http://kaekae.oas.psu.ac.th/rlej/include/getdoc.php?id=1106&article=384&mode=pdf
วัดท้าวโคตรเป็นวัดที่อยู่คู่นครศรีธรรมราชมานาน สมัยที่ฉันเริ่มมาอยู่ที่นครศรีธรรมราชก็ไม่ได้เห็นความพิเศษใดๆนอกจากเป็นวัดเก่าแห่งหนึ่ง มีตลาดตอนบ่ายที่มีของขายเยอะ มีขนมแบบเดิมๆให้เลือกซื้อหา ฉันมาสนใจวัดท้าวโคตรเพราะพ่อบอกว่าสมัยพ่อเด็กๆต้องมาเรียนหนังสือที่นครและได้พักที่วัดท้าวโคตรนี่เอง ความทรงจำของพ่อจึงเป็นภาพของวัดท้าวโคตรเมื่อ 70 ปีก่อน ตอนนั้นพ่อเข้ามาเรียนชั้น ม.1 - ม.3(แบบเก่า) ที่โรงเรียนวัดบูรณและโรงเรียนประจำจังหวัดชาย
พ่อบอกว่าโบสถ์หลังเก่าเป็นโบสถ์ทีพ่อคุ้นเคย ปัจจุบันข้างในมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นของมีมาแต่เดิม มีตู้เก็บของวางอยู่ทางซ้ายขององค์พระซึ่งพ่อบอกว่าแต่เดิมเป็นตู้หนังสือพระ ตัวโบสถ์ยังเหมือนเดิม แต่หลังคาคงบูรณะใหม่ ของเดิมเป็นหลังคาสีดำๆ ฉันพยายามถามว่าเมื่อก่อนจะเดินขึ้นโบสถ์อย่างไรเพราะจะเห็นว่าโบสถ์ตั้งอยู่บนเนิน พ่อบอกว่าจำไม่ได้ แต่ไม่รู้สึกว่าต้องขึ้นบันไดเหมือนปัจจุบัน อาจจะเป็นเนินลาดขึ้นเฉยๆ ในความทรงจำของพ่อโบสถ์อยู่ไกลจากถนนมาก เทียบกับปัจจุบันที่อยู่ชิดถนน ก็ต้องเดาว่าเดิมถนนมีขนาดเล็ก และตัวถนนอาจจะอยู่ชิดไปอีกด้านหนึ่งไม่ได้ชิดด้านวัดขนาดนี้
ภายในโบสถ์หลังเก่า พระพุทธรูปปูนปั้น หลังชิดขอบผนัง มีค้างคาวมาอยู่บนเพดานเต็มไปหมด
กุฏิหลังที่พ่อเคยอยู่ ตอนนี้เป็นกุฏิเจ้าอาวาสที่ก่อสร้างใหม่แล้ว ของเดิมจะเป็นคล้ายกับกุฏิข้างๆคือเป็นไม้ มีบันไดปูน หลังที่ยังเหลืออยู่สภาพทรุดโทรมมากแล้ว พ่อบอกว่าหอฉันยังอยู่ที่เดิม
กุฏิเจ้าอาวาสปัจจุบัน
กุฏิเดิมที่ยังไม่เปลี่ยนสภาพ แต่ทรุดโทรมมากแล้ว
ต้นมะขามข้างโบสถ์ยังเป็นต้นเก่าแต่เดิม สมัยพ่ออยู่ก็ต้นใหญ่อย่างนี้อยู่แล้ว พ่อยังมีแผลเป็นที่บนคิ้วขวาเป็นรอยที่เคยเล่นโยนขวดแก้วเล็กๆกับเพื่อแล้วหล่นมาโดนคิ้วแตก
โบสถ์หลังใหม่ อยู่ด้านหลังโบสถ์เดิม ต้นมะขามที่คุณพ่อเคยมาเล่นก็ยังอยู่ดี
