Thursday, April 29, 2010

ภาพรวมการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ มวล

ได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนที่แล้วสำหรับลงในจุลสาร PBL ลืมทุกที วันนี่ฤกษ์งามยามดี และถูกทวงแล้ว ...


PBL ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)ได้หยั่งรากมาลึกพอสมควรตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่มีการดำเนินการของคณาจารย์ผู้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนการสอนลักษณะนี้ หลายสำนักวิชาได้นำ PBL เข้าไปใช้ในการเรียนการสอน มีทั้งเต็มรูปแบบ และใช้เพียงบางส่วนในรายวิชา ความสำเร็จในการดำเนินการจะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติรายวิชา ลักษณะการบูรณาการรายวิชา และธรรมชาติของผู้เรียน

ผู้สอนแต่ละท่านมีเหตุผลในการนำกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL มาใช้ในรายวิชาที่แตกต่างกัน บางท่านเห็นถึงสภาพการพบปัญหาในชีวิตจริงที่ไม่มีการแยกสาขาความรู้ แต่เราต้องใช้ความรู้รอบด้านที่มีนำมาประมวลเพื่อการแก้ปัญหานั้นๆ เราจึงควรสอนในลักษณะที่ให้เห็นปัญหาแล้วแก้ไข บางท่านก็เห็นความจำเป็นในการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น บางท่านเห็นเป็นวิธีการสอนที่ได้ผลเพราะนักศึกษาจะเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งความรู้ที่ได้จะฝังลึกและมีความเข้าใจมากกว่าการฟังการบรรยาย

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ใน มวล.มีหลากหลายขึ้นกับแต่ละสำนักวิชาว่ามีการใช้ PBL มากน้อยเพียงใด สำนักวิชาที่ใช้ PBL อย่างโดดเด่น เช่นสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ แต่ทุกสำนักวิชามีโอกาสให้นักศึกษาใช้กระบวนการของ PBL ได้หากให้นักศึกษาลงเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เรียนแบบ PBL ในที่นี้ขอกล่าวถึงรายวิชากลุ่มศึกษาทั่วไปสองรายวิชาคือ รายวิชาภาษาอังกฤษ 2 และมนุษย์กับสังคม ซึ่งได้มีโอกาสได้ร่วมเป็น Facilitator สองรายวิชานี้เป็นวิชาที่ใช้ PBL เต็มรูปแบบตลอดภาคการศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนกลุ่มย่อยสัปดาห์ละ 2 คาบ โดยใช้ 7 ขั้นตอนของกระบวนการ PBL คาบแรกเป็นการเรียนรู้ขั้นตอนที่ 1-5 จะได้โจทย์ว่านักศึกษาจะเรียนรู้เรื่องใด คาบที่สองเป็นการนำเสนอความรู้ที่ได้ไปศึกษามา พบว่าด้วยธรรมชาติของวิชาและธรรมชาติของผู้เรียนมีผล เช่น รายวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ยากสำหรับคนที่ไม่ชอบและไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ บางคนจะไม่มีความพยายามที่จะค้นคว้า หรือต้องการค้นคว้าแต่ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ค้นมาเพราะมีอุปสรรคด้านภาษา รายวิชามนุษย์กับสังคม ผู้เรียนบางกลุ่มศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานี้ ก็จะให้ความสนใจและอภิปรายได้มาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว

หากจะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อการเรียนการสอนแบบ PBL ขอเรียนว่าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการเรียนรู้ที่เห็นได้ชัดว่าผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเองจริงๆ หากได้รับการฝึกฝนในการเรียนรู้ลักษณะนี้ต่อไป ผู้เรียนจะเป็นคนใฝ่รู้ยิ่งขึ้นและสามารถหาความรู้ด้วยตนเองได้ ไม่ต้องตามน้ำหรือคิดตามผู้อื่นด้วยความไม่รู้อีกต่อไป

การเรียนการสอนใดๆย่อมต้องมีอุปสรรคขึ้นกับว่าเราจะสามารถจัดการกับอุปสรรคนั้นได้ดีเพียงใด การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ในมวล.ก็เป็นเช่นเดียวกัน เราพบปัญหาว่าการเรียนลักษณะนี้ต้องแบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก จึงใช้บุคลากรผู้สอนจำนวนมากกว่าการสอนบรรยายปกติ ต้องใช้ห้องจำนวนมากซึ่งเป็นปัญหาเพราะห้องเรียนมีจำกัด ต้องมีอุปกรณ์สื่อโสตฯ ประจำห้อง ซึ่งต้องจัดหาให้ตามความเหมาะสม นักศึกษาต้องใช้เวลาในการค้นคว้ามาก มักจะได้ยินจากนักศึกษาว่างานหนัก เวลาไม่พอ แหล่งค้นคว้าต้องมีเพียงพอ เช่นการค้นหนังสือในห้องสมุด หรือการค้นคว้าด้วยอินเทอร์เน็ตซึ่งต้องการระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่เสถียรและรวดเร็วในการหาข้อมูล รวมถึงทัศนคติของนักศึกษาต่อรายวิชาและลักษณะการเรียนการสอนแบบนี้ซึ่งบางคนเห็นว่าต้องศึกษาเพิ่มด้วยตนเองมากมายแทนที่จะเป็นการรับข้อมูลจาการบรรยายอย่างที่คุ้นเคย มวล. ทราบปัญหาเหล่านี้และดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเราได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ท้ายสุด เราได้รับคำถามเสมอว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เมื่อมาเรียนแบบ PBL เราพบกระบวนการเรียนการสอนอย่างชัดเจนว่านักศึกษามีวิธีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีทักษะในการอภิปรายสื่อสารที่ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้เป็นแบบก้าวกระโดด คนที่มีพื้นฐานใฝ่รู้จะยิ่งมีโอกาสมากขึ้นในการหาความรู้ด้วยตนเอง คนที่มีความกระตือรือร้นน้อยจะได้ซึมซับจากการบวนการกลุ่มและปรับตนเองให้มีความใฝ่รู้มากขึ้น แต่โดยรวมจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเสมอ นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ PBL ในมวล.จะยังคงมีความเข้มแข็งอีกต่อไป

No comments: