Wednesday, August 23, 2006

การประเมินคุณภาพสถานศึกษาระดับอุดมศึกษารอบที่ 2


ความที่เป็นผู้ประเมินภายนอกของสมศ.อยู่ในปัจจุบัน ส่วนตัวก็มีความสนใจกับการประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นทุนอยู่แล้ว แต่สถานภาพเป็นผู้ประเมินถึงแม้จะปวดหัวอยู่บ้างก็ยังนับว่าทำงานง่ายเพราะเป็นการไปดูสภาพจริง ขอแต่ให้ละเอียด ยุติธรรมและใช้วิจารณญานการประเมินก็จะออกมาในแบบที่ทุกคนยอมรับผลการประเมินได้

วันนี้สถานภาพกลับกันเพราะมหาวิทยาลัยที่สังกัดอยู่กำลังจะถูกประเมิน อีกทั้งตัวเองก็อยู่ในคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักวิชา มีงานต้องเตรียมเยอะแยะจนรู้ซึ้งว่าเวลาที่ถูกประเมินมีสภาพอย่างไร

โดยหลักการประเมินทั่วไปไม่แตกต่างกันมากระหว่างการประเมินระดับการศึกษาพื้นฐานและอุดมศึกษา ต่างแต่เกณฑ์การประเมิน แต่สิ่งที่เห็นชัดถึงความแตกต่างคือการมีส่วนร่วมในการประเมิน ถ้าเป็นระดับโรงเรียนการประเมินลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรับทราบ และต้องเตรียมการ ในขณะที่ระดับอุดมศึกษา(เท่าที่เห็นการปฏิบัติงานจริงที่นี่)จะมีเฉพาะคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้เตรียม คนอื่นๆแทบจะไม่รู้ว่ามีการทำอะไรกันอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้ข้อมูลและขอความมีส่วนร่วมจากทุกคนมากกว่านี้

สมศ.จะมาประเมินมหาวิทยาลัยช่วงวันที่ 4-6 กันยายน 2549 แต่ละสำนักวิชาต้องเตรียมการให้เสร็จออกมาเป็นรูปเล่มเอกสารการประเมินในวันที่ 23 สิงหาคม 2549(ซึ่งก็คือวันนี้ แต่ยังเห็นว่าส่วนใหญ่ยังทำงานกันอยู่ คิดในแง่ดีว่าจะเสร็จภายในวันนี้ก่อนเที่ยงคืน)

ที่นี่มีการจัดเตรียมข้อมูลโดยจัดทำรายงานประจำปีเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของปีการศึกษา 2547 และปีการศึกษา 2548 ( เพราะได้รับการประเมินรอบแรกไปเมื่อปี 2546) แบ่งการประเมินออกเป็นองค์ประกอบต่างๆ 9 องค์ประกอบ คือ
องค์ประกอบที่ 1 ปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ วัตถุประสงค์ และแผนงาน
องค์ประกอบที่ 2 การบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอน
องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมพัฒนานักศึกษา
องค์ประกอบที่ 4 การวิจัยและงานสร้างสรรค์
องค์ประกอบที่ 5 การบริการวิชาการแก่สังคม
องค์ประกอบที่ 6 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
องค์ประกอบที่ 7 การบริหารจัดการ และพัฒนาองค์การ
องค์ประกอบที่ 8 ศักยภาพด้านการเงินและงบประมาณ
องค์ประกอบที่ 9 ระบบและกลไกประกันคุณภาพ
ในขณะที่ สมศ.จะมาประเมินด้วยมาตรฐาน 7 มาตรฐานคือ
1. มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต
2. มาตรฐานด้านงานวิจัยและสร้างสรรค์
3. มาตรฐานด้านการบริการวิชาการ
4. มาตรฐานด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
5. มาตรฐานด้านการพัฒนาสถาบันและบุคลากร
6. มาตรฐานด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน
7. มาตรฐานด้านการประกันคุณภาพ

ถ้าเปรียบเทียบกับการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับโรงเรียน มาตรฐานที่แตกต่างกันนี้เป็นลักษณะเดียวกับที่โรงเรียนต้องทำตามมาตรฐานสปฐ. 18 มาตรฐาน ในขณะที่สมศ.จะประเมินด้วยมาตรฐานจำนวน 14 มาตรฐาน ที่ส่วนใหญ่คล้ายกันแต่ก็มีบางส่วนที่ต่างกัน และพบว่าถ้าโรงเรียนที่เตรียมพร้อมจริงๆจะต้องเตรียมข้อมูลทั้ง 2 แบบ ซึ่งถ้าเตรียมการดีก็ไม่มีปัญหาเพราะตัวบ่งชี้มีส่วนคล้าย แต่ถ้าไม่เตรียมไว้ก็จะเจอปัญหากับตัวที่ไม่เหมือนว่าต้องมาควานหาหลักฐานกันในวันประเมิน

สำหรับที่นี่ก็ยังห่วงอยู่ว่าในเมื่อผู้เตรียมจัดเตรียมตามแบบมาตรฐานหนึ่งแต่มาถูกประเมินด้วยมาตรฐานอีกลักษณะหนึ่ง ถ้าไม่เตรียมข้อมูลไว้ก่อนก็จะยุ่งยากพอควร หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องเตรียมทำการประเมินมากมาย บางองค์ประกอบต้องใช้ข้อมูลลงรายละเอียดมาก เสียเวลาในการจัดหาโดยไม่ได้ใช้เพื่อการปหระเมินของสมศ. (แต่ก็เข้าใจเช่นกันว่าการประเมินนี้เป็นลักษณะการประกันคุณภาพภายในซึ่งต้องให้ สมศ.เห็นด้วยว่าเรามีการประกันคุณภาพอย่างไร แต่เราสามารถใช้มาตรฐานเดียวกับสมศ.ได้ จะลดข้อยุ่งยากลงได้มาก)

ต้องขออธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าการประเมินรอบที่ 2 มีความสำคัญเพราะเป็นการประเมินออกมาว่าได้รับการรับรองมาตรฐานหรือไม่ คือผลจะออกมาว่าได้หรือไม่ได้ เพราะฉะนั้นสถานศึกษาแต่ละแห่งต้องทำสุดความสามารถเพื่อให้ได้รับการรับรอง ลองคิดสภาพโรงเรียนหนึ่งที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ทั้งภาพพจน์ ความเชื่อถือ ขวัญและกำลังใจในการทำงาน (ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาที่มีการประเมินรอบสอง มีโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่ยอมรับผลการประเมินของผู้ประเมินภายนอก เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต)

ระดับอุดมศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกันคือต้องได้รับการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐาน แต่ความที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีจุดเน้นของพันธกิจที่ต่างกันจึงมีการแบ่งว่าเป็นกลุ่มสถาบันแบบไหนใน 4 กลุ่มนี้คือ

1. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย
2. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม
3. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม
4. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิต

ซึ่งมีข้อแตกต่างกันในการกำหนดค่าน้ำหนักเพื่อการประเมินในด้านต่างๆ 4 ด้าน ของที่นี่เลือกเป็นกลุ่มสถาบันแบบที่ 2 คือ กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม โดยให้ค่าคะแนน 4 ด้านเป็น ด้านคุณภาพบัณฑิต 35 คะแนน ด้านงานวิจัยและสร้างสรรค์ 25 คะแนน ด้านบริการวิชาการ 30 คะแนน และด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 10 คะแนน


รอดูผลกันวันที่ 6 กันยายน 2549 ก็แล้วกัน

No comments: