Tuesday, October 27, 2020

ทริปสำรวจแหล่งประวัติศาสตร์สิชล

ทริปสายฟ้า - ฉีกผ้าร้าย ตอนที่ 1 : สายฟ้าพาชมภาพเขียนสีในถ้ำลึกลับที่สิชล


สายฟ้าเป็นชื่อของลูกนกตัวหนึ่งค่ะ ตอนนี้นางเป็นนกสายโบราณคดีไปแล้ว  :)


เมื่อวานนี้ (23 พฤษภาคม 2563) มีทริปดีงามและแสนจะมีสาระค่ะ เป็นทริปเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีสำคัญของสิชลและท่าศาลาที่ไม่ค่อยมีคนได้มีโอกาสชมกัน ทริปแบบนี้ปกติคงไม่มีโอกาสไปศึกษา ต้องติดตามคุณหมอบัญชาไปค่ะ แอบต่อขบวนไปด้วยคน ไปกับหมอบัญชาจะมีแต่เรื่องดีๆ


ทริปนี้จริงๆเริ่มต้นมาจากการที่คุณหมอมีลูกนกตะขาบทุ่งตัวหนึ่ง ตกลงมาจากต้นไม้ ทางคุณหมอเลี้ยงไว้ได้ 2 สัปดาห์แล้ว และตั้งชื่อให้ชื่อเท่ๆว่า “สายฟ้า” ปกติก็นกตะขาบทุ่งเป็นนกขนาดกลาง สีฟ้าสดสวยโดยเฉพาะเวลาบิน เสียงจะแหบห้าวมาก ถึงจะเป็นนกที่พบได้บ่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่นกเลี้ยง เห็นรูปน้องในเฟซ ยืนเกาะไหล่คุณหมออยู่ น่ารักมากๆ แถมกินโน่นกินนี่ตามแบบคนได้ น้องจะเสียนกแล้วค่ะ  :)


เมื่อวานซืน (22 พฤษภาคม 2563) คุณหมอก็ปรารภผ่านเฟซบุ๊กว่าจะพาน้องกลับบ้าน แต่จะพาไปฝึกบินในทริป “#ตามพรลิงค์มหานคร ที่สิชลและท่าศาลา แถม #ถ้ำพระใหม่หมาด ที่ใคร ๆ ยังไม่เคยรู้” ในวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2563 นี้ก่อน เห็นโพสต์แล้วต้องไม่รอช้านะคะ รีบขอตามทริปเลยค่ะ ได้ประโยชน์หลายสถาน ทั้งได้เจอน้องสายฟ้าด้วย ได้ชมแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญมากๆด้วย


ทีมฝั่งวลัยลักษณ์ท่าศาลามี 3 คน คือ อ.ต่าย ปิยะพงค์ อ.แหม่ม สมรักษ์ อีกคนก็ อ.จงสุข นี่ละค่ะ ทริปเริ่มเก้าโมงเศษๆ ขับรถไปเจอสมาชิกกันที่ต้นเหรียง ผู้ดูแลสมาชิกจุดนี้คือ อาจารย์จำรัส รอทีมคุณหมอที่นำพระอาจารย์ โสพิทร์ แซ่ภู่ จากวัดพระนครมานำทีมด้วย และมีทีมวลัยลักษณ์ในเมืองคือน้องไก่ ปิยวัชน์ และครอบครัว คือ น้องแอน และน้องลูกหว้า จากนั้นก็ขับรถตามกันไปไปทางวัดถ้ำเทียนถวายค่ะ แต่ไม่ได้เข้าวัด จะเลี้ยวขวาไปตามถนนเข้าไปอีก 


จุดแรกคือบริเวณหุบเขาใกล้วัดเทียนถวาย บริเวณที่เราเข้าไปก็เป็นที่ของคนในพื้นที่นะคะ มีการปลูกปาล์มเป็นสวน เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อรวมพลกันครบทั้งทีมที่มาเยี่ยมชม รวมถึงเจ้าของพื้นที่ ก็เป็นคณะใหญ่ประมาณเกือบยี่สิบคน คุณหมอก็แนะนำทีมให้รู้จักกัน และเกริ่นที่มาของการศึกษานี้ว่า ทางวลัยลักษณ์จะทำประวัติเมืองนครโดยเฉพาะในเขตตอนเหนือตั้งแต่ท่าศาลาขึ้นไป ซึ่งคุณหมอก็รับที่จะหาคนช่วยทำให้ ก็มี สุรเชษฐ์ แก้วสกุล สถาปนิกผู้สนใจประวัติศาสตร์ที่คุณหมอเห็นฝีมือ อยากจะให้มาช่วยทำงานให้ จากนั้นพี่จำรัสอธิบายให้ฟังต่อว่า บริเวณเขาแถวนี้มีถ้ำอยู่หลายถ้ำ นอกจากถ้ำเทียนถวายก็มีถ้ำพระ มีชื่อเรียกต่างๆหลายถ้ำ ถ้าที่เราจะชมนี้พิเศษที่เป็นถ้ำอยู่ใน “ที่วัง” ซึ่งหมายถึงที่ที่ระดับเจ้าเมืองอยู่กัน มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ มีทางเข้าทางเดียว มีกำแพงธรรมชาติกั้นโดยรอบ จากทางเข้าเดินไปทางขวามือจะมีทางเดินขึ้นไปบนถ้ำ ภายในถ้ำมีภาพเขียนสี ซึ่งเป็นเป้าหมายของทีมงานที่มาเก็บข้อมูลในวันนี้ คุณเชียร(กระมังคะ ถ้าพิมพ์ชื่อผิดขออภัย) ก็เสริมต่อว่า คนในพื้นที่เองก็จะเจอเศษถ้วยชามเวลาที่ทำการปรับพื้นที่ บางชิ้นที่เจอก็มอบให้ทางกรมศิลป์ไปแล้ว คือพื้นที่นี้กรมศิลปากรได้รับทราบแล้ว แต่การดำเนินการอย่างไรยังไม่ทราบแน่ชัด ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลค่ะ สุรเชษฐ์ได้อธิบายความเห็นว่า ภาพของพระที่เห็นจะใช้สีแดงเขียนตัดเส้น มีการตัดสังฆาฏิค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งคล้ายกับภาพที่เจอที่ถ้ำนีโม ที่ถ้ำพรรณาราที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ( อ้อ ฟังชื่อผิดค่ะ จริงๆคือถ้ำอีโม่ หรือถ้ำพระโบ ดูภาพเพิ่มเติมที่ลิงก์ของสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราชที่นี่ค่ะ https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/375492596383661 ) ซึ่งเป็นงานสมัยอยุธยาตอนต้น ที่นี่ก็คงต้องสำรวจกันอีก ถ้าเป็นจริงในยุคสมัยนั้นก็จะเป็นสิ่งใหม่ในการศึกษา เพราะปกติเราเราไม่ค่อยรู้เรื่องยุคนี้ จะรู้เรื่องเก่ายุคตามพรลิงค์หรือไม่ก็ปลายอยุธยาไปเลย ที่นี่จึงน่าสนใจมาก


เราเดินผ่านสวน แล้วปีนขึ้นเขาไปค่ะ ทีแรกคิดว่าถ้ำจะอยู่บนเขาตรงนั้น ปรากฏว่าไม่ใช่ ตรงนั้นคือปากทางเข้าหุบเขา เพราะเราจะต้องเดินลงมาอีก ลงไปแล้วก็ประหลาดใจมากเพราะจะเป็นพื้นที่ราบ ปลูกพืชสวนไว้ พื้นที่ตรงนี้คือหุบเขาจริงๆเลยค่ะ มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน เข้าได้ทางเดียว ไม่เคยเข้ามาในพื้นที่ลักษณะแบบนี้เลย ที่ใกล้เคียงคืออย่างในถ้ำมรกตที่ตรัง ที่เข้าไปแล้วมีเขาล้อมรอบ เขาที่นี่ดูไม่สูงมากขนาดนั้นเพราะพื้นที่ราบนี้ค่อนข้างกว้าง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ค่ะ จากปากทางเข้า เดินลงไป แล้วจะมีทางเดินขึ้นเขา จุดนี้จะเดินไปที่ปากถ้ำ ก่อนเข้าถ้ำเราก็มีการจุดธูปเทียนไหว้ขอเข้าไปในถ้ำ และมีพระอาจารย์ โสพิทร์ แซ่ภู่ เดินนำขบวนเข้าไป ถ้ำนี้ขนาดค่อนข้างเล็ก ไม่ได้เป็นโถงกว้างๆเหมือนถ้ำใหญ่อื่นๆ แต่ก็กว้างพอที่คนจะลงไปทีละสิบกว่าคนนะคะ ปากถ้ำจะแคบ ต้องเดินเรียงเดี่ยวลงไป ทางลาดลง และกว้างขึ้น แต่ขนาดถ้ำกว้างแค่ประมาณ 2 เมตร และบนผนังจะมีการวาดภาพพระอยู่เห็นได้ชัดเจนเป็นเส้นสีแดงๆ เห็นเป็นพระพุทธรูป เขียนเรียงรายกัน บางจุดก็ใกล้กันสามสี่ภาพ บางจุดก็ห่างออกไป ถ้ำนี้อากาศไม่ทึบ จะเห็นค้างคาวบินไปมาจำนวนหนึ่ง บนพื้นถ้ำก็จะมีเปลือกหอยจำนวนหนึ่ง คุณหมอบอกว่าเป็น land snail หน้าตาคล้ายๆหอยโข่งค่ะ


นอกจากภาพเขียนที่เห็นแล้ว ก็มีภาพเขียนด้วยสีดำๆเป็นภาพคน ซึ่งน่าจะเป็นคนรุ่นหลังที่เข้ามาในถ้ำแล้วขีดเขียน ซึ่งก็น่าเสียดาย :( ในถ้ำนี้ถึงจะไม่ใหญ่แต่ก็มีบริเวณที่เป็นหินแวววาวแบบกากเพชร มีหลืบร่องต่างๆที่เมื่อกวาดแสงไปไปก็จะเห็นเป็นภาพต่างๆอย่างเช่น ภาพพระพุทธรูป เป็นต้น 


ช่วงที่เข้าไปในถ้ำ พระอาจารย์ก็ได้นำสวดมนต์พร้อมกัน จากนั้นก็ตั้งวงสนทนาว่า จากภาพที่เห็น ประมาณอายุที่อยุธยาตอนต้น ช่วงที่เขียนภาพก็ค่อนข้างมีฝีมือ มีพระพุทธเจ้าประมาณ 17 พระองค์ ซึ่งก็อาจจะศึกษาดูว่าน่าจะมีถึง 28 พระองค์ตามคัมภีร์พุทธวงศ์หรือไม่ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่มีคุณค่ามากอีกแห่งหนึ่งของเมืองนคร คุยกันเรื่องจะทำอย่างไรกันต่อไป ต้องตอบคำถามให้ชัดเจนว่างานในถ้ำนี้เป็นงานยุคสมัยไหน เป็นอะไร และเป็นอย่างไร ในการสนทนา อ.จำรัสได้พูดถึงเมืองอลอง (หรืออะไรซักอย่างคล้ายๆชื่อนี้  :) ) นอกจากนั้นก็มีการให้ข้อมูลว่าพบเศษไหดินเผา แต่การจะเข้าชมต้องนอนเข้าไปดู ซึ่งค่อนข้างลำบาก พวกเราก็ออกจากถ้ำกันมาและให้ทีมงานหลักเก็บภาพในถ้ำให้ครบถ้วน และได้เวลาที่พระอาจารย์ต้องฉันเพลก่อนจะเลยเวลา


เมื่ออกมาจากถ้ำ เทียนยังไม่หมดเล่มดี คุณหมอก็โชว์สำเนาหนังสือภาษาเยอรมันเล่มหนึ่งที่ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์โอภาส ตันติฐากูร หนังสือชื่อ มาตาฮารี ผู้แต่งคือ นาย ฮันส์ มอร์เกนธาลเลอร์ ชาวสวิส ผู้เคยมาทำงานกับบริษัทเหมืองแร่ และได้พักอยู่บริเวณสิชล จากบันทึกของเขาก็จะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราชหลายเรื่อง ควรค่าที่จะอ่านและศึกษากันต่อไปค่ะ (อันนี้ก็ขอยกยอดไว้เป็นโพสต์อื่นนะคะ ท่าจะยาว)


