Tuesday, March 04, 2014

โรงหนังในจังหวัดระนอง

เข้ามาบันทึกเรื่องของโรงหนังในจังหวัดระนอง ซึ่งปัจจุบันนี้เข้าใจว่าที่ตัวเมืองระนองไม่มีโรงหนังแม้แต่โรงเดียวทั้งๆที่ในอดีตเคยเฟื่องฟูมีโรงหนังในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ถึงสี่โรง

โรงภาพยนต์สวัสดิ์ เห็นตั้งแต่เกิดจนเมื่อย้ายไปอยู่บ้านหลังอื่นเมื่อปี 2524 ก็ยังมีโรงหนังฉายอยู่ แต่หลังจากนั้นอีกหลายปีก็เลิกกิจการ ขายต่อให้ร้านอุ้ยกวง ทิ้งร้างไว้พักใหญ่แล้วกลายเป็นร้านขายของพวกเสื้อผ้ากางเกงวอร์มก่อนจะรื้อทิ้ง  เมื่อรื้อทิ้งไปบ้านเช่าหลังโรงหนังยังอยู่จนเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็รื้อออกด้วย

โรงภาพยนต์สักรินทร์รามา เห็นมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน เป็นโรงหนังคู่กันมากับโรงหนังสวัสดิ์ อยู่ห่างกันแค่ร้อยเมตร ภายหลังเลิกกิจการไปแล้วกลายเป็นลานขายเสื้อผ้าเช่นกัน

โรงภาพยนต์พูนผล เป็นอีกโรงที่เก่าแก่มีมานาน ตั้งอยู่บนถนนท่าเมือง ภายหลังเลิกกิจการไปกลายเป็นร้านขายของเล่น

โรงภาพยนต์พฤตินันท์ เป็นโรงหนังที่ทันสมัยมากๆในยุคที่สร้างขึ้น เป็นตัวตึกโรงหนังที่มีขนาดใหญ่โอ่โถง มีลานจอดรถชั้นใต้ดิน รู้สึกใกล้ชิดกับโรงนี้เพราะมีบ้านเพื่อนแม่เดิมชื่อ พิทักษ์ค้าไม้ตั้งอยู่ข้างๆโรง เมื่อก่อนต้องไปบ้านนี้เป็นประจำ  และโรงพฤตินันท์เป็นโรงที่ใช้คนของโรงหนังสวัสดิ์ไปดูแลในช่วงต้น

โรงหนังสวัสดิ์เป็นโรงหนังใหญ่ มีสองชั้น ชั้นบนสามารถขึ้นบันไดจากหน้าโรงได้เลย จึงต้องมีคนเฝ้าประตูสองคน มองจากด้านหน้าจะมีป้ายชื่อหนังที่กำลังฉายวันนี้ติดเป็นตัวอักษรแขวนกับป้ายขาวอยู่สูงขึ้นไป  ส่วนป้ายโฆษณาหนังจะมีสองป้ายด้านซ้ายและขวา เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ถ่ายแบบจากโปสเตอร์ เมื่อหันหน้าเข้าโรงหนังด้ายซ้ายจะเป็นร้านกาแฟของโกอุ้ย ขวามือจะเป็นร้านขายข้าวต้มของโกฮวดที่ขายเฉพาะช่วงกลางคืน

ร้านโกอุ้ยจะเป็นที่พึ่งพาตลอดเวลาเพราะเป็นร้ากาแฟ ขายเหล้าและบุหรี่ด้วย จำได้ว่าลุงเคยบอกให้ไปซื้อเหล้าทีละ 1 กั๊ก แล้วก็ใส่ถุงมา บ้านนี้เป็นบ้านเก่า คลับคล้ายคลับคลาว่าในบ้านจะมีบ่อน้ำบาดาลด้วย ความจริงสนิทกับบ้านนี้เพราะเป็นเพื่อนบ้านและลูกสาวเรียนอยู่ชั้นเดียวกันเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก อีกเรื่องที่จำได้คือหลังบ้านจะมีวงไพ่นกกระจอก ตั้งวงกันสนุกสนาน แปลกใจตัวเองที่เล่นไพ่นี้ไม่เป็นเพราะย่านนั้นมีวงไพ่เยอะมาก เด็กทุกคนเล่นไพ่เป็นแบบชำนาญกรีดไพ่กันสนุก  คิดว่าตัวเองคงเห็นไพ่นกกระจอกเป็นไพ่คนแก่ก็เลยไม่เคยสนใจวิธีเล่นเลย

