ.ศ. 2550 นี่เอง ช่วงนั้นพระอาจารย์สมปองไปอินเดียสามเดือน กลับมาไม่ทัน เขาบดหนังสือเอาไปทำจตุคามของวัดพระนครเสียหมดแล้วค่ะ 


2. อาจารย์เล่าถึงผังเมืองของนครศรีธรรมราชที่เคยเห็นจากแผนผังเมืองในหนังสือเก่า(ที่ถูกเผาไปทำจตุคาม)ว่า เมืองนครมีประตูเมือง 32 ประตู จำลองแบบมาจากเมืองปัตนะที่อินเดีย มีกำแพงเมือง 3 ชั้น อาจารย์ได้เคยลองตามไปดู เช่น ที่ซุ้มประตูเมืองท่าแพ ก็ยังคงมีอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง ฝั่งหนึ่งเป็นของเชวงปลาป่น และอีกฝั่งที่เป็นของสาธารณะมีชาวบ้านอยู่อาศัยกัน 


3. ชุดแจกันเบญจรงค์บางชุดก็เป็นชุดที่ลูกหลานของท่านขุน(ขุนอะไรก็ไม่ทราบเช่นกัน) ขายให้ ท่านก็นำมาเก็บที่นี่ ดูแล้วน่าจะเป็นของทำขึ้นช่วง ร.6 


4. ที่วัดเองก็ขุดเจอเศษถ้วยชามดินเผา มีคณฑี หม้อน้ำ ไม่แน่ใจว่าสมัยศรีวิชัยหรือที่ใด (อันนี้ก็คงต้องศึกษากันอีกทีค่ะ)


5. ของโบราณหลายชิ้น จะมีการส่งข้ามไปเก็บรักษาตามวัดต่างๆ เช่น วัดไหนร้างก็จะขนต่อไปวัดอื่น แล้วก็ขนต่อไปวัดต่อไปตามที่จะรักษากัน ขึ้นกับว่าแต่ละวัดจะรักษาของเหลือมาให้ลูกหลานได้เห็นกันซักแค่ไหน และรุ่นหลังๆจะเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์กันเพียงใด


6. ฯลฯ คือจริงๆท่านยังอธิบายอีกมากนะคะ บันทึกไม่ทัน ไว้ค่อยถอดเทปแล้วมาเพิ่มเติมทีหลังแล้วกันค่ะ ที่โดดเด่นมาอีกอย่างหนึ่งคือ แผ่นป้ายที่นำมาจากวัดนากุน เป็นแผ่นไม้ขนาดใหญ่ ยาว เขียนภาพการสร้างหอไตรวัดนากุน โดยมีการเขียนชื่อผู้สนับสนุน มีรายละเอียดชัดเจน เป็นชิ้นงานไม้ควรค่าที่จะอนุรักษ์ไว้อีกชิ้นค่ะ ต้องเริ่มตั้งแต่จะรักษาเนื้อไม้ยังไงก่อนเลยค่ะ


และอาจารย์สมปองนี่เองที่ท่านทักว่า พา “ฉีกผ้าร้าย” มาวัดท่านด้วย เราก็งงๆกับคำว่าฉีกผ้าร้าย คำนี้หมายถึงนกตะขาบทุ่งค่ะ ถามท่านว่าแล้วทำไมต้องฉีกผ้าร้าย ผ้าร้ายนี่หมายถึงผ้าขี้ริ้วนะคะ (ศัพท์เทคนิคของคนทางนี้ค่ะ อะไรเสียๆ ไม่ดี เขาใช้คำว่าร้าย สมัยก่อนก็งง มีเครื่องทีวีร้ายๆ นี่คือทีวีพัง ทีวีเสียค่ะ 555) นกตะขาบทุ่งเป็นนกที่มีเสียงร้องแหบห้าว ไม่เพราะ ดังเหมือนเสียงคนฉีกผ้าขี้ริ้ว เพราะฉะนั้น น้อง “สายฟ้า” ของเราก็กลายเป็น น้อง “ฉีกผ้าร้าย” ไปในทันที โถ น้อง ….. ชื่อต่างกันฟ้ากับดิน


พระอาจารย์นำชมวัดด้านใน ที่นี่มีกุฏอาจารย์ใหญ่เป็นกุฏิประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ งดงามมาก ความแปลกอีกอย่างคือรูปคน เทวดาที่แบกกำแพงกุฏิจะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างจากวัดต่างๆที่เคยเห็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นครุฑแบก ยักษ์แบก หรือแม้แต่บางแห่งที่มีอารมณ์ขันก็ทำเป็นรูปคนสมัยใหม่แบก แต่ที่นี่อาจารย์อธิบายว่า เป็นรูปคนที่มาวัด บางคนก็มาเอาหน้าเอาตา งานนั่นไม่เท่าไร ก็จะปั้นเป็นรูปคนที่แบกเพียงมือเดียวเป็นต้น บางรูปจะเห็นเป็นหน้าคนที่มีปากแหลมเหมือนนกก็คือคนที่มาช่วยเหลือ แต่ก็ต้องขอให้ได้ว่ากล่าวพูดจาว่าคนกันซักนิด สรุปว่าท่านกำลังแสดงนิสัยของคนประเภทต่างๆที่เข้าวัดให้เห็นว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร จะมีรูปปั้นเทวดาที่อยู่ด้านหน้ากุฏิเลย รูปนี้ท่านบอกว่า มีญาติโยมที่ศรัทธาจริงให้ความสนับสนุนการสร้างกุฏิเต็มที่ ทำงานให้ทุกอย่างประหนึ่งเทวดา ครั้งหน้าไปวัดต้องไปดูนะคะว่าเราจัดอยู่ประเภทไหน


ที่น่าสนใจมากๆอีกจุดคือ ตามใต้ต้นไม้ท่านก็มีการนำซากหินทรายที่ดูน่าจะเป็นของเก่ามาวางไว้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นชิ้นส่วนใดบ้าง และเมื่อเดินลงไปด้านล่างจะมีศาลาวางฐานโยนีหิน เก็บรักษาไว้ น่าชมทีเดียวค่ะ คือของเก่าแก่แบบนี้ คนธรรมดาเก็บรักษาไม่ได้ ต้องถวายวัดกันค่ะ ก็จะมีเรื่องราวประวัติของการได้มาอีก ต้องไปฟังท่านเล่าค่ะ ตื่นเต้นเชียว เนื่องจากช่วงหลังๆแบตเตอรี่มือถือหมดก็จะไม่ได้อัดคลิปหรือถ่ายรูปไว้ ข้อมูลก็จะไม่แม่น เอาไว้ไปถามท่านอีกทีดีกว่านะคะ 


วัดที่สามที่เราไปชมคือวัดมเหยงค์ค่ะ วัดนี้มีความสำคัญมากเพราะขุดพบแผ่นศิลาจารึก (ถ้าดูที่ป้ายเขาเขียนว่าเป็นอักษรปัลวะ แต่จากที่นักวิชาการอีกกลุ่มให้ความเห็น บอกว่านี่เป็นอักษรพราหมีใต้) จะต้องทำการสำรวจกันอีกมากค่ะ เพราะมีหลักฐานอะไรที่ค่อนข้างชัดเจน วัดนี้ตอนนี้มีพระอยู่รูปเดียว มีต้นไม้ใหญ่ๆอยู่หลายต้น เช่นต้นตะเคียน จำปาและต้นสะเดาช้างหรือต้นเทียม ต้นใหญ่จริงๆค่ะ คงต้องมาชมกันใหม่วันหลังเพราะวันนี้เริ่มค่ำแล้ว พวกเราก็เลยลาพระกลับ 


เป็นทริปเต็มวันที่อัดแน่นด้วยความรู้ใหม่ค่ะ ดีใจมากที่ได้มาร่วมทริป ขอบคุณคุณหมอมากๆค่ะ วันหลังมีทริปแบบนี้ขอเกาะขอบล้อมาอีกนะคะ


#ทริปสายฟ้าฉีกผ้าร้าย #ทริปโบราณคดี #ทริปประวัติศาสตร์ #บันทึกกันลืมว่าไปไหนมา #LovelyThasala #วัดป่าเรียน #วัดมเหยงค์

https://www.facebook.com/jongsuk.onsuwan/media_set?set=a.10222930309989983&type=3














พระธาตุ



หลายปีก่อน  ได้รับพระธาตุมาจากน้องเล็ก จงดี ผู้ไปอยู่เชียงใหม่  ส่งพระธาตุมาให้ หลังจากได้มาก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร  เพราะก็ไม่ใช่คนที่เก็บพระเครื่อง  ดูแลไม่เป็น  จนเดือนที่ผ่านมานี้  ได้ทราบข่าวว่า  น้องหญิง ลักษขณา จะสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก 30 นิ้ว ถวายวัดห้วยเต็ง ก็เลยมอบพระธาตุไปให้  ได้ยินว่าจะนำไปใส่พระเศียรพระพุทธูป  ก็เลยถามน้องเล็ก จงดีไปว่า  พระธาตุที่ให้มาเป็นมาอย่างไร ได้ความว่า
"เป็นพระโลหิตธาตุของพระทีปังกรพุทธเจ้า​ ที่พระองค์กล่าวกับสุเมธดาบสว่า ต่อไปฤษีตนนี้จักได้เป็น​พระพุทธเจ้า​ในอนาคตค่ะ... พี่จงกราบไหว้บูชา.. แล้วอธิฐานจิตกับท่านว่าจะขอแบ่งไปบรรจุไว้.... ส่วนหนึ่งขออัน​เชิญ​ให้ท่านเสด็จมาเพิ่มเพื่อการนี้แล้วเช้าค่อยแบ่งไปก็ได้ค่ะ.. ขอแล้วจะมีกลิ่นหอมหรือขนลุก​ น้ำตาไหล... คือ​ปิติชนิดหนึ่งค่ะ.. อนุโมทนานะค่ะ... สั่งซื้อผอบเป็นพลาสติกคุณภาพ​สูง​มาใส่ไว้บูชาน่าจะดีค่ะ.. ไม่แพงประมาณ​3-500 บาท"

ถามต่อไปว่า ได้มาจากไหนหรือคะ
" .... ไปที่ห้องพระที่นึง... หลวงปู่ปาน​วัดบางนมโคท่านมาแบ่งให้ค่ะ.. 🙏//ควรจะมีไว้บูชาที่บ้านด้วยก็ดีเป็นมงคล​ ไว้คุ้มครองรักษาป้องกันภัยพิบัติต่างๆได้ค่ะ.. ภับพิบัติ​มากค่ะช่วงนี้"
"ครู​บาอาจารย์​พระอริยะ​กล่าวถ​เรื่อง​ อานุภาพ​ในการปกป้องรักษาค่ะ.. และความปกติของฤดูกาล​ในสถานที่ที่มีพระธาตุค่ะ"

แล้วพระธาตุชุดนี้ก็ได้ไปบรรจุเศียรองค์พระที่วัดห้วยเต็งเรียบร้อยแล้ว ทางน้องหญิงและเมี่ยวได้นำไปถวายวัดเมื่อวันที่ ก็ได้ตามไปถวายด้วย เป็นที่เหมาะสมที่พระธาตุจะได้อยู่แล้วค่ะ




