Wednesday, August 23, 2006

ไปถีบจักรยานเล่นกันเถอะ

ไปถีบจักรยานเล่นกันเถอะ.... อยู่ดีๆก็มีคนมาชวน คงจะเห็นว่าชีวิตตอนนี้คล้ายงูเหลือมไปทุกขณะ กินและนอนอืด ลำตัวอวบอ้วน.... ก็ได้ค่ะ...ไปก็ไป

จักรยานยางแบน.... คงนึกภาพออกว่ามันถูกทิ้งไว้นานแค่ไหน นอกจากยางจะแบนแล้วยังมีหยากไย่ติดอยู่ให้รู้ว่าไม่มีใครมาสนใจใยดี ก็ต้องสูบลมยาง เช็ดๆถูๆรถ และเนื่องจากเรามีสมาชิก 2 คนแต่มีรถคันเดียว ก็ต้องไปยืมรถของน้องอีกคนมาถีบ (ซึ่งรถก็มีสภาพเดียวกัน เป็นค่านิยมของคนแถวนี้จริงๆ)

เราถีบจักรยานจากหอพักไปทางหลังมอ ผ่านเรือนพักรับรอง ไปทางหอพักนักศึกษา ไปจอดรถจุดแรกที่ 7-11 ซื้อฮอทด็อกมา 2 ชิ้น ซาลาเปาอีก 4 ใบ น้ำดื่ม เพื่อความแน่ใจว่าจะไม่อดหยากระหว่างทาง

ถีบจักรยานต่อ... ผ่านอาคารไทยบุรี ผ่านโค้งเข้าสู่วงเวียน เลี้ยวซ้ายก่อนถึงวงเวียนไปทางทะเลสาบ ไม่ซิ...เราเรียกว่า "เล้ค" ฟังดูดีกว่าตั้งเยอะ ดวงอาทิตย์จะอยู่ด้านหลัง แดดช่วง 5 โมงเย็นเศษส่องหลังอุ่นสบาย ต่างกันลิบลับกับหันหน้าหาดวงอาทิตย์ หญ้าที่เคยเขียวๆตอนนี้เป็นสีทอง มองไปข้างหน้าเป็นทะเลสาบสะท้อนแสงท้องฟ้า น่าดูมาก ต้นอินทผาลัม 4-5 ต้นที่เคยเห็นเขาเพิ่งเอามาลงอยู่เหมือนจะไม่นาน ตอนนี้ยืนต้นสวยงาม ต้นไทรเตี้ยที่แผ่กิ่งรูปทรงสวยอยู่ใกล้ๆศาลาพักยังดูร่มรื่น อากาศก็ดี อะไรๆก็ดูดีไปหมด มีเสียงแตรรถยนต์บีบเรียก หันไปดู ประชาชนกลุ่มเราอีก 4 คนกำลังขับรถเข้าเมือง ก็เย็นวันเสาร์นะ ไม่รู้จะทำอะไรดี ถีบจักรยานตามทางต่อ ต้นไม้ที่ปลูกริมเล้คพวกกระถินเทพา ที่เมื่อ 2-3 ปีก่อนต้นยังเล็กๆ ตอนนี้สูงเป็นเสาไฟฟ้า ทำให้ริมเล้คดูมีชีวิตชีวาดี จุดนี้จะเป็นจุดที่ชมวิวสวยที่สุด(ตามที่พวกเราเคยเลือกจุดนี้เป็นที่ปิคนิคกัน) ถีบรถต่อไปถึงสะพานเล็กๆ เป็นสะพานเก่าตั้งแต่ก่อนก่อสร้างมหาวิทยาลัย ตอนนี้ไม่ได้ใช้เป็นถนนจริง ลดสภาพเป็นทางเลนจักรยานที่สวยงามอีกจุด เชิงสะพานมีต้นจิกน้ำ ช่วงนี้ดอกที่ออกเป็นสายร่วงหมดแล้วกลายเป็นผลเล็กๆรูปทรงสวยติดกันเป็นสาย จะเก็บมาฝากน้องเพะ(น้องที่ทำงาน) ก็ถูกห้ามบอกว่ามันคัน ...ก็ได้

ถีบจักรยานต่อ...ไปถึงศาลาสุดท้ายสุดทางพอดี มีต้นจามจุรีขึ้นเรียงรายกันหลายต้น อีกหลายๆปีที่นี่คงเป็นลานจามจุรีที่ร่มรื่นมาก จากจุดนี้จะมองกลับไปทางมหาวิทยาลัยได้สวยงามอีกจุด แต่แดดยังแรงอยู่มากก็ต้องพยายามอยู่กันในร่ม ศาลานี้ดูดีเสียแต่ว่ามีคนมือซนไปเขียนกลอนหยาบๆบนเสา แย่จังเลย....:-(

ริมศาลามีต้นหว้าเล็กๆ เอายอดไปกินได้ ตรงหล่มเล็กๆบริเวณนั้นก็มีผักบุ้งขึ้นงาม กินได้อีกแล้ว คิดถึงเรื่องกินๆเราก็เลยกลับไปจอดรถที่สะพาน แวะกินฮอทด็อก จุดนี้คงเป็นที่นิยมแวะมากินของเหมือนกัน เพราะมีซากเปลือกหอยโข่งตัวโตๆอยู่หลายตัว แถบนี้ช่วงน้ำหลาก น้ำจะเต็ม มองไปจะเห็นต้นไม้ใบโกร๋น มีนกมาเกาะดูสวยแบบเหงาๆ แต่ตอนนี้ต้นไม้ขึ้นกันเต็ม สวยแบบมีชีวิตชีวา กินเสร็จ ล้างมือล้างไม้ ถีบจักรยานต่อกลับทางเดิม เจอต้นกระเพราแดงริมทาง(กินได้อีกแล้ว) ไม่นึกเลยว่าแถวนี้จะมีต้นอะไรต่ออะไรอยู่เยอะแยะ ถ้ารู้จักหาท่าทางจะอยู่ได้โดยไม่อด

ถีบรถกลับผ่านวงเวียนไปทางสโมสร แต่เลี้ยวซ้ายแยกไปทางเข้าวัดแสงแรง 6 โมงกว่าๆได้เวลาพอดี กะจะไปดูนกยางควายกลับรัง ระหว่างทางแวะไปดูไซต์งานเก่าตอนนี้เป็นที่ทิ้งขยะ มีต้นกระเพราเต็มไปหมด มีต้นยอป่ากำลังออกลูก เก็บมาดู สวยดู ได้ข่าวว่ากินได้ด้วย แล้วเลี้ยวเข้าวัดแสงแรง ไม่ได้แวะเพราะมีหมาเห่าเต็มไปหมด ถีบรถออกมาอีกทาง เลี้ยวขวาขึ้นบนถนนหลัก ซ้ายมือจะเป็นแอ่งทุ่งหญ้าอุ้มน้ำที่มีนกมาหากิน เคยมาดูนกที่นี่ ช่วงนกเยอะๆ เวลามันบินขึ้นบินลงเป็นฝูง จะเป็นภาพที่สวยมาก มองไปไกลๆจะเป็นวิวเทือกเขาหลวง วันที่อากาศเป็นใจ จะเห็นสีสันภูเขาและท้องฟ้าเป็นสีชมพู ฟ้าหม่น สวยมากๆๆๆ และช่วงเย็นๆอย่างนี้นกยางควายสีขาวจะบินกลับรังทีละฝูงๆ ไปเกาะต้นไม้ที่วัดแสงแรงหลายร้อยตัว น่าดีใจที่มันมีที่อยู่ที่สงบเพราะเป็นเขตวัด ไม่มีใครทำอะไรมัน

ถีบจักรยานต่อ...ระหว่างทางเก็บต้นหญ้าเข็ดมอญมาปลูกต้นนึง ทรงสวยดี ต้นเป็นยา ( และเคยเห็นเขาใช้เป็นส่วนผสมทำพระเครื่องด้วย) เริ่มค่ำแล้ว กลับบ้านดีกว่า....

ถีบจักรยานรอบหนึ่ง เห็นอะไรเยอะแยะ เจออะไรดีๆเยอะ เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายดีอีกต่างหาก ก็ยังสงสัยตัวเองอยู่ว่าแล้วทำไมไม่ได้ไปถีบจักรยานบ่อยๆน้า.....

การประเมินคุณภาพสถานศึกษาระดับอุดมศึกษารอบที่ 2


ความที่เป็นผู้ประเมินภายนอกของสมศ.อยู่ในปัจจุบัน ส่วนตัวก็มีความสนใจกับการประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นทุนอยู่แล้ว แต่สถานภาพเป็นผู้ประเมินถึงแม้จะปวดหัวอยู่บ้างก็ยังนับว่าทำงานง่ายเพราะเป็นการไปดูสภาพจริง ขอแต่ให้ละเอียด ยุติธรรมและใช้วิจารณญานการประเมินก็จะออกมาในแบบที่ทุกคนยอมรับผลการประเมินได้

วันนี้สถานภาพกลับกันเพราะมหาวิทยาลัยที่สังกัดอยู่กำลังจะถูกประเมิน อีกทั้งตัวเองก็อยู่ในคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักวิชา มีงานต้องเตรียมเยอะแยะจนรู้ซึ้งว่าเวลาที่ถูกประเมินมีสภาพอย่างไร

โดยหลักการประเมินทั่วไปไม่แตกต่างกันมากระหว่างการประเมินระดับการศึกษาพื้นฐานและอุดมศึกษา ต่างแต่เกณฑ์การประเมิน แต่สิ่งที่เห็นชัดถึงความแตกต่างคือการมีส่วนร่วมในการประเมิน ถ้าเป็นระดับโรงเรียนการประเมินลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรับทราบ และต้องเตรียมการ ในขณะที่ระดับอุดมศึกษา(เท่าที่เห็นการปฏิบัติงานจริงที่นี่)จะมีเฉพาะคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้เตรียม คนอื่นๆแทบจะไม่รู้ว่ามีการทำอะไรกันอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้ข้อมูลและขอความมีส่วนร่วมจากทุกคนมากกว่านี้

สมศ.จะมาประเมินมหาวิทยาลัยช่วงวันที่ 4-6 กันยายน 2549 แต่ละสำนักวิชาต้องเตรียมการให้เสร็จออกมาเป็นรูปเล่มเอกสารการประเมินในวันที่ 23 สิงหาคม 2549(ซึ่งก็คือวันนี้ แต่ยังเห็นว่าส่วนใหญ่ยังทำงานกันอยู่ คิดในแง่ดีว่าจะเสร็จภายในวันนี้ก่อนเที่ยงคืน)

ที่นี่มีการจัดเตรียมข้อมูลโดยจัดทำรายงานประจำปีเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของปีการศึกษา 2547 และปีการศึกษา 2548 ( เพราะได้รับการประเมินรอบแรกไปเมื่อปี 2546) แบ่งการประเมินออกเป็นองค์ประกอบต่างๆ 9 องค์ประกอบ คือ
องค์ประกอบที่ 1 ปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ วัตถุประสงค์ และแผนงาน
องค์ประกอบที่ 2 การบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอน
องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมพัฒนานักศึกษา
องค์ประกอบที่ 4 การวิจัยและงานสร้างสรรค์
องค์ประกอบที่ 5 การบริการวิชาการแก่สังคม
องค์ประกอบที่ 6 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
องค์ประกอบที่ 7 การบริหารจัดการ และพัฒนาองค์การ
องค์ประกอบที่ 8 ศักยภาพด้านการเงินและงบประมาณ
องค์ประกอบที่ 9 ระบบและกลไกประกันคุณภาพ
ในขณะที่ สมศ.จะมาประเมินด้วยมาตรฐาน 7 มาตรฐานคือ
1. มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต
2. มาตรฐานด้านงานวิจัยและสร้างสรรค์
3. มาตรฐานด้านการบริการวิชาการ
4. มาตรฐานด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
5. มาตรฐานด้านการพัฒนาสถาบันและบุคลากร
6. มาตรฐานด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน
7. มาตรฐานด้านการประกันคุณภาพ

ถ้าเปรียบเทียบกับการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับโรงเรียน มาตรฐานที่แตกต่างกันนี้เป็นลักษณะเดียวกับที่โรงเรียนต้องทำตามมาตรฐานสปฐ. 18 มาตรฐาน ในขณะที่สมศ.จะประเมินด้วยมาตรฐานจำนวน 14 มาตรฐาน ที่ส่วนใหญ่คล้ายกันแต่ก็มีบางส่วนที่ต่างกัน และพบว่าถ้าโรงเรียนที่เตรียมพร้อมจริงๆจะต้องเตรียมข้อมูลทั้ง 2 แบบ ซึ่งถ้าเตรียมการดีก็ไม่มีปัญหาเพราะตัวบ่งชี้มีส่วนคล้าย แต่ถ้าไม่เตรียมไว้ก็จะเจอปัญหากับตัวที่ไม่เหมือนว่าต้องมาควานหาหลักฐานกันในวันประเมิน

สำหรับที่นี่ก็ยังห่วงอยู่ว่าในเมื่อผู้เตรียมจัดเตรียมตามแบบมาตรฐานหนึ่งแต่มาถูกประเมินด้วยมาตรฐานอีกลักษณะหนึ่ง ถ้าไม่เตรียมข้อมูลไว้ก่อนก็จะยุ่งยากพอควร หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องเตรียมทำการประเมินมากมาย บางองค์ประกอบต้องใช้ข้อมูลลงรายละเอียดมาก เสียเวลาในการจัดหาโดยไม่ได้ใช้เพื่อการปหระเมินของสมศ. (แต่ก็เข้าใจเช่นกันว่าการประเมินนี้เป็นลักษณะการประกันคุณภาพภายในซึ่งต้องให้ สมศ.เห็นด้วยว่าเรามีการประกันคุณภาพอย่างไร แต่เราสามารถใช้มาตรฐานเดียวกับสมศ.ได้ จะลดข้อยุ่งยากลงได้มาก)

ต้องขออธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าการประเมินรอบที่ 2 มีความสำคัญเพราะเป็นการประเมินออกมาว่าได้รับการรับรองมาตรฐานหรือไม่ คือผลจะออกมาว่าได้หรือไม่ได้ เพราะฉะนั้นสถานศึกษาแต่ละแห่งต้องทำสุดความสามารถเพื่อให้ได้รับการรับรอง ลองคิดสภาพโรงเรียนหนึ่งที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ทั้งภาพพจน์ ความเชื่อถือ ขวัญและกำลังใจในการทำงาน (ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาที่มีการประเมินรอบสอง มีโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่ยอมรับผลการประเมินของผู้ประเมินภายนอก เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต)

ระดับอุดมศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกันคือต้องได้รับการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐาน แต่ความที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีจุดเน้นของพันธกิจที่ต่างกันจึงมีการแบ่งว่าเป็นกลุ่มสถาบันแบบไหนใน 4 กลุ่มนี้คือ

1. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย
2. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม
3. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม
4. กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิต

ซึ่งมีข้อแตกต่างกันในการกำหนดค่าน้ำหนักเพื่อการประเมินในด้านต่างๆ 4 ด้าน ของที่นี่เลือกเป็นกลุ่มสถาบันแบบที่ 2 คือ กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม โดยให้ค่าคะแนน 4 ด้านเป็น ด้านคุณภาพบัณฑิต 35 คะแนน ด้านงานวิจัยและสร้างสรรค์ 25 คะแนน ด้านบริการวิชาการ 30 คะแนน และด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 10 คะแนน


รอดูผลกันวันที่ 6 กันยายน 2549 ก็แล้วกัน