ลงมาถึงพื้นราบ ประเคนอาหารให้พระอาจารย์ คุณหมอก็เล่าเรื่องากหนังสือให้ฟัง จากนั้นก็เดินชมพื้นที่ เพิ่งทราบว่าพลายจำเริญ ผู้มีอนุสาวรีย์อยู่ที่จุดชมวิวถนนเส้นสิชล - ขนอม ก็เคยถูกนำมาซ่อนอยู่บริเวณนี้เพื่อไม่ให้ถูกนำขึ้นไปกรุงเทพ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์จริงๆเลยค่ะ และพื้นที่นี้มีต้นทุเรียนป่าต้นใหญ่ อายุร้อยปี ตอนนี้กำลังจะออกดอก รออีกไม่กี่เดือนค่อยกลับมากินลูกกันนะคะ เปิดขายให้ใครๆได้กินกันที่าจะดีค่ะ ทุเรียนจากแหล่งประวัติศาสตร์ พิเศษมากๆ ที่อื่นไม่มี 


หลังจากนั้นก็ออกจากที่นี่ค่ะ ทีมเราขับรถออกไปรอที่ร้านอาหาร วันนี้ทางทีมจัดอาหารที่ร้านครัวบ้านก๋งให้ทาน อร่อยมากๆ หมดช่วงเช้าไปอย่างมีคุณค่า


น้องสายฟ้าก็ได้กลายเป็นนกที่สนใจโบราณคดีไปโดยปริยาย เพราะได้ฟังเลคเชอร์มากมาย ได้เข้าไปนั่งตาแป๋วอยู่ในถ้ำ ได้ชมภาพเขียนสี ได้สวดมนต์กับเขา นี่ก็เพราะน้องสายฟ้าถึงได้ตามทริปคุณหมอมา 555


จบโพสต์นี้ตรงนี้ดีกว่า เพราะช่วงบ่ายยังมีการไปชมวัดที่น่าสนใจอีกถึง 3 วัด ได้รับฟังเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

#ทริปสายฟ้าฉีกผ้าร้าย #ทริปโบราณคดี #ทริปประวัติศาสตร์ #บันทึกกันลืมว่าไปไหนมา

#LovelySichol #LovelyThasala #ที่วัง 


-------------------------------------------------------------------------------------

ทริปสายฟ้า - ฉีกผ้าร้าย ตอนที่ 2 : สายฟ้าพาเข้าวัด


ต่อเนื่องจากทริปเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีสำคัญของสิชลและท่าศาลาช่วงเช้า หลังจากที่เรากินอาหารเที่ยงเสร็จ ก็เริ่มทริปบ่ายค่ะ


จุดแรกที่เราไปคือวัดดอนใคร อยู่ที่ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา เป็นวัดที่เราคาดหวังจะไปชมศิวลึงค์ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดี เมื่อไปถึงพบว่าเป็นวัดใหญ่ กว้างขวาง เป็นวัดที่มีทรายขาวปูเต็มวัด โดยมีต้นไม้ใหญ่อยู่เต็ม มีเจดีย์ฐานใหญ่ที่ดูเป็นของใหม่ มีบันไดนาคที่มีสีแปลกตามาก คือมีคู่หนึ่งเป็นนาคสีน้ำเงิน คณะเราพยายามไปหาหลักฐานที่เป็นหินศิวลึงค์แต่ก็หาไม่พบ มีหินก้อนหนึ่งที่ดูจะคล้ายมากที่สุดแต่ก็ไม่เป็นทรงศิวลึงค์อย่างที่ได้ยินมา ถามพระสงฆ์ที่อยู่ที่วัด ท่านก็เพิ่งมาอยู่กันไม่นาน ไม่ทราบรายละเอียดของโบราณของวัด และก็ไม่เห็นหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ และก็บอกว่าเคยมีคนมาถามหาแบบนี้เหมือนกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากนะคะ 


ในเว็บไซต์แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ ของ สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม http://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/4280 ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “หลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้แก่ 1) ศิวลึงค์ 2 องค์ ทำด้วยหินทราย เป็นประเภทประเพณีนิยม มีลักษณะถ่ายทอดจากรูปทรงเลขาคณิต ส่วนยอดเป็นรูปโค้ง ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่โบราณสถานบ้านโคกตึก ปัจจุบันวัดสร้างที่ประดิษฐานไว้ในที่มิดชิดและปลอดภัย ส่วนอีกองค์เก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส 2) โยนิโทรณะ (ฐานศิวลึงค์) 2 องค์ ทำด้วยหินปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และทำด้วยหินทรายปัจจุบันชาวบ้านได้ทำฐานขึ้นมาเพื่อรองรับไม่ให้ตั้งอยู่บนพื้นดิน 3) ธรณีประตู ทำด้วยหินปูนมีสภาพชำรุด ปัจจุบันกำลังจมดินอยู่ใกล้พระอุโบสถหลังเก่าของวัด 4) หินบดยา สร้างด้วยหินทรายใช้สำหรับบดยา” แต่ที่เราไปหา ไม่พบสิ่งใดๆที่วัดเลย เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจเพราะที่วัดน่าจะเป็นที่เก็บสิ่งของไว้ได้ดี แต่ก็เห็นกันว่าสิ่งที่ควรอนุรักษ์บางทีก็ต้องมีวิธีการอื่นในการจะส่งมอบประวัติศาสตร์ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป


สิ่งใหม่ที่เพิ่งเคยเห็นที่นี่คือต้นมะตูมค่ะ เนื่องจากไม่เคยเห็นต้นหรือใบมาก่อน เคยเห็นแต่มะตูมเชื่อม กับมะตูมแห้งที่เขาเอามาชงดื่ม พระที่วัดนำชมต้นมะตูมของที่นี่ มี 2 ต้น ต้นใหญ่และต้นเล็ก เป็นชนิดที่เอาผลมาตากแห้งและชงดื่ม ไม่ใช่มะตูมหวานที่เอาไปเชื่อม ความน่าสนใจของมะตูมคือ ใบมะตูมจะมีลักษณะเป็นใบเรียงกันสามใบลักษณะเหมือนตรีศูล มีความเชื่อบ้างก็ว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์พระศิวะ บ้างก็ถือว่าเป็นตรีมูรติคือแทนพระพรหม พระศิวะและพระวิษณุ ในประเทศไทยมีการนำใบมะตูมมาทัดหูขวาในพิธีพราหมณ์ต่างๆ น่าสนใจนะคะ


ในที่สุดเราก็ออกจากวัดดอนใครโดยไม่ได้เห็นในสิ่งที่คาด เรามุ่งหน้าต่อไปที่วัดป่าเรียนค่ะ ท่านเจ้าอาวาส อาจารย์สมปองได้มาพบและเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเชิงโบราณดีและประวัติศาสตร์มากมาย ที่นี่นอกจากตัววัดที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็มีพิพิธภัณฑ์วัดป่าเรียนที่เก็บสะสมของเก่าๆไว้มาก อาจารย์สมปองได้รวบรวมของเก่าไว้ จัดเก็บใส่ตู้กระจก ทำทางเดินชมในอาคารสวยงาม น่าชม แต่เนื่องจากของมีจำนวนมาก ท่านก็ยังไม่ได้จัดหมวดหมู่ตามสถานที่พบ และไม่ได้เขียนประวัติของสิ่งของแต่ละชิ้น จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ผู้เข้าชมก็จะไม่ได้ความรู้ในส่วนนี้ ส่วนตัวเคยมาที่นี่ 3-4 ครั้ง เดินชมพิพิธภัณฑ์แล้วก็ไม่แน่ใจว่ากำลังชมอะไรอยู่ มีความสำคัญเพียงใด วันนี้จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่ได้ความรู้กลับไปค่ะ ท่านก็บรรยายให้ฟังประวัติของต่างๆ น่าสนใจหลายเรื่องค่ะ เช่น 


1. มีภาพหนึ่งแขวนอยู่บนผนัง (ดูรูปประกอบในโพสต์) ภาพนี้เดิมเป็นของวัดขุนโขลง ซึ่งเป็นวัดที่มีแหล่งโบราณสถานอยู่ที่ท่าศาลา ใกล้ๆ ม.วลัยลักษณ์ เป็นวัดที่เพิ่งได้ไปทำบุญฉลองศาลาน้ำใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 นี่เองค่ะ ก็เลยตื่นเต้นที่เห็นความสัมพันธ์กัน เมื่อวัดขุนโขลงร้าง ภาพและเอกสารอื่นๆจากวัดขุนโขลงถูกนำไปเก็บที่วัดสโมสร (หรือ วัดด่าน อยู่ใกล้ ม.วลัยลักษณ์เช่นกัน วัดนี้มีหอไตรอายุร้อยปีอยู่กลางน้ำ เป็นของเก่าที่น่าชมอีกแห่งค่ะ) แต่เมื่อเจ้าอาวาสวัดสโมสรรุ่นนั้นได้ย้ายไปดูแลวัดอื่น เอกสารตำราหนังสือเหล่านี้ก็ถูกทิ้งไว้ จนในที่สุดเขาก็เผาทิ้งในช่วงปี พ.ศ. 2550 นี่เอง ช่วงนั้นพระอาจารย์สมปองไปอินเดียสามเดือน กลับมาไม่ทัน เขาบดหนังสือเอาไปทำจตุคามของวัดพระนครเสียหมดแล้วค่ะ 