Wednesday, March 11, 2020

March 9, 2020 ...Super Worm Moon

คืนนี้คิดว่าจะไม่มีกิจกรรมอะไร แต่น้องหมีปู Piyawan Khong-in ส่งภาพ Super Worm Moon มาให้ดูก็เลยนึกได้ว่าวันนี้แรม 1 ค่ำ เดือน 4 พระจันทร์สวย ควรค่าที่จะออกไปดู ว่าแล้วก็คว้ากล้อง อ้าว ... ลืมชาร์ตแบต เหลือแบตนิดเดียว รีบๆไปถ่ายรูปเสียก่อนดีกว่า
ส่วนชื่อ Worm Moon พระจันทร์ไส้เดือน เป็นชื่อเล่นของดวงจันทร์ที่เต็มดวงในเดือนมีนาคมค่ะ คือดวงจันทร์เต็มดวงแต่ละเดือนนี่เขามีชื่อเล่นนะคะ ชนเผ่าในอเมริกาได้ตั้งขึ้นตามลักษณะของเดือนต่างๆ มีครบทั้ง 12 เดือนเลยค่ะ มีเดือนหมาป่า เดือนข้าวโพด เดือนสตรอว์เบอร์รี่ ฯลฯ อะไรแบบนั้นค่ะ (ดูในรูปที่โพสต์) สำหรับเดือนนี้เป็น Super Worm Moon ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม 2563 เวลา 1:48 P.M. EDT หรือ 0.48 น. ของวันที่ 10 มีนาคม บ้านเรา
พระจันทร์น้องหนอนของเรา ได้ชื่อแบบนี้เพราะเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ บรรดาไส้เดือนตัวหนอนต่างๆก็จะออกมาบนดินได้แล้วหลังจากต้องอยู่ใต้ดินด้วยความหนาวเหน็บมาตลอดฤดูหนาว เป็นที่มาของ Worm Moon
ส่วนที่ขึ้นถึงระดับ Super Worm Moon เพราะปี 2563 นี้เป็นปีที่มี Supermoon 3 ครั้งคือ 9 มีนาคม 7 เมษายน และ 7 พฤษภาคม ซึ่งคำว่า Supermoon หมายถึงดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ปกติที่เราเห็นกันนิดนึง ส่วนเหตุผลที่ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ขึ้นนั้นมากจากการที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุด์(ที่เรียกว่า "perigee") ในช่วงดวงจันทร์เต็มดวงพอดี โอ้ว...ชื่อเดือนนี้ช่างซับซ้อน
ยังมีเวลาอีกทั้งคืน ออกไปดูซุปเปอร์พระจันทร์ไส้เดือนกันค่ะ 
#Moon #Supermoon





ชื่อของวันเพ็ญเดือนต่างๆ ตั้งชื่อที่มีความหมายและบ่งบอกฤดูกาลนะคะ

ภาพและข้อมูลจาก https://www.almanac.com/content/full-moon-names




วันเพ็ญของปีนี้ค่ะ
ภาพและข้อมูลจาก https://imgur.com/gallery/bzVBC9z


Monday, February 10, 2020

#รำนกพิทิด... รู้จักนกพิทิดกันไหมคะ?

เมื่อวันเสาร์​ 9 ก.พ. 63 ที่งานให้ทานไฟ​วัดยางใหญ่​ มีการแสดงรำนกพิทิดจากคณะการแสดงจากกรุงชิงค่ะ​ น่าดูมาก​เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน​เลย​ และท่ารำก็น่าสนใจมาก​ ตอนฟังชื่อการแสดงทีแรกก็งงๆ​ว่าคือนกอะไร​ ไม่เคยได้ยินชื่อ​ ทั้งๆที่ตัวเองก็เป็นคนดูนกด้วยนะคะเนี่ย
แต่ตอนที่มาค้นเรื่องนกในเน็ตทีหลังพบว่านกพิทิดพิที​ คือชื่อเรียกนกทึดทือของทางใต้(จริงๆหลายอย่างเวลาเขาบอกว่าเป็นคำใต้นี่เรางงนะ​เพราะเราก็คนใต้​ แต่บ้านเราไม่ได้เรียกแบบนั้นซักหน่อย)​ นกทึดทือเป็นนกตระกูลนกเค้าแมว​ ตากลมโต​ มีขนเหนือคิ้วยาวแผ่ขึ้นไปเหมือนเป็นหูสองข้าง​ ตัวโตซักฟุตกว่าๆ​ เห็นพี่ที่ไปดูนกตอนกลางคืนไปเจออยู่เรื่อยๆในอุทยานแห่งชาติที่กรุงชิงค่ะ​Piyapong Chotipuntu
ฟังๆดูจากเนื้อเพลงที่รำพบว่า​ การรำนกพิทิดเป็นการรำโทน​ มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล​ป.พิบูลสงคราม(คงเป็นยุคการสร้างวัฒนธรรมไทย​ที่เคยอ่านในสี่แผ่นดินว่าให้คนใส่หมวก​ แก้ไขการเขียนคำไทย​ เปลี่ยนคำแทนชื่อตัว... ที่บ้านมีหนังสือที่​พิมพ์ด้วยคำสะกดแปลกๆในยุคนั้นเล่มนึง​ แต่อันนั้นไว้ไปเขียนอีกโพสต์ดีกว่าค่ะ)​การรำโทนนี้เป็นการจำลองการเกี้ยวพาราสีของนกตัวผู้ตัวเมีย​ เขาเรียกชื่อนกว่านก​ พิทิด​พิที​ ในการรำมีเครื่องดนตรีประกอบแค่สามชิ้นคือ​ ตะโพน ฉิ่ง​ และฉาบ​ การรำนี้มีหลายเพลง​ อย่างเช่น​ เพลงไหว้ครู​ เพลงป่าประ​ เพลงประวัติของการรำโทนนกพิทิด​ ฯลฯ​... ลองค้นในเน็ตดูก็เจอว่าตอนนี้ที่กรุงชิงให้ความสำคัญกับการรักษาวัฒนธรรมพื้นถิ่น​ มีการสอนรำในโรงเรียน​ และใช้แสดงในงานต่างๆเหมือนที่ได้เห็นที่วัดยางใหญ่นี้ค่ะ​ รู้สึกดีที่ได้ชมนะคะ
ลองถามน้องแม้วซึ่งเป็นคนท่าศาลาโดยกำเนิดว่ารู้จักเพลงนี้ไหม​ เขาบอกว่ารู้จัก​ เคยได้ยินตั้งแต่เด็กๆ​ แต่ตอนนี้ไม่ได้ยินมานานแล้ว​ แสดงว่าการแสดงนี้ก็กระจายลงจากแถบกรุงชิงลงมาถึงพื้นราบย่านท่าศาลาด้วย​ เพลงจะเป็นการร้องประมาณ.... "พิทิด​ พิทิด​ พิที ค่ำคืนนอนนี่แหละพี่ทีและพี่ทิด" .... "นกพิทิดเสียงดังครืดครอ" และนกพิทิดมีสองตัว​ ตัวผู้ตัวเมีย​ ตัวผู้จะรำแบบผู้ชายคือกระโดดไปมา​ ตัวเมียจะตีปีก​ ต้องบอกว่าเห็นการรำนี้แล้วชื่นชมจินตนาการมากๆค่ะ
ไปค้นข้อมูลมาอ่านเพิ่ม​ ลิงก์นี้เป็นงานวิจัยของทางม.ราชภัฏ​นคร ให้ข้อมูลดี มีประโยชน์มากค่ะ มีทั้งประวัติ​ และเนื้อเพลง​ น่าสนใจ​ https://issuu.com/korrakottonchamnian/docs/Krung ching
ส่วนนี่เป็นลิงก์วิดีโอของทางอาศรมวัฒนธรรม​ ม.​วลัยลักษณ์ เผยแพร่ไว้หลายปีแล้วเช่นกัน​ https://youtu.be/GqdB9uLBTxk
บันทึกไว้เพื่อจดจำเรื่องใกล้บ้านที่ควรสืบสานไว้