บ้านโกฮวดจะเป็นอีกแบบ บ้านนี้เป็นร้านทำอาหารขายช่วงกลางคืน กลางวันจึงเป็นช่วงพักผ่อนของโกฮวด ปกติจะเห็นแกช่วงบ่ายทำกับข้าวมากมายหลายอย่าง จะมีกะละมังใหญ่มากต้มจับฉ่ายน่ากินมาก  แต่ของกินที่ชอบที่สุดคือหมูแดง บ้านนี้เป็นเพื่อนบ้านที่สนิทเช่นกันเพราะมีลูกหลานเยอะ ทั้งหญิงและชาย ลูกสาวคนเล็กบ้านนี้สวยมาก เป็นที่โปรดปรานของพี่ๆอย่างเรา  เข้าไปขลุกในบ้านนี้บ่อย สมัยนั้นเล่นฟันดาบแบบนิยายกำลังภายในกันทีเดียว เพราะดูหนังกันตลอดเวลา มารู้สึกเอาตอนโตว่าบ้านนี้ก็เป็นที่สอนทำกับข้าวชั้นดี  เห็นวิธีการเตรียมอาหารก็ที่นี่ วิธีการเฝาขาหมูด้วยเครื่องพ่นไฟแก๊สขนาดเล็ก

ลานหน้าโรงจะมีแผงกระจกตั้งขึ้นสองข้างหันเข้าหากัน ด้านล่างโล่งเดินลอดไปได้  เป็นแผงติดโปสเตอร์แนะนำโปรแกรมหนังสมัยก่อนจะมีคนมาตั้งแผงขายของพวกแหวน กำไลเป็นเพชรทองคริสตัลระยิบระยับ รู้สึกจะเป็นแขก ที่ขายตั๋วอยู่ทางขวามือ  ประตูอยู่ตรงกลางเปิดเป็นบานเฟี้ยมได้เวลาที่หนังเลิกคนจะได้ออกมาง่ายๆ ถัดจากประตูไปทางซ้ายจะมีเก้าอี้ติดผนังเป็นม้านั่ง ถัดไปก็เป็นบันไดขึ้นชั้นสองเป็นบันได้สีดำ ถัดจากบันไดก็เป็นทางเดินด้านข้าง มีประตูอีกสองบานที่เปิดให้คนดูออกมาเมื่อหนังเลิก ถัดจากประตูจะเป็นสโลปลาดชันลงไปที่หลังโรงหนัง เป็นที่เล่นสเก๊ตผาดโผนของเด็กๆในยุคนั้น ซ้ายมือของสโลปเป็นเนินดินรกร้าง กลับมาที่หน้าโรงหนังถ้าเดินไปทางขวาก็มีทางเดินลงไปหลังโรงหนังเหมือนกัน จะไปทะลุที่ห้องวาดป้ายหนัง จะมีป้ายขนาดใหญ่ที่กำลังวาดอยู่วางไว้ (คนวาดชื่อโกเกื้อ เป็นคนวาดรูปสวยโดยไม่ได้ไปเรียนจากโรงเรียนศิลปะที่ไหน ภายหลังได้ย้ายไปทำงานโรงหนังสักรินทร์ แล้วต่อไปก็ได้ไปเปิดร้านที่หาดใหญ่และได้วาดภาพพุทธประวัติเป็นภาพติดผนังภายในโบสถ์ที่วัดหูแร่สวยงามมาก)