2. อาจารย์เล่าถึงผังเมืองของนครศรีธรรมราชที่เคยเห็นจากแผนผังเมืองในหนังสือเก่า(ที่ถูกเผาไปทำจตุคาม)ว่า เมืองนครมีประตูเมือง 32 ประตู จำลองแบบมาจากเมืองปัตนะที่อินเดีย มีกำแพงเมือง 3 ชั้น อาจารย์ได้เคยลองตามไปดู เช่น ที่ซุ้มประตูเมืองท่าแพ ก็ยังคงมีอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง ฝั่งหนึ่งเป็นของเชวงปลาป่น และอีกฝั่งที่เป็นของสาธารณะมีชาวบ้านอยู่อาศัยกัน 


3. ชุดแจกันเบญจรงค์บางชุดก็เป็นชุดที่ลูกหลานของท่านขุน(ขุนอะไรก็ไม่ทราบเช่นกัน) ขายให้ ท่านก็นำมาเก็บที่นี่ ดูแล้วน่าจะเป็นของทำขึ้นช่วง ร.6 


4. ที่วัดเองก็ขุดเจอเศษถ้วยชามดินเผา มีคณฑี หม้อน้ำ ไม่แน่ใจว่าสมัยศรีวิชัยหรือที่ใด (อันนี้ก็คงต้องศึกษากันอีกทีค่ะ)


5. ของโบราณหลายชิ้น จะมีการส่งข้ามไปเก็บรักษาตามวัดต่างๆ เช่น วัดไหนร้างก็จะขนต่อไปวัดอื่น แล้วก็ขนต่อไปวัดต่อไปตามที่จะรักษากัน ขึ้นกับว่าแต่ละวัดจะรักษาของเหลือมาให้ลูกหลานได้เห็นกันซักแค่ไหน และรุ่นหลังๆจะเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์กันเพียงใด


6. ฯลฯ คือจริงๆท่านยังอธิบายอีกมากนะคะ บันทึกไม่ทัน ไว้ค่อยถอดเทปแล้วมาเพิ่มเติมทีหลังแล้วกันค่ะ ที่โดดเด่นมาอีกอย่างหนึ่งคือ แผ่นป้ายที่นำมาจากวัดนากุน เป็นแผ่นไม้ขนาดใหญ่ ยาว เขียนภาพการสร้างหอไตรวัดนากุน โดยมีการเขียนชื่อผู้สนับสนุน มีรายละเอียดชัดเจน เป็นชิ้นงานไม้ควรค่าที่จะอนุรักษ์ไว้อีกชิ้นค่ะ ต้องเริ่มตั้งแต่จะรักษาเนื้อไม้ยังไงก่อนเลยค่ะ


และอาจารย์สมปองนี่เองที่ท่านทักว่า พา “ฉีกผ้าร้าย” มาวัดท่านด้วย เราก็งงๆกับคำว่าฉีกผ้าร้าย คำนี้หมายถึงนกตะขาบทุ่งค่ะ ถามท่านว่าแล้วทำไมต้องฉีกผ้าร้าย ผ้าร้ายนี่หมายถึงผ้าขี้ริ้วนะคะ (ศัพท์เทคนิคของคนทางนี้ค่ะ อะไรเสียๆ ไม่ดี เขาใช้คำว่าร้าย สมัยก่อนก็งง มีเครื่องทีวีร้ายๆ นี่คือทีวีพัง ทีวีเสียค่ะ 555) นกตะขาบทุ่งเป็นนกที่มีเสียงร้องแหบห้าว ไม่เพราะ ดังเหมือนเสียงคนฉีกผ้าขี้ริ้ว เพราะฉะนั้น น้อง “สายฟ้า” ของเราก็กลายเป็น น้อง “ฉีกผ้าร้าย” ไปในทันที โถ น้อง ….. ชื่อต่างกันฟ้ากับดิน


พระอาจารย์นำชมวัดด้านใน ที่นี่มีกุฏอาจารย์ใหญ่เป็นกุฏิประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ งดงามมาก ความแปลกอีกอย่างคือรูปคน เทวดาที่แบกกำแพงกุฏิจะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างจากวัดต่างๆที่เคยเห็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นครุฑแบก ยักษ์แบก หรือแม้แต่บางแห่งที่มีอารมณ์ขันก็ทำเป็นรูปคนสมัยใหม่แบก แต่ที่นี่อาจารย์อธิบายว่า เป็นรูปคนที่มาวัด บางคนก็มาเอาหน้าเอาตา งานนั่นไม่เท่าไร ก็จะปั้นเป็นรูปคนที่แบกเพียงมือเดียวเป็นต้น บางรูปจะเห็นเป็นหน้าคนที่มีปากแหลมเหมือนนกก็คือคนที่มาช่วยเหลือ แต่ก็ต้องขอให้ได้ว่ากล่าวพูดจาว่าคนกันซักนิด สรุปว่าท่านกำลังแสดงนิสัยของคนประเภทต่างๆที่เข้าวัดให้เห็นว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร จะมีรูปปั้นเทวดาที่อยู่ด้านหน้ากุฏิเลย รูปนี้ท่านบอกว่า มีญาติโยมที่ศรัทธาจริงให้ความสนับสนุนการสร้างกุฏิเต็มที่ ทำงานให้ทุกอย่างประหนึ่งเทวดา ครั้งหน้าไปวัดต้องไปดูนะคะว่าเราจัดอยู่ประเภทไหน


ที่น่าสนใจมากๆอีกจุดคือ ตามใต้ต้นไม้ท่านก็มีการนำซากหินทรายที่ดูน่าจะเป็นของเก่ามาวางไว้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นชิ้นส่วนใดบ้าง และเมื่อเดินลงไปด้านล่างจะมีศาลาวางฐานโยนีหิน เก็บรักษาไว้ น่าชมทีเดียวค่ะ คือของเก่าแก่แบบนี้ คนธรรมดาเก็บรักษาไม่ได้ ต้องถวายวัดกันค่ะ ก็จะมีเรื่องราวประวัติของการได้มาอีก ต้องไปฟังท่านเล่าค่ะ ตื่นเต้นเชียว เนื่องจากช่วงหลังๆแบตเตอรี่มือถือหมดก็จะไม่ได้อัดคลิปหรือถ่ายรูปไว้ ข้อมูลก็จะไม่แม่น เอาไว้ไปถามท่านอีกทีดีกว่านะคะ 


วัดที่สามที่เราไปชมคือวัดมเหยงค์ค่ะ วัดนี้มีความสำคัญมากเพราะขุดพบแผ่นศิลาจารึก (ถ้าดูที่ป้ายเขาเขียนว่าเป็นอักษรปัลวะ แต่จากที่นักวิชาการอีกกลุ่มให้ความเห็น บอกว่านี่เป็นอักษรพราหมีใต้) จะต้องทำการสำรวจกันอีกมากค่ะ เพราะมีหลักฐานอะไรที่ค่อนข้างชัดเจน วัดนี้ตอนนี้มีพระอยู่รูปเดียว มีต้นไม้ใหญ่ๆอยู่หลายต้น เช่นต้นตะเคียน จำปาและต้นสะเดาช้างหรือต้นเทียม ต้นใหญ่จริงๆค่ะ คงต้องมาชมกันใหม่วันหลังเพราะวันนี้เริ่มค่ำแล้ว พวกเราก็เลยลาพระกลับ 


เป็นทริปเต็มวันที่อัดแน่นด้วยความรู้ใหม่ค่ะ ดีใจมากที่ได้มาร่วมทริป ขอบคุณคุณหมอมากๆค่ะ วันหลังมีทริปแบบนี้ขอเกาะขอบล้อมาอีกนะคะ


#ทริปสายฟ้าฉีกผ้าร้าย #ทริปโบราณคดี #ทริปประวัติศาสตร์ #บันทึกกันลืมว่าไปไหนมา #LovelyThasala #วัดป่าเรียน #วัดมเหยงค์

https://www.facebook.com/jongsuk.onsuwan/media_set?set=a.10222930309989983&type=3














No comments: