ในฐานะคนที่อยู่ในวงการศึกษาระดับอุดมศึกษา ถ้าพูดถึงสมศ.สัก 4 เดือนที่แล้ว ยังคงส่ายหัวบอกว่าไม่รู้จัก ตอนนี้รู้จัก สมศ. เป็นอย่างดี ถึงเพิ่งจะรู้ตัวว่าน่าอายที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนทั้งๆที่มีความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาของเมืองไทยเป็นอย่างมาก
สมศ. เป็นชื่อย่อของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
พูดแบบง่ายๆคือ ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีแนวคิดในการปฏิรูปการเรียนรู้ มีปัญหาขึ้นมาว่าทำอย่างไรจึงจะประเมินคุณภาพของสถานศึกษาได้ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนจริง วิธีแก้ปัญหาคือจัดตั้งหน่วยงานมาคอยดูแลประเมินผล สมศ.ถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้
โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีอยู่สามหมื่นกว่าโรงเรียน สมศ.ไม่สามารถทำการประเมินผลได้ทั่วถึงและทันเวลาโดยการทำงานเพียงองค์กรเดียว จึงยอมให้มีผู้ประเมินภายนอกที่ต้องผ่านการอบรมและสอบผ่านได้เป็นผู้