Friday, April 23, 2021

#เที่ยวทิพย์...กับ Gutenberg

 

14 เมษายน 2564


วันนี้ Google ขึ้นรูป Doodle เป็นวันที่ระลึกถึง Johannes Gensfleisch zur Laden zum Gutenberg ผู้ประดิษฐ์ตัวพิมพ์ที่ถอดได้ขึ้นในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 คือเขาไม่ใช่คนคิดวิธีการพิมพ์นะคะ เดิมวิธีการพิมพ์แบบบล็อกมีมานานแล้ว การพิมพ์หมึกลงบนกระดาษก็มีมาในจีนก่อนนั้นนับพันปี แต่ด้วยสิ่งประดิษฐ์ของเขาทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์เติบโตชนิดก้าวกระโดด ทำให้เกิด mass communication ช่วยให้ความรู้สามารถเข้าถึงประชาชนได้แทนที่จะอยู่ในมือของผู้มีอำนาจหรือคริสตจักร
มาร์ติน ลูเทอร์ หนึ่งในผู้ปฏิรูปศาสนาคริสต์เป็นนิกายโปรเตสแตนต์ก็ได้อาศัยว่ามีเทคโนโลยีการพิมพ์แบบนี้ทำให้เขาสามารถพิมพ์งานเผยแพร่แนวคิดของเขาได้อย่างกว้างขวาง (สองคนนี้เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันด้วยนะคะคือ University of Erfurt แต่ลูเทอร์เป็นรุ่นน้องห่างกันหลายสิบปี) งานของเขาเป็นส่วนหนึ่งของยุคเรอเนสซองส์ (เปรียบเทียบเวลาให้เห็นง่ายๆ เขาเกิดก่อน Leonardo Da Vinci ซักห้าสิบปีแค่นั้นเอง ทำไมยุคนั้นมีแต่อัจฉริยะนะ ไม่เข้าใจ)
ตานี้ไปเที่ยวกันดีกว่า ตาม Gutenberg ไปค่ะ เมืองที่เขาพัฒนาเครื่องพิมพ์คือที่เมือง Strasbourg ค่ะ ตอนนั้นเขาย้ายไปทำงานเป็นช่างทองในกองทหารอาสาสมัครของเมืองไปอยู่กับญาติฝ่ายแม่ เราก็ไปเที่ยวทิพย์ Strasbourg กันเถอะ ตอนนั้นเราเป็นทริป สาม-กระ-สัตว์ พี่กระต่าย พี่กระจง และก็น้องกระ-เพะ
Strasbourg เป็นเมืองอยู่ในแคว้นอัลซาส ประเทศฝรั่งเศส ถูกครองครองสลับกันไปมาระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมัน เดินในเมืองนี้รู้สึกเหมือนเดินในเยอรมันมากกว่าอยู่ฝรั่งเศส เมืองที่นี่สวยงามตามแบบยุโรปทั่วไป มีจตุรัสกลางเมือง มีโบสถ์ใหญ่ Notre Dame มีที่เที่ยวที่ทุกคนต้องมาถ่ายรูปคือ Petit France เป็นจุดท่องเที่ยวที่ตามชื่อคือ ฝรั่งเศสน้อยๆ เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่และทันสมัยนะคะ รถรางที่นี่ดูทันสมัยกว่าปารีส เมืองนี้มีสัญลักษณ์ที่จะเห็นตามร้านขายของที่ระลึกคือ นกกระสา แม่มด และเด็กผู้หญิงผูกโบว์โตๆ
ท่าน Gutenberg จะมีอนุสาวรีย์ของตนเองอยู่ที่ Place Gutenberg ใกล้ๆรูปปั้นจะมีม้าหมุนอยู่ชุดนึง ไม่รู้ว่าเกี่ยวอะไรเหมือนกัน ไปคารวะท่าน Gutenberg กันค่า
ส่วนอีกภาพที่โพสต์เป็นภาพหนังสือไบเบิลฉบับ Gutenberg อันนี้ไปถ่ายมาจากห้องสมุดรัฐสภาที่ Washington DC ค่ะ Fan club ตัวจริงต้องตามให้สุด 🙂




ยุคนี้เที่ยวทิพย์ต่อไปค่ะ













Thursday, January 28, 2021

#คลองแห่งพระนคร

 #คลองแห่งพระนคร




เมื่อวานซืนได้ถ่ายภาพเขตเมืองกรุงเทพมหานครจากร้าน Kheha มองเห็นแล้วก็สะดุดตาว่า เอ๊ะ! เขตพระนครของเรานี่จริงๆมีคลองล้อมอยู่ถึงสามชั้นเลยหรือ เพราะปกติเราจะมองไม่ค่อยเห็นคลอง แม้จะมองด้วย Google map ก็ต้องตั้งใจดูถึงจะเห็น แต่ในภาพแสดงออกเป็นคลองชัดเจนมากเป็นคลองสามคลองที่ขนานกันเป็นรูปโค้ง ไปค้นมาเพิ่มเติมเลยทำให้เรามองภาพคลองได้ง่ายขึ้นนะคะ
คลองชั้นที่ 1 คือ คลองคูเมืองเดิม เป็นคลองขุดรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีมาเป็นกรุงเทพมหานคร ได้ทรงโปรดให้ขุดคูเมืองขึ้นใหม่จากคลองคูเมืองเดิมที่เคยขุดไว้สมัยกรุงธนบุรี คลองนี้จะมีหลายชื่อตามสถานที่ที่คลองผ่าน ได้แก่ "คลองโรงไหมหลวง" "ปากคลองตลาด" "คลองหลอด" จนเมื่อถึงการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี รัฐบาลจึงมีให้เรียกชื่อคลองให้ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า "คลองคูเมืองเดิม"

คลองชั้นที่ 2 คือ คลองรอบกรุง เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นกลางที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร ด้วยฝั่งพระนครมีสภาพเป็นโค้งที่มีลำน้ำโอบอยู่ และมีคูเมืองเดิมตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีขุดเชื่อมสองฟากแม่น้ำ จึงทำให้เกิดเกาะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิมกับกำแพงเมืองกรุงธนบุรี เพื่อขยายกำแพงและคูพระนครใหม่ให้กว้างออกไป คูพระนครใหม่นี้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขนานไปกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจากริมแม่น้ำตอนบางลำพู คลองนี้ก็มีหลายชื่อตามสถานที่ที่คลองผ่านเช่นกัน ได้แก่ "คลองบางลำพู" "คลองสะพานหัน" "คลองวัดเชิงเลน" และ "คลองโอ่งอ่าง"จนถึงโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง"
คลองชั้นที่ 3 คือ คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองขุดรอบพระนครที่ขุดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากทรงเห็นว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ควรขยับขยายพระนครออกไป จึงขุดคลองพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง ตัดผ่านคลองมหานาคไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา ได้รับพระราชทานชื่อว่า "คลองผดุงกรุงเกษม" คลองนี้มีสะพานข้ามคลองที่มีชื่อคล้องจองกันด้วยนะคะ ได้แก่ สะพานเทเวศรนฤมิตร - สะพานวิศุกรรมนฤมาน - สะพานมัฆวานรังสรรค์ - สะพานเทวกรรมรังรักษ์ - และ สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ หรือ "สะพานขาว"
ส่วนตัวนี่เห็น คลองชั้นที่ 1 บ่อยๆ เวลาไปแถวๆสนามหลวง แต่คลองรอบกรุงชั้นที่ 2 นี่มองยากนิดนึงทั้งๆที่ผ่านบ่อยเหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่าคลองบางลำพูกับคลองโอ่งอ่างมันคือคลองเดียวกันนะคะ 🙂 ส่วนคลองชั้นที่ 3 นี่อเมซซิ่งมากที่สุดเพราะโรงเรียนที่เคยเรียนนี่อยู่ริมคลองผดุงฯเลยค่ะ แต่ไม่เคยมองภาพออกว่าคลองนี้มาจากเทเวศร์และไปจบที่สี่พระยา เชื่อมโยงเจ้าพระยาจากสองจุด จนเมื่อ 2-3 วันนี้ที่ได้ไปนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาและไปล่องเรือคลองผดุงกรุงเกษมถึงได้มองเห็นภาพรวม ต้องมองด้วย Google map ถึงจะเห็นชัดค่ะ
อีกอย่างที่เพิ่งนึกถึงคือผังเมืองกรุงเทพมีส่วนคล้ายผังเมือง Amsterdam ค่ะ ที่นั่นจะมองชัดหน่อยเพราะเห็นจากแผนที่ชัดๆเลยว่ามีคลองโอบเมืองเป็นชั้นๆราวกับใยแมงมุม ชอบเมืองแบบนั้นเพราะไปไหนๆก็เห็นแต่คลอง และเขาก็จัดการน้ำได้ดี น้ำคลองสะอาดน่าเดินเล่นริมคลองไปเสียทุกคลอง บ้านเราก็น้ำดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากๆ บางจุด เช่น คลองโอ่งอ่างก็ปรับโฉมหน้ามือเป็นหลังมือ คลองผดุงกรุงเกษมก็มีเรือล่องคลองที่ผ่านสถานที่สวยงามของบ้านเรา



ไปเที่ยวคลองเมืองกรุงกันบ้างก็ดีนะคะ