โรงภาพยนต์สวัสดิ์ เห็นตั้งแต่เกิดจนเมื่อย้ายไปอยู่บ้านหลังอื่นเมื่อปี 2524 ก็ยังมีโรงหนังฉายอยู่ แต่หลังจากนั้นอีกหลายปีก็เลิกกิจการ ขายต่อให้ร้านอุ้ยกวง ทิ้งร้างไว้พักใหญ่แล้วกลายเป็นร้านขายของพวกเสื้อผ้ากางเกงวอร์มก่อนจะรื้อทิ้ง เมื่อรื้อทิ้งไปบ้านเช่าหลังโรงหนังยังอยู่จนเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็รื้อออกด้วย
โรงภาพยนต์สักรินทร์รามา เห็นมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน เป็นโรงหนังคู่กันมากับโรงหนังสวัสดิ์ อยู่ห่างกันแค่ร้อยเมตร ภายหลังเลิกกิจการไปแล้วกลายเป็นลานขายเสื้อผ้าเช่นกัน
โรงภาพยนต์พูนผล เป็นอีกโรงที่เก่าแก่มีมานาน ตั้งอยู่บนถนนท่าเมือง ภายหลังเลิกกิจการไปกลายเป็นร้านขายของเล่น
โรงภาพยนต์พฤตินันท์ เป็นโรงหนังที่ทันสมัยมากๆในยุคที่สร้างขึ้น เป็นตัวตึกโรงหนังที่มีขนาดใหญ่โอ่โถง มีลานจอดรถชั้นใต้ดิน รู้สึกใกล้ชิดกับโรงนี้เพราะมีบ้านเพื่อนแม่เดิมชื่อ พิทักษ์ค้าไม้ตั้งอยู่ข้างๆโรง เมื่อก่อนต้องไปบ้านนี้เป็นประจำ และโรงพฤตินันท์เป็นโรงที่ใช้คนของโรงหนังสวัสดิ์ไปดูแลในช่วงต้น
โรงหนังสวัสดิ์เป็นโรงหนังใหญ่ มีสองชั้น ชั้นบนสามารถขึ้นบันไดจากหน้าโรงได้เลย จึงต้องมีคนเฝ้าประตูสองคน มองจากด้านหน้าจะมีป้ายชื่อหนังที่กำลังฉายวันนี้ติดเป็นตัวอักษรแขวนกับป้ายขาวอยู่สูงขึ้นไป ส่วนป้ายโฆษณาหนังจะมีสองป้ายด้านซ้ายและขวา เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ถ่ายแบบจากโปสเตอร์ เมื่อหันหน้าเข้าโรงหนังด้ายซ้ายจะเป็นร้านกาแฟของโกอุ้ย ขวามือจะเป็นร้านขายข้าวต้มของโกฮวดที่ขายเฉพาะช่วงกลางคืน
ร้านโกอุ้ยจะเป็นที่พึ่งพาตลอดเวลาเพราะเป็นร้ากาแฟ ขายเหล้าและบุหรี่ด้วย จำได้ว่าลุงเคยบอกให้ไปซื้อเหล้าทีละ 1 กั๊ก แล้วก็ใส่ถุงมา บ้านนี้เป็นบ้านเก่า คลับคล้ายคลับคลาว่าในบ้านจะมีบ่อน้ำบาดาลด้วย ความจริงสนิทกับบ้านนี้เพราะเป็นเพื่อนบ้านและลูกสาวเรียนอยู่ชั้นเดียวกันเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก อีกเรื่องที่จำได้คือหลังบ้านจะมีวงไพ่นกกระจอก ตั้งวงกันสนุกสนาน แปลกใจตัวเองที่เล่นไพ่นี้ไม่เป็นเพราะย่านนั้นมีวงไพ่เยอะมาก เด็กทุกคนเล่นไพ่เป็นแบบชำนาญกรีดไพ่กันสนุก คิดว่าตัวเองคงเห็นไพ่นกกระจอกเป็นไพ่คนแก่ก็เลยไม่เคยสนใจวิธีเล่นเลย
บ้านโกฮวดจะเป็นอีกแบบ บ้านนี้เป็นร้านทำอาหารขายช่วงกลางคืน กลางวันจึงเป็นช่วงพักผ่อนของโกฮวด ปกติจะเห็นแกช่วงบ่ายทำกับข้าวมากมายหลายอย่าง จะมีกะละมังใหญ่มากต้มจับฉ่ายน่ากินมาก แต่ของกินที่ชอบที่สุดคือหมูแดง บ้านนี้เป็นเพื่อนบ้านที่สนิทเช่นกันเพราะมีลูกหลานเยอะ ทั้งหญิงและชาย ลูกสาวคนเล็กบ้านนี้สวยมาก เป็นที่โปรดปรานของพี่ๆอย่างเรา เข้าไปขลุกในบ้านนี้บ่อย สมัยนั้นเล่นฟันดาบแบบนิยายกำลังภายในกันทีเดียว เพราะดูหนังกันตลอดเวลา มารู้สึกเอาตอนโตว่าบ้านนี้ก็เป็นที่สอนทำกับข้าวชั้นดี เห็นวิธีการเตรียมอาหารก็ที่นี่ วิธีการเฝาขาหมูด้วยเครื่องพ่นไฟแก๊สขนาดเล็ก
ลานหน้าโรงจะมีแผงกระจกตั้งขึ้นสองข้างหันเข้าหากัน ด้านล่างโล่งเดินลอดไปได้ เป็นแผงติดโปสเตอร์แนะนำโปรแกรมหนังสมัยก่อนจะมีคนมาตั้งแผงขายของพวกแหวน กำไลเป็นเพชรทองคริสตัลระยิบระยับ รู้สึกจะเป็นแขก ที่ขายตั๋วอยู่ทางขวามือ ประตูอยู่ตรงกลางเปิดเป็นบานเฟี้ยมได้เวลาที่หนังเลิกคนจะได้ออกมาง่ายๆ ถัดจากประตูไปทางซ้ายจะมีเก้าอี้ติดผนังเป็นม้านั่ง ถัดไปก็เป็นบันไดขึ้นชั้นสองเป็นบันได้สีดำ ถัดจากบันไดก็เป็นทางเดินด้านข้าง มีประตูอีกสองบานที่เปิดให้คนดูออกมาเมื่อหนังเลิก ถัดจากประตูจะเป็นสโลปลาดชันลงไปที่หลังโรงหนัง เป็นที่เล่นสเก๊ตผาดโผนของเด็กๆในยุคนั้น ซ้ายมือของสโลปเป็นเนินดินรกร้าง กลับมาที่หน้าโรงหนังถ้าเดินไปทางขวาก็มีทางเดินลงไปหลังโรงหนังเหมือนกัน จะไปทะลุที่ห้องวาดป้ายหนัง จะมีป้ายขนาดใหญ่ที่กำลังวาดอยู่วางไว้ (คนวาดชื่อโกเกื้อ เป็นคนวาดรูปสวยโดยไม่ได้ไปเรียนจากโรงเรียนศิลปะที่ไหน ภายหลังได้ย้ายไปทำงานโรงหนังสักรินทร์ แล้วต่อไปก็ได้ไปเปิดร้านที่หาดใหญ่และได้วาดภาพพุทธประวัติเป็นภาพติดผนังภายในโบสถ์ที่วัดหูแร่สวยงามมาก)
ภายในโรงหนังเมื่อเดินเข้าไปจะชนกับผ้าม่านสีแดงหนาและหนักมาก ตอนเด็กๆเคยเล่นม้วนตัวให้ผ้าห่อตัวจนมิด แล้ววิ่งม้วนตัวไปอีกด้านให้ผ้าคลายออก ไม่รู้สนุกยังไงเหมือนกัน เมื่อเดินเข้าไปจะมีห้องน้ำอยู่ทางซ้ายมือ มีแอ่งปูนสี่เหลี่ยมติดกระเบื้องเป็นที่เก็บน้ำ ไม่แน่ใจเรื่องจำนวนที่นั่งของที่นี่ แต่เข้าใจว่าจุได้หลายร้อยคน แถวที่นั่งจะเป็นเก้าอี้ไม้ติดกันเป็นพืดยาวสีดำ พนักจะพับอยู่ เมื่อนั่งลงก็จับพับลงมานั่ง ลุกขึ้นยืนเก้าอี้ก็จะดีดตัวกลับ เก้าอี้มีหลายแถวเข้าใจว่าตั้งแต่ ก-ฮ แยกส่วนเป็นซ้ายขวาและมีแถวว่างแบ่งตอนอยู่ตรงกลางโรง เวทีใหญ่มาก ดนตรีลูกทุ่งขึ้นไปเล่นได้เต็มวง จอฉายยาวมากๆเข้าใจว่าเป็นจอฉาย 70 มม. หลังจอจะเป็นที่โล่งมีหลังคาคลุมแล้วจะมีบันไดลงไปที่บริเวณหลังโรงหนังได้ บริเวณด้านหลังจอเวลามีวงดนตรีลูกทุ่งมาเล่นจะแออัดมาก
ชั้นบนเมื่อเดินขึ้นไปเลี้ยวขวาจะมีแถวเก้าอี้นั่งเรียงรายน่าจะประมาณสิบกว่าแถว เดินขึ้นไปที่ขั้นบนสุดจะเดินไปที่บริเวณคุมเครื่องฉาย โดยห้องแรกที่เจอจะเป็นห้องนักพากษ์ มีนักพากษ์สองคนชายหญิงพากษ์คู่กัน ที่ค่อนข้างสนิทคือคู่ของ จักรพันธ์-ลือลักษณ์ จะได้เข้าไปนั่งฟังเขาพากษ์อยู่ในห้องทีเดียว ห้องถัดไปจะเป็นตัวเครื่องฉาย มีพี่คุมเครื่องอยู่คนหนึ่งคอยฉายหนัง เมื่อก่อนเป็นใครก็จำไม่ได้ แต่ช่วงที่อายุราวสิบขวบจะเป็นพี่บ้านใกล้กันชื่อพี่หร่อง
ส่วนตัวมีความผูกพันกับโรงหนังสวัสดิ์มากๆเพราะเป็นเด็กที่มีบ้านอยู่หลังโรงหนัง ซืึ่งจะมีสิทธิ์พิเศษคือได้ดูหนังฟรี ดูมาตั้งแต่เล็กจนโต แม่เล่าให้ฟังว่า เวลาโรงเรียนเลิกบ่ายสามโมงแทนที่จะเดินเข้าบ้าน กลับสวัสดีคุณแม่หนึ่งครั้ง วางกระเป๋าเข้าไปในบ้านแล้ววิ่งไปดูหนัง ซึ่งตอนนั้นหนังจะฉายไปได้สักพัก(หนังฉายตอนบ่ายสองโมง) จะไม่ได้ดูหนังช่วงแรก ก็จะไปดูรอบค่ำแทนช่วงหนึ่งทุ่ม สรุปว่าได้ดูหนังจบเรื่องในวันเดียวกันแต่ดูตอนกลางจนจบเรื่องก่อน
ที่โรงหนังสวัสดิ์จะมีวงดนตรีลูกทุ่งมาเล่นเรื่อยๆ คงมีวงดังๆมากันหลายวง แต่ไม่รู้จักเลย เพราะไม่ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง และบางวงการแสดงก็ไม่เหมาะสมที่เด็กจะดู ที่บ้านจะมีนักร้องแวะเวียนเข้ามาหลายคนเพราะจะมาขอเข้าห้องน้ำที่บ้าน เคยมีรูปผ่องศรี วรนุชถ่ายรูปที่หน้าบ้านตอนที่มาเปิดการแสดง
การเขียนป้ายหนังเป็นเรื่องสนุกไม่แพ้กัน ความที่สนิทกับพี่ที่เขียนป้ายก็จะไปนั่งดูพี่เขาเขียนรูปทีละนานๆ เห็นว่าเขาจะตีตารางบนโปสเตอร์ แล้วขยายสเกลไปตีตารางบนแผ่นป้าย ป้ายขนาดใหญ่มากเพราะต้องติดที่หน้าโรงจะได้เห็นแต่ไกล พี่เขาจะต้องนั่งร้านวาดรูป แต่ละป้ายที่ใช้เสร็จไม่ได้ทิ้ง แต่จะมีการทาสีทับแล้วเขียนรูปหนังเรื่องต่อไป โรงที่พี่เขาวาดรูปจะมีแผ่นป้ายวางผิงผนังซ้อนๆกัน เมื่อวาดรูปเสร็จจะมีอีกงานที่พี่เขาต้องทำคือการขับรถแห่ เป็นรถโฆษณาโปรแกรมหนังที่เอาป้ายมาติดกับรถกระบะ เมื่อก่อนก็เป็นกระบะแบบรถนั่งของทางฝั่งอันดามันที่เป็นรถไม้ ระยะหลังเปลี่ยนเป็นรถกระบะธรรมดา
ขอเอาข้อมูลที่พูดถึงโรงหนังมาแปะ จะได้พอจำวันเวลาได้บ้างว่ามีอะไรตอนไหนค่ะ
http://news.sanook.com/economic/4/economic_265303.php
| ||
โดย ฐานเศรษฐกิจ วัน พฤหัสบดี ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551 04:47 น. |
No comments:
Post a Comment