ภายในโรงหนังเมื่อเดินเข้าไปจะชนกับผ้าม่านสีแดงหนาและหนักมาก ตอนเด็กๆเคยเล่นม้วนตัวให้ผ้าห่อตัวจนมิด แล้ววิ่งม้วนตัวไปอีกด้านให้ผ้าคลายออก ไม่รู้สนุกยังไงเหมือนกัน  เมื่อเดินเข้าไปจะมีห้องน้ำอยู่ทางซ้ายมือ มีแอ่งปูนสี่เหลี่ยมติดกระเบื้องเป็นที่เก็บน้ำ ไม่แน่ใจเรื่องจำนวนที่นั่งของที่นี่ แต่เข้าใจว่าจุได้หลายร้อยคน แถวที่นั่งจะเป็นเก้าอี้ไม้ติดกันเป็นพืดยาวสีดำ พนักจะพับอยู่ เมื่อนั่งลงก็จับพับลงมานั่ง ลุกขึ้นยืนเก้าอี้ก็จะดีดตัวกลับ เก้าอี้มีหลายแถวเข้าใจว่าตั้งแต่ ก-ฮ  แยกส่วนเป็นซ้ายขวาและมีแถวว่างแบ่งตอนอยู่ตรงกลางโรง เวทีใหญ่มาก ดนตรีลูกทุ่งขึ้นไปเล่นได้เต็มวง จอฉายยาวมากๆเข้าใจว่าเป็นจอฉาย 70 มม. หลังจอจะเป็นที่โล่งมีหลังคาคลุมแล้วจะมีบันไดลงไปที่บริเวณหลังโรงหนังได้ บริเวณด้านหลังจอเวลามีวงดนตรีลูกทุ่งมาเล่นจะแออัดมาก

ชั้นบนเมื่อเดินขึ้นไปเลี้ยวขวาจะมีแถวเก้าอี้นั่งเรียงรายน่าจะประมาณสิบกว่าแถว เดินขึ้นไปที่ขั้นบนสุดจะเดินไปที่บริเวณคุมเครื่องฉาย โดยห้องแรกที่เจอจะเป็นห้องนักพากษ์ มีนักพากษ์สองคนชายหญิงพากษ์คู่กัน ที่ค่อนข้างสนิทคือคู่ของ จักรพันธ์-ลือลักษณ์ จะได้เข้าไปนั่งฟังเขาพากษ์อยู่ในห้องทีเดียว ห้องถัดไปจะเป็นตัวเครื่องฉาย มีพี่คุมเครื่องอยู่คนหนึ่งคอยฉายหนัง เมื่อก่อนเป็นใครก็จำไม่ได้ แต่ช่วงที่อายุราวสิบขวบจะเป็นพี่บ้านใกล้กันชื่อพี่หร่อง

ส่วนตัวมีความผูกพันกับโรงหนังสวัสดิ์มากๆเพราะเป็นเด็กที่มีบ้านอยู่หลังโรงหนัง ซืึ่งจะมีสิทธิ์พิเศษคือได้ดูหนังฟรี ดูมาตั้งแต่เล็กจนโต แม่เล่าให้ฟังว่า เวลาโรงเรียนเลิกบ่ายสามโมงแทนที่จะเดินเข้าบ้าน กลับสวัสดีคุณแม่หนึ่งครั้ง วางกระเป๋าเข้าไปในบ้านแล้ววิ่งไปดูหนัง ซึ่งตอนนั้นหนังจะฉายไปได้สักพัก(หนังฉายตอนบ่ายสองโมง) จะไม่ได้ดูหนังช่วงแรก  ก็จะไปดูรอบค่ำแทนช่วงหนึ่งทุ่ม สรุปว่าได้ดูหนังจบเรื่องในวันเดียวกันแต่ดูตอนกลางจนจบเรื่องก่อน

ที่โรงหนังสวัสดิ์จะมีวงดนตรีลูกทุ่งมาเล่นเรื่อยๆ คงมีวงดังๆมากันหลายวง แต่ไม่รู้จักเลย เพราะไม่ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง และบางวงการแสดงก็ไม่เหมาะสมที่เด็กจะดู ที่บ้านจะมีนักร้องแวะเวียนเข้ามาหลายคนเพราะจะมาขอเข้าห้องน้ำที่บ้าน เคยมีรูปผ่องศรี วรนุชถ่ายรูปที่หน้าบ้านตอนที่มาเปิดการแสดง