บริเวณที่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนชุบธรรม เดิมเคยมีต้นบุนนาคใหญ่ ตอนนี้ไม่มีร่อยรอย แต่ต้นมะพร้าวแถวนั้นยังเป็นของเดิม พ่อบอกว่าหน้าวัดกับข้างวัดมีต้นมะพร้าวและมีรั้วลวดหนามล้อมอาณาเขตวัด พ่อจำได้ถึงขนาดว่าสมัยก่อนเคยมีคนที่อยู่ข้างวัดที่รุกที่วัดเสียเฉยๆ
ตลาดท้าวโคตรที่คึกคักในปัจจุบัน แต่เดิมก็ไม่มี แถบนี้จะเป็นกุฏิ เป็นฐานพระ ส่วนวัดชายนา แต่เดิมถือเป็นวัดเดียวกันกับวัดท้าวโคตร เหมือนกับเป็นการแยกส่วนวัดที่เป็นที่ทำกิจกรรมกับส่วนที่มีการวิปัสสนา ที่วัดชายนาเดิมเรียกว่า วัดส่วนปัน
เมื่อต้นเดือนมกราคม ฉันพาแม่มาทำสังฆทานที่นี่ เพิ่งเห็นว่าที่วัดมีวัตถุมงคลด้วย ฉลองวัดท้าวโคตร 750 ปี เก่าแก่มากทีเดียว เป็นพระผงอัดเป็นแว่น รูปหลวงพ่อดำซึ่งพ่อบอกว่าเป็นอาจารย์ของพ่อเอง ก็แปลกดีพ่อเคารพอาจารย์แต่ก็ไม่ได้เช่าเหรียญมาบูชา อาจารย์ของพ่อในความทรงจำคงชัดเจนกว่าที่เหรียญจะให้ภาพได้ พี่สาวฉันเพิ่งได้ที่วัดสัปดาห์ก่อน เช่าเหรียญมาแล้วเรียบร้อย เพราะสำหรับเรา นี่เป็นเหรียญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพ่อของเรามากกว่าจะถือความขลังของเหรียญ ( เพิ่ม: ช่วงปลายเดือนเมษายนได้ไปเช่าหลวงพ่อดำมาเพิ่ม ทางวัดบอกว่ากำลังจะจัดทำจตุคามเหมือนกัน เรียกว่าตามกระแสกันทัน)
พ่อเล่าให้ฟังว่ากิจกรรมของเด็กที่มาเรียนหนังสือสมัยก่อนก็ต้องช่วยทำงานในวัดเช่นกัน ในวัดจะมีทั้งเด็กวัดชนิดอยู่วัดจริงๆและเด็กที่อยู่วัดเพื่อมาเรียนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ ตอนเช้าต้องตื่นแต่เช้า เอาชั้นไปวางตามบ้านที่เขาจะทำอาหารไว้ใส่ชั้นตักบาตร ไปวางบ้านละชั้นแล้วตามเก็บจนครบ เอากลับมาที่วัด จัดให้พระ รอกินข้าวแล้วตัวเองก็ไปโรงเรียน สมัยนั้นวัดท้าวโคตรก็ต้องถือว่าไกลโรงเรียนพอควร พ่อมีจักรยานคันหนึ่งไว้ถีบไปโรงเรียน เมืองนครยุคนั้นห่างไกลกันมากกับสมัยนี้
ครั้งล่าสุดที่ขับรถผ่านวัดกับพ่อ พ่อยังชี้ให้ดูบ้าน 2 หลังหน้าวัดที่เคยมาวางชั้นปิ่นโต ยังคงสภาพอยู่เหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนเป็นร้านค้า ถ้าเจ้าของเขาใจเป็นกุศล ตักบาตรทุกวันมาตั้งแต่สมัยโน้น ลูกหลานเขาคงได้ส่วนบุญกันถ้วนหน้า
No comments:
Post a Comment