เช้านี้เห็นประกาศรับสมัคร CU CHORUS AUDITION 2014 เป็นกิจกรรมเปิดรับนักร้องและนักเปียโนเข้าชมรมประจำปี ตามลิงก์เข้าไปดูด้วยความสนใจว่าสมัยนี้เขารับสมัครกันยังไง พบว่าเป็นไปตามยุคสมัยคือ ประกาศรับทาง FB ทางเว็บไซต์ ให้เข้าไปสมัครออนไลน์ในเว็บของชมรม ที่น่าเอ็นดูคือขั้นตอนการสมัคร
เมื่อคลิกสมัครจะไปที่หน้า “ขั้นตอนที่ 1 รับทราบข้อตกลง” เพื่อทำความเข้าใจว่าเข้าชมรมมาแล้วต้องซ้อมสม่ำเสมอนะจ๊ะ จะไม่ได้ออกแสดงจนกว่าจะฝึก Voice Training เป็นเวลาหนึ่งปีไม่ว่าจะมีพื้นฐานทางดนตรีหรือการขับร้องมาหรือไม่ และจะมีภาระผูกพันที่จะต้องขับร้องประสานเสียงในงานปฐมนิเทศและพิธีพระราชทานปริญญาบัตรอย่างน้อยงานละหนึ่งครั้ง (ดีนะ รู้กันไปเลยว่าต้องทำอะไร จะได้ไม่มาเล่นๆ)
“ขั้นตอนที่ 2 วิธีการกรอกใบสมัคร” จะให้รายละเอียดว่าต้องคัดเสียงวันไหน ไปที่ไหน การติดต่อทำยังไง (ออกแบบดีนะคะ ให้รายละเอียดครบถ้วน)
“ขั้นตอนที่ 3 สมัครคัดเสียง (ผ่านอินเตอร์เน็ท)” ให้กรอกรายละเอียด และเลือกวันคัดเสียง จากนั้นก็คลิกสมัครไป เข้าใจว่าจะได้อีเมลตอบกลับหลังจากนั้นเป็นการยืนยัน
ชอบมากๆที่เขาใช้สื่อสารออนไลน์ให้ข้อมูลกันได้แบบนี้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เวลาน้องๆไม่เข้าใจก็ต้องวิ่งไปถามรุ่นพี่กัน แล้วก็ไปกันแบบงงๆๆ ไม่ค่อยรู้อะไรแบบสมัยนี้ ทีแรกเห็นคำว่า “สมัครคัดเสียง (ผ่านอินเตอร์เน็ท)” ยังคิดว่า โห ใช้การอัดเสียงตามตัวโน้ตส่งออนไลน์ไปเลย ไม่ต้องไปคัดเสียงต่อหน้ากันจริงๆ คิดว่าไปอีกระดับแล้ว (จริงๆเดี๋ยวนี้จะร้องประสานเสียงร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ตก็ทำได้นะ) แต่ก็เปล่าหรอกนะ วิธีการคัดเสียงยังเหมือนเดิม
ก็เลยนึกถึงสมัยก่อนโน้นนนนนนน....
เมื่อหลายสิบปีก่อน...นานไปนะ...เอาใหม่...
เมื่อหลายปีก่อนตอนที่เพิ่งเข้าเป็นนิสิตปีหนึ่ง ทุกคนจะพยายามหาชมรมที่ตัวเองชอบ เพื่อจะได้มีกลุ่มเพื่อนและได้ฝึกฝนในสิ่งที่ชอบเหมือนๆกัน ตอนนั้นอยากเข้าชมรมนักร้องประสานเสียง สจม. ที่เรียกกันย่อๆว่า CU Chorus ก็ทำเหมือนที่เด็กปีหนึ่งปีนี้ทำก็คือเข้ากระบวนการสมัคร จากนั้นเข้าคัดเสียงตามวันที่กำหนด เมื่อได้รับการประกาศชื่อรับเข้าชมรมและกำหนดกลุ่มเสียงแล้วก็เข้ามาฝึกร้องเพลงด้วยกันตามตารางที่กำหนด ปกติคือ 5 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม ปีนั้นเข้าไปเป็นโซปราโน รุ่น 12
การร้องเพลงประสานเสียงเป็นการร้องเพลงร่วมกันเพื่อเป็นพลังแห่งการประสาน ไม่มีใครโดดเด่นออกมา ไม่ว่าใครจะมีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์ไปร้องเพลงเดี่ยวได้ดีแค่ไหน แต่เมื่อมาร้องเพลงร่วมกัน เสียงจะต้องไม่กระโดด ทุกคนต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน เป็นการฝึกการทำงานเป็นทีมได้ดีมากๆ วันที่มีซ้อมจะรีบไปให้เร็วก่อนเวลาเพื่อจะไปนั่งเม้าท์มอยและร้องเพลงอื่นกับเพื่อนๆ ปกติคนในชมรมนอกจากจะชอบร้องเพลงและร้องเพลงได้ดีกันทุกคน แต่ละคนมักจะเล่นดนตรีได้อย่างน้อยก็ชิ้นสองชิ้น คนนึงเล่นเปียโน คนนึงเล่น ไวโอลิน อีกคนเอาฟลูตมาเป่า อีกสองสามคนเล่นกีต้าร์ แล้วก็ร้องเพลงด้วยกัน บรรยากาศสุนทรีย์เป็นอย่างมาก ที่ดีมากๆอีกอย่างหนึ่งที่ชมรมอื่นไม่ค่อยมีคือห้องแอร์ ชมรมนี้จะต้องอยู่ในห้องแอร์และเก็บเสียงเพื่อไม่ให้ไปรบกวนภายนอก ทุกคนก็เลยชอบมาชมรม และชมรมนี้ตั้งอยู่บนชั้นสามของสนามจุ๊บ(สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์) โดยมีม่านปิดไว้ ถ้าเราอยากได้บรรยากาศเขียวๆก็เปิดม่าน จะได้อารมณ์สนามกีฬาแทน
CU Chorus ก็เหมือนทุกชมรมที่แรกๆจะมีคนอยากเข้าจำนวนมาก แต่เมื่ออยู่ไปนานๆด้วยภาระการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้คนในชมรมเริ่มร่อยหรอ การมาซ้อมไม่สม่ำเสมอ เมื่อจะทำการแสดงบางครั้งจะหานักร้องได้ไม่ครบจำนวน เพราะเราร้องเพลงประสานเสียงไม่ได้ร้องเดี่ยว จำเป็นต้องมีคนครบทุกกลุ่มเสียงในจำนวนที่มากพอ อย่างเช่นบางงานเราต้องการคนประมาณ 70 คน ต้องระดมกันมาทั้งหมดถึงจะครบโดยไม่รวมน้องปีหนึ่ง เพราะปีหนึ่งจะต้องซ้อมทั้งปี ไม่สามารถออกแสดงได้ จำได้ว่างานแรกที่ได้แสดงคืองานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ปีถัดมา นอกนั้นก็จะมีงานแสดงในงานรับพระราชทานปริญญาบัตร งานออกรายการพิเศษทางทีวี งานแสดงหน้าพระที่นั่งในวัง งานอัดเพลงประกอบภาพยนตร์ งานร้องเพลงต้นแบบของเพลงประสานเสียงที่ใช้ในงานซีเกมส์ ฯลฯ จะแสดงแต่ละครั้งต้องวิ่งหาคนกันจ้าละหวั่น เพราะต้องซ้อมล่วงหน้านานและสม่ำเสมอ บางครั้งรุ่นพี่ก็ต้องมาช่วย
CU Chorus เป็นชมรมหลักที่เข้าร่วมตลอดเวลาที่เรียนในมหาวิทยาลัย จนจบออกไป ไม่ค่อยได้เจอกับพี่ๆเพื่อนๆในชมรม แต่ดีใจที่เห็นชมรมยังคงก้าวหน้าต่อไปและมีน้องๆรุ่นต่อไปมาสืบสานเจตนารมณ์ค่ะ
No comments:
Post a Comment