การเขียนป้ายหนังเป็นเรื่องสนุกไม่แพ้กัน ความที่สนิทกับพี่ที่เขียนป้ายก็จะไปนั่งดูพี่เขาเขียนรูปทีละนานๆ เห็นว่าเขาจะตีตารางบนโปสเตอร์ แล้วขยายสเกลไปตีตารางบนแผ่นป้าย ป้ายขนาดใหญ่มากเพราะต้องติดที่หน้าโรงจะได้เห็นแต่ไกล พี่เขาจะต้องนั่งร้านวาดรูป แต่ละป้ายที่ใช้เสร็จไม่ได้ทิ้ง แต่จะมีการทาสีทับแล้วเขียนรูปหนังเรื่องต่อไป โรงที่พี่เขาวาดรูปจะมีแผ่นป้ายวางผิงผนังซ้อนๆกัน  เมื่อวาดรูปเสร็จจะมีอีกงานที่พี่เขาต้องทำคือการขับรถแห่ เป็นรถโฆษณาโปรแกรมหนังที่เอาป้ายมาติดกับรถกระบะ เมื่อก่อนก็เป็นกระบะแบบรถนั่งของทางฝั่งอันดามันที่เป็นรถไม้ ระยะหลังเปลี่ยนเป็นรถกระบะธรรมดา



ขอเอาข้อมูลที่พูดถึงโรงหนังมาแปะ  จะได้พอจำวันเวลาได้บ้างว่ามีอะไรตอนไหนค่ะ
http://news.sanook.com/economic/4/economic_265303.php

" ''คมน์ ''ฉวยบิ๊กค้าปลีกบุกระนอง+ เปลี่ยนโฉมโรงหนังพฤตินันท์ดักลูกค้า ก่อนขาใหญ่เมเจอร์ยึด

โดย ฐานเศรษฐกิจ วัน พฤหัสบดี ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551 04:47 น.
ระนองระอุ คมน์ อรรฆเดช สบช่องหลังยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติพาเหรดยึดระนอง เล็งซื้อที่เตรียมผุดโรงหนัง
ค่ายโคลีเซี่ยมฟิล์ม ด้านห้างเดอะฟอร์ทระนอง จัดทัพใหญ่ ซื้อที่ดินผุดโรงหนัง ดึงเมเจอร์เข้าร่วมทุน
นายกิตติวุฒิ ฝอยทอง เจ้าของกิจการก่อสร้างและผู้รับเหมาในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง เปิดเผยกับ 
ฐานเศรษฐกิจว่า ตนได้รับการติดต่อจากคม อัครเดช เจ้าของค่ายหนังโคลีเซี่ยมฟิล์มให้หาที่ดิน
ในเขตพื้นที่เมืองระนอง หรือใกล้เคียงจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงหนังมาตรฐานขนาดไม่เกิน 
100 ที่นั่ง

ปัจจุบันค่ายหนังโคลีเซียมฟิล์มของคุณคมน์ อรรฆเดช ได้เข้ามาเช่าโรงหนังพฤตินันท์ ซึ่งเป็นโรงหนัง
เก่าแก่ที่เหลืออยู่โรงเดียวในจังหวัดระนองมานาน แต่ด้วยสภาพความทรุดโทรม และระบบเสียงที่ล้าสมัย
ทำให้ไม่ได้รับความนิยม จึงทำให้ทางคุณคมน์ไม่ต้องการที่จะเช่าโรงหนังดังกล่าวอีกต่อไป

ประกอบกับขณะนี้ระนองกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่หลังจากที่มีห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่
อย่างเทสโก้ โลตัสเตรียมจะเปิดสาขาระนองในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้คนจากตัวเมืองรอบนอก
เดินทางเข้ามายังตัวเมืองชั้นในมากขึ้น จึงเป็นช่องว่างที่จะทำให้สามารถขยายกิจการใหม่ๆ 
อาทิโรงหนัง หรือร้านอาหารชื่อดังได้ จึงทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการและนักลงทุน
จากส่วนกลางเดินทางเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในระนองเป็นจำนวนมาก

นายกิตติวุฒิกล่าวต่อว่าขณะนี้ราคาที่ดินบริเวณย่านใจกลางเมืองระนองแพงมากถึงไร่ละ 32 ล้านบาท 
คงจะต้องหาที่ดินบริเวณใกล้เคียงห่างจากตัวเมืองไม่มาก แต่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก 
ซึ่งขณะนี้ตนกำลังเข้าไปเจรจาติดต่ออยู่ 1-2 แปลงแต่ยังไม่ได้มีการตกลงซื้อขาย ต้องรอให้ทางนายคมน์ 
เดินทางลงมาดูอีกครั้ง

ด้านนายนิสิต ญาณสังวรณ์ ผู้จัดการห้างสรรพสินค้าเดอะฟอร์ทระนอง กล่าวว่า การขยายสาขาเข้ามา
ของห้างค้าปลีกข้ามชาติ ทำให้ห้างสรรพสินค้าเดอะฟอร์ทจำเป็นจะต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ ทั้งตัวสินค้า 
การจัดวางสินค้า รวมถึงสิ่งใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า ซึ่งล่าสุดทางผู้บริหารได้ซื้อห้องแถว
เพิ่มอีก 2 ห้องซึ่งเป็นห้องแถวที่อยู่ติดกับห้างเดิมเพื่อที่จะก่อสร้างโรงหนังขนาดมินิ 50 ที่นั่ง 
จำนวน 2 โรง เพื่อที่จะดึงทางเมเจอร์เข้ามาร่วมทุน

ปัจจุบันระนองยังมีช่องว่างในส่วนนี้ เนื่องจากไม่มีโรงหนังมาตรฐาน โรงหนังที่มีก็อยู่ในสภาพเก่า 
และทรุดโทรมมากโดยขณะนี้ทางผู้บริหารของเรากำลังเจรจากับกลุ่มเมเจอร์ของตระกูลพูลวรลักษณ์ 
เพื่อให้เข้ามาร่วมทุนกับเราเปิดโรงหนังในเครือเมเจอร์ที่จังหวัดระนองซึ่งผมมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับ
เป็นอย่างดีแน่นอน

นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่าว่า โฉมหน้าการค้าเมืองระนองกำลัง
จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หลังกลุ่มทุนค้าปลีก ค้าส่งข้ามชาติ ทั้งเทสโก้ โลตัส และ แม็คโคร 
เตรียมที่จะขยายฐานธุรกิจเข้ามาเปิดสาขาใหม่ที่ระนอง ส่วนอีกสองรายที่กำลังดำเนินการที่จะขยาย
สาขาเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดระนองคือแม็คโคร กับบิ๊กซี ผลจากที่ยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติขยายสาขา
เข้ามาในพื้นที่ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้ขยายฐานธุรกิจตามเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก 
ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีนี้ คนระนองจะได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกหลายด้าน

ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไปการค้าในเขตพื้นที่ระนอง และชายแดนด้านจังหวัดระนอง-เกาะสองจะเปลี่ยน
โฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิง กลุ่มพ่อค้าที่เคยผูกขาดการค้าชายแดน ก็จะมีคู่แข้งขันเพิ่มมากขึ้น 
อีกทั้งจะทำให้เกิดการข้ามฟากเข้ามาของประชาชนชาวพม่าซึ่งน่าจะส่งผลให้บรรยากาศการค้าขาย
คึกคักมากขึ้น นางสุดาพร กล่าวปิดท้าย"

===============================
ส่วนนี่เป็นประวัติของขุนสวัสดิ์ภักดี เจ้าของโรงภาพยนตร์สวัสดิ์ค่ะ

https://sites.google.com/site/khoonswatpakdi/

"ประวัติขุนสวัสดิ์ภักดี

ขุนสวัสดิ์ภักดี  นามเดิม ขอโผโล่ย เกิดเมื่อวันที่   กันยายน  พ.ศ. 2443    เกาะคนที  
ตำบลปากน้ำ  อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นบุตรนายเตี๋ย แซ่ขอ กับนางสุมะ  
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4  คน  คือ
                                1.  นางจันทรา (เจี้ยนซา)     เชาวนจินดา  (มรณะ พ.ศ. 2512)  
                                2.  นายจิ้นฮ้อง   แซ่ขอ  (มรณะ พ.ศ. 2521)  
                                3. นายขอโผโล่ย (ขุนสวัสดิ์ภักดี)
                                4. นางโฉ่ย     แซ่ขอ  (มรณะ พ.ศ. 2496)                     
ในวัยเด็กบิดาของขุนสวัสดิ์ภักดีได้จ้างซินแสมาสอนลูก ๆ ที่บ้าน แต่ขุนสวัสดิ์ภักดีมักขออนุญาต
ซินแสไปทำงานเบ็ดเตล็ดแทน เพราะขุนสวัสดิ์ภักดีสนใจในด้านอุตสาหกรรม และการค้ามากกว่า
การนั่งเรียน
                โรงเลื่อยไม้เล็ก ๆ ที่บิดาของขุนสวัสดิ์ภักดีเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น  ขุนสวัสดิ์ภักดีได้ใช้แรงกาย 
และสติปัญญาบวกกับความอุตสาหะวิริยะอันเป็นอุปนิสัยของขุนสวัสดิ์ภักดี สร้างตนเองจากธุรกิจเล็ก ๆ 
ขึ้นมา จนเป็นนักธุรกิจสำคัญผู้หนึ่งของจังหวัดระนอง
                ขุนสวัสดิ์ภักดีได้แต่งงานกับนางกิมเหลียง  เมื่อปี 2463 หลังจากนางกิมเหลียงได้
เสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ. 2482 และได้ทิ้งบุตรธิดาไว้ 5 คน  คนสุดท้องอายุได้ขวบเศษ ๆ    
จึงได้สมรสใหม่กับนางสาวฮัยซิน  เฮมบรี  ในปี พ.ศ. 2484  ขุนสวัสดิ์ภักดีมีบุตรธิดารวม 11 คน  คือ

                                1.  นางเพ็ญศรี                       หงษ์หยก
                                2.  นางเพลินพิศ                    พงษ์เพชร
                                3.  นายกิติรัตน์                       สวัสดิ์ภักดี
                                4.  นางสาวแจ่มใส                 สวัสดิ์ภักดี
                                5.  นางจิตต์มาลัย                    เดชา
                                6.  นายกิตติศักดิ์                     สวัสดิ์ภักดี  (เสียชีวิต)
                                7.  นายจรกิตติรักษ์                 สวัสดิ์ภักดี
                                8.  นางสาวมาริษา                   สวัสดิ์ภักดี
                                9.  นางสุมนา                           อรุณกิจ
                                10.  นางสาวไข่มุก                  สวัสดิ์ภักดี
                                11.  นางสาวจิตมาลี                สวัสดิ์ภักดี

ขุนสวัสดิ์ภักดีเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่  มีสง่า  สุขภาพสมบูรณ์  อุปนิสัยเป็นคนพูดน้อย  สุขุม  
สุภาพ  ขยันขันแข็ง ทำงานสม่ำเสมอ  ไม่ถือตัว  ชอบความสะอาด และมีระเบียบ  
ใจคอโอบอ้อมอารีต่อคนทั่วไป  เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  และมักจะช่วยเหลือทุกคนเมื่อมีโอกาส  
แม้โดยส่วนตัวจะสนใจในงานอาชีพมากกว่าการศึกษา  แต่ก็ได้พยายามส่งเสริมการศึกษาแก่
บุตรธิดาทุกคนเท่าที่จะสามารถ และยังได้สนับสนุนการศึกษาของตำบลปากน้ำ  
ขุนสวัสดิ์ภักดีป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยสร้างโรงเรียนหลังแรกที่ปากน้ำระนอง เนื่องจากเงิน
งบประมาณมีไม่พอ ขุนสวัสดิ์ภักดีจึงรับทำการก่อสร้างให้  โดยใช้เงินส่วนตัวจ้างช่างไม้ชาวจีน
สร้างจนสำเร็จ   เปิดใช้เป็นสถานที่เรียนได้ และได้รับเกียรติเป็นประธานของโรงเรียนนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือบาทหลวงที่เข้าไปทำการสอน และอบรมเด็กที่ระนอง 
ขุนสวัสดิ์ภักดีสนใจ และให้การต้อนรับอย่างดี  พร้อมทั้งสนับสนุนเมื่อบาทหลวงเสนอความคิด
ที่จะก่อตั้งโรงเรียนก็ดี  การสร้างวัดพระหฤทัยพระเยซูเจ้าก็ดี  ขุนสวัสดิ์ภักดีความร่วมมือ   
และช่วยเหลืออย่างดี    ดังที่ชาวระนองได้เห็น “โรงเรียนศรีอรุโณทัย”   ซึ่งตั้งอยู่ถนนท่าเมือง 
ปรากฎ ตราบจนปัจจุบันนี้


                                           

ขุนสวัสดิ์ภักดีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น      “ขุนสวัสดิ์ภักดี”    จากพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)  เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จประพาสจังหวัดระนอง  
ขุนสวัสดิ์ภักดีได้แสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์  โดยจัดถ้วยแก้วแทนตะเกียง
จุดตั้งเรียงรายไปตลอดทั้งสองฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ปากน้ำจนถึงท่าด่าน  ซึ่งนับเป็นระยะทางประมาณ 
3 กิโลเมตร
ขุนสวัสดิ์ภักดีได้ประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้ริเริ่มในหลายกิจการของจังหวัดระนอง  เช่น  
ได้สร้างโรงภาพยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเรืองราษฎร์ขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัด  ให้ชื่อว่า 
“สวัสดิ์ภาพยนต์”  ขุนสวัสดิ์ภักดียังเป็นตัวแทนจำหน่ายบริษัทน้ำมันตราหอย 
(ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัทเชลล์)  ขุนสวัสดิ์ภักดีได้ดำเนินกิจการมากว่า 40 ปี  สมัยที่ต้องอาศัย
แรงคนไปตวงน้ำมันเติมรถยนต์
ขุนสวัสดิ์ภักดีเป็นคนแรกที่ตั้งโรงงานล้างแร่ดีบุก และวุลเฟรมขึ้น    โดยรับล้างแร่ของ
บริษัทไซมิสทินฯ  ระนอง และบริษัทไซมิสทินฯ ตะกั่วป่า ขุนสวัสดิ์ภักดียังได้เป็นผู้ส่งไม้ฟืน
ให้แก่โรงไฟฟ้าบริษัทไซมิสทิน  ซึ่งมีเรือขุดแร่อยู่ถึง   7 ลำ     สมัยนั้นขุนสวัสดิ์ภักดี    
และเพื่อน ๆ ต้องใช้ม้า (ขี่โดยไม่มีอาน) เป็นพาหนะจากตลาดระนองไปที่ตำบลบางริ้น หงาว 
และท่าฉาง  เป็นระยะทางถึง 16  กิโลเมตร
ทางด้านการกุศล    ขุนสวัสดิ์ภักดีมักจะช่วยบริจาคทั้งทุนทรัพย์    และวัสดุ      
ทางด้านศาสนา ขุนสวัสดิ์ภักดีช่วยสร้างสะพานให้กับวัดอุปนันทาราม  เนื่องจากพระภิกษุ
ต้องเดินท่องน้ำข้ามสายน้ำ  นอกจากนี้ยังได้ช่วยวัดวาอารามต่างๆ  ที่ไปขอความช่วยเหลือ
เสมอ ๆ ทางด้านราชการ  ในด้านกิจกรรมส่วนรวม และส่วนตัว  ขุนสวัสดิ์ภักดีได้ยกที่ดินให้
แก่สถานีตำรวจที่ปากน้ำ  ได้ซื้อตัวบ้าน และก่อสร้างบ้านพักให้แก่ข้าราชการตำรวจ  
ช่วยสร้างสถานีตำรวจระนอง  เนื่องจากถูกระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้สร้างบ่อน้ำ 
สะพาน ทำทางเดินให้ความสะดวกแก่ประชาชนในบริเวณบ้านปากน้ำ บ่อน้ำที่ใช้อยู่ใน
โรงเลื่อยของท่าน  นอกจากใช้ในกิจการของโรงงานแล้ว ยังให้ประชาชนตำบลปากน้ำ
ได้ใช้ดื่มทั่วกัน  ในขณะที่บ่อน้ำอื่น ๆ แห้งหมดในฤดูแล้ง  กับยังได้ให้หีบศพ โดยไม่คิดมูลค่า
แก่บุคคลที่ต้องการเป็นประจำ
ชีวิตลำเค็ญของขุนสวัสดิ์ภักดีระยะหนึ่งที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังคือ ใน พ.ศ. 2484  
หลังจากญี่ปุ่นเข้ายึดสถานีตำรวจระนองแล้ว ชนต่างชาติที่ทำงานอยู่กับบริษัทไซมิสทินฯ 
กลัวจะถูกจับ ได้พากันหลบหนีออกนอกประเทศไปหมด       และได้มอบงานให้ขุนสวัสดิ์ภักดี
เป็นผู้ดำเนินงานแทน  ขุนสวัสดิ์ภักดีก็รับบริหารกิจการไปด้วยดี จนรัฐบาลยื่นมือเข้ามา
ขุนสวัสดิ์ภักดีก็มอบงานให้ อยู่ต่อมาบ้านปากน้ำกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์  ขุนสวัสดิ์ภักดีจึงนำ
ครอบครัวไปพักกับญาติพี่น้องที่เกาะคนทีชั่วคราว  แล้วย้ายต่อไปอยู่ที่ถนนดีบุก จังหวัดภูเก็ต  
หลังจากนั้นก็ได้ไปพักที่เหมืองเจ้าฟ้าของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ทั้งคุณหลวง คุณนาย
ได้ให้ความเอื้อเฟื้อเป็นอย่างดียิ่ง  ครั้นขุนสวัสดิ์ภักดีทราบว่าทางทหารญี่ปุ่นมีความประสงค์
จะมาจับตัว  ขุนสวัสดิ์ภักดีจึงเข้ามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ไทย จนกระทั่งทางญี่ปุ่นขอนำตัวไป
สอบสวน แต่เจ้าหน้าที่ไทยยังไม่ยอมมอบตัวให้  ในที่สุดมีคำสั่งจากทางกรุงเทพฯ ให้มอบตัว
ขุนสวัสดิ์ภักดีไปกับญี่ปุ่น  เพราะขณะนั้นไทยได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตร กับญี่ปุ่นแล้ว 
ขุนสวัสดิ์ภักดีถูกสอบสวนอย่างหนักตามวิธีการของญี่ปุ่นในสมัยนั้น  ผู้ที่ถูกจับไปคราวเดียวกันนี้
มีจำนวน 57 คน  แต่มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่มีชีวิตรอดกลับมาได้  ขุนสวัสดิ์ภักดีอยู่ในความควบคุม
ของทหารญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึง 9 เดือน
อาศัยที่ขุนสวัสดิ์ภักดีมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน  ที่สุดญี่ปุ่นแพ้สงครามท่านก็ได้รับการ
ปลดปล่อยกลับเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง       ในครั้งนั้นกิจการได้รับความเสียหายเป็นส่วนมาก       
แต่ขุนสวัสดิ์ภักดีมีมานะอดทนก่อสร้างตนเองขึ้นมาใหม่โดยไม่ย่อท้อ ขุนสวัสดิ์ภักดีเคยเรียกร้อง
ค่าเสียหายในสงคราม แต่ไม่ได้รับเลย
ต่อจากนั้น ขุนสวัสดิ์ภักดีกลับมาอยู่บ้านเดิมที่ปากน้ำอีกหลายปี      ได้ไปอยู่เหมืองพรรั้ง
ชั่วระยะหนึ่ง       จึงมาอยู่บ้านซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนศรีอรุโณทัยไปแล้ว  
หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่หลังปั๊มเชลล์ในตลาดระนองใน พ.ศ. 2512 และอยู่ที่นั่นเป็นต้นมา
ขุนสวัสดิ์ภักดีเริ่มป่วยโรคตับ  เมื่อ 15 กันยายน 2514  ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
รามาธิบดีอยู่ประมาณ 2 เดือน จากนั้นได้ไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเซนต์หลุยส์     
ตลอดเวลาที่ป่วย ขุนสวัสดิ์ภักดีก็ยังสามารถบริหารงาน       คอยรับฟังรายงาน       
และสั่งงานด้วยตนเองเช่นปรกติ  ขุนสวัสดิ์ภักดีมีความอดทน  ยอมรับความเจ็บป่วย 
จนวาระสุดท้าย  ขุนสวัสดิ์ภักดีได้สิ้นใจอย่างสงบ ที่บ้าน 3/1 เซนต์หลุยส์ 2  
ถนนสาธรใต้  ยานนาวา  กรุงเทพฯ  ในวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2515 เวลา    14.00 น."





No comments: