วันอาทิตย์ที่ผ่านมาช่วงบ่ายว่างๆ ฉันก็ขับรถเล่นไปเที่ยวปากพนัง กะว่าจะไปกินก๋วยเตี๋ยวเส้นปลาเจ้าอร่อยที่ร้านอภิชาติ เข้าไปถึงร้านพบว่าวันนี้ไม่ขาย กำลังหิวไม่รู้จะหาอะไรกินดีก็เลยกะการต่อว่าจะไปกินข้าวที่แหลมตะลุมพุก ฉันเคยมาเที่ยวที่นี่หลายครั้ง มาเที่ยวเล่น มาดูเรือลำใหญ่ที่มาเกยติดฝั่งที่วัดเมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดเพิ่งมาเมื่อปีที่แล้วเคยตื่นเต้นว่ามีทางขับรถไปได้ถึงปลายแหลม มาเที่ยวนี้คิดว่าจะไม่มีอะไรใหม่แต่ก็มีของแปลกตาเช่นร้านขายของที่ระลึกที่มีของมากขึ้น (แต่ก็มีร้านเดียว)มีรถเข็นไอสครีมเนสเลท์ มีร้านขายเสื้อยืด กางเกงเล ที่พิเศษคือมีการสกรีนเรื่องราวของแหลมตะลุมพุกที่เจอวาตภัยครั้งใหญ่วันที่ 25 ตุลาคม 2505 จนมีคนเสียชีวิตเป็นพัน บ้านเรือนพังทลาย ฉันว่าเป็นการสร้างแบรนด์ของแหลมตะลุมพุกได้ดี ทำให้คนที่มาเที่ยวได้ทราบประวัติของสถานที่มากขึ้น
เราไปกินข้าวที่ร้านอาหารซีฟู้ดร้านแรกถัดจากที่จอดรถ อาหารอร่อยพอประมาณ มีป้ามาเดินขายปลาหมึกแผ่นในถุง มีหอยนางรมขายด้วย ถาดละ 100 บาท มีเครื่องเคียงให้พร้อมถ้าซื้อแล้วจะกินที่นั่น สำหรับฉันผู้ไม่นิยมกินหอยนางรมไม่สนใจนักก็กินอาหารของร้านไปเรื่อยๆ แต่ก็เห็นว่าอาหารทะเลที่นั่นไม่ยักตัวโตและสดเท่าร้านอาหารในเมืองหรือร้านที่ท่าศาลาทั้งๆที่อยู่หน้าหาดขนาดนั้น แต่อาหารก็ไม่แพง กินอาหาร 2 คน เป็นข้าวผัด มียำไข่ปลากระบอกและต้มยำโป๊ะแตก ราคา 250 บาท กินข้าวเสร็จฉันเดินไปดูเปลือกหอยริมทะเล จำได้ว่าที่นี่เคยมีเปลือกหอยเชลล์มาก มีทั้งสีส้มและสีดำ(จนบัดนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไมมันสีดำ) ไม่เคยเห็นที่หาดอื่น วันนี้แหลมตะลุมพุกยังมีเปลือกหอยมาก ทั้งๆที่บริเวณขายของที่ระลึกก็ขายสินค้าจากเปลือกหอยด้วย ยังน่าดีใจ ทรายที่นี่ก็นุ่มละเอียดดีถึงแม้สีจะไม่ขาวจัดอย่างทางฝั่งหมู่เกาะในอันดามัน มีคนไปเล่นน้ำทะเลบ้าง เป็นหาดที่ยังไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องเบื่อกับคนแน่นๆ
ก่อนกลับบ้านแวะซื้อของที่ระลึก ฉันได้เสื้อยืดมาตัวหนึ่ง สกรีนเป็นรูปปลาตัวอ้วนๆน่ารัก ถามน้องคนขายว่าปลาอะไร น้องเขาบอกว่ามันคือปลาตะลุมพุก เดิมที่นี่มีปลาตะลุมพุกมากก็เลยได้ชื่อเป็นแหลมตะลุมพุก ฟังแล้วก็เหวอไปเพราะไม่เคยรู้จักปลาชนิดนี้ และเคยสงสัยมาตลอดว่าชื่อแหลมตะลุมพุกมีที่มายังไง เคยคิดถึงตะลุมพุกว่าเป็นเครื่องมือที่มีน้ำหนักมากๆเอามาใช้แบบค้อน วันนี้ได้ความรู้ใหม่อีกแล้ว
ก็เลยมาค้นดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เกี่ยวกับปลาตะลุมพุก ได้ข้อมูลจากเว็บ http://www.prc.ac.th/tree_an_teen/t_toli.htm ว่า
"ปลาตะลุมพุกวงศ์ CLUPEIDAE Tenualosa toli (Valenciennes, 1847)
ลักษณะ :
ปลาหลังเขียวชนิดที่อาศัยอยู่ในทะเล ลำตัวแบนด้านข้างมาก มีเกล็ดบนสันท้อง 28 –30 เกล็ด ริมฝีปากบนมีรอยเว้าเห็นได้ชัดเจน และมีซี่เหงือกเพียง 60-100 ซี่ ปลาตะลุมพุกนี้จะสังเกตได้โดยมีจุดสีดำจางๆ อยู่ด้านหลังของช่องเปิดเหงือกจุดเดียวเท่านั้น ขนาดลำตัวยาวถึง 50 เซนติเมตร แต่ปลาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่า ขนาดโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ปลาตัวผู้มีลำตัวยาว 35 เซนติเมตร และปลาตัวเมียมีลำตัวยาว 47 เซนติเมตร
อุปนิสัย:
เป็นปลาทะเลที่ต้องเข้ามาวางไข่ในน้ำจืด ปลาที่โตเต็มที่จะเข้ามาในแม่น้ำและทะเลสาบเพื่อวางไข่และลูกปลาจะอยู่ตามแหล่งน้ำชายฝั่ง
ที่อยู่อาศัย:
อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำทะเลในอ่าวไทยและน้ำจืดบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
เขตแพร่กระจาย :
ปลาชนิดนี้พบแพร่กระจายกว้างขวาง ตั้งแต่ชายฝั่งด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย จนถึงทะเลชวา และทะเลจีนใต้
สถานภาพ:
เมื่อราว 60 ปีมาแล้ว ปลาชนิดนี้จะเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำเจ้าพระยาในปลายเดือนพฤศจิกายนและว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปวางไข่ที่บริเวณอำเภอปากเกล็ดและเกาะใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ฤดูวางไข่อยู่ในราวเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ ระหว่างนี้จะมีการทำการประมงจับปลาชนิดนี้เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เรือทุกๆ ลำจะจับปลาได้เฉลี่ยลำละประมาณ 100 ตัว เนื้อปลาชนิดนี้นิยมกันมากว่ามีรสชาติอร่อย แหล่งวางไข่ที่รู้จักกันดีอีกแหล่งหนึ่ง คือทะเลสาบสงขลาซึ่งปลาตะลุมพุกจะเข้าไปรวมกลุ่มกันในเดือนกุมภาพันธ์
สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์:
: การจับปลาในช่วงที่ปลาวางไข่ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีและสภาพเสื่อมโทรมของแม่น้ำและทะเลสาบสงขลาในระยะหลังทำให้จำนวนปลาที่เข้ามาวางไข่ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันไม่พบว่าปลาตะลุมพุกเข้ามาวางไข่จำนวนมากๆ อีกเลยและปลาที่จับได้เป็นครั้งคราวก็มีจำนวนน้อยมาก
จากหนังสือ : พืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย "
เจอในหนังสืออีกเล่ม ชื่อเรื่องว่า "ตะลุมพุก(ชิกคัก)ปลาก้างเยอะแต่เนื้อเยี่ยม"
ที่น่าเกลียดกว่านั้นไปเจอในคอลัมน์แม่ช้อยนางรำ "กิน "ปลาตะลุมพุก" เมืองระนอง" ในManager online เขียนมาตั้งแต่ปี 2545 ว่ามีเมนูเด็ด ปลาตะลุมพุกหลามกระบอกไม้ไผ่ แนะนำว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ร้านอัมพวาตรงหาดส้มแป้น(ฉันเข้าใจว่าเป็นร้านที่บ่อน้ำร้อนมากกว่าเพราะติดเขตหาดส้มแป้นแต่เขาเรียกแถวนั้นว่าบ่อน้ำร้อนต่างหาก) แต่อายจริงๆเลยของอร่อยในบ้านตัวเองแท้ๆ ที่นี่เรียกว่าปลาฉิกคัก
และเจอในเว็บบอร์ด http://www.siamensis.org/webboard/Webanswer.asp?id=715 เขาคุยกันว่า "ปลาตะลุมพุก (Tenaulosa toli (Valenciennes, 1874))เป็นปลาในกลุ่มปลาหลังเขียว Herring ชนิดหนึ่งที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (โตเต็มที่มีความยาวกว่า ๒ ฟุต) ปลาชนิดนี้เป็นปลาทะเลแต่จะเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำตอนล่างที่ได้รับอิทธิพลจากทะเล ในปี ๒๔๖๗ มีรายงานการทำประมงปลาชนิดนี้ที่บางโพ กรุงเทพฯ และที่ปากเกร็ด นนทบุรี ปัจจุบันยังมีขายตามแผงขายปลาทะเลในตลาดสดใหญ่ที่ไม่ห่างทะเลมากนัก ส่วนมากเป็นปลาที่มาจากภาคใต้หรือไม่ก็จากพม่า ในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยหรืออาจจะไม่พบเลย และที่สำคัญชาวประมงแถบนี้ที่หาปลาเป็นอาชีพก็หายไปหมดแล้ว" อีกคนก็บอกว่า "ปลาตะลุมพุกยังมีอยู่ค่อนข้างมากในบริเวณจังหวัดพังงาและภูเก็ตเป็นปลาที่นียมกินกันมาก "
อืมม์......อ่านแล้วอยากกินปลาตะลุมปุ๊ก!!!!
อ้อ..เพิ่มอีกนิดนอกจากคำว่าตะลุมพุกแล้วยังมีคำที่คล้ายๆกันว่า "กระลุมพุก"ที่ใช้แทนกันแต่ฉันก็ไม่เคยได้ยินใครใช้พูด
หลังจากนั้นได้ลองถามคุณพ่อว่ารู้จักปลาตะลุมพุกไหม เคยกินรึเปล่า คุณพ่อตอบแบบเหยียดๆเล็กน้อยว่า ปลาแบบนี้คนสมัยก่อนเขาไม่กินเนื้อกันหรอก เพราะมันมีก้างเยอะ เขาเอามาต้มแล้วก็กินน้ำแกง เนื้อปลาไม่กิน จะกินเนื้อปลาก็ไปเลือกปลาดีๆอย่างอื่นมากิน อ้าวววว.... แล้วที่คนเขาเอามาโฆษณาว่าเนื้ออร่อย สรุปว่ายุคนี้มันมีของดีๆกินน้อยลง จนต้องไปเอาของที่คนสมัยก่อนเขาไม่ยอมเสียเวลากินมากินกันแล้วเหรอ...
No comments:
Post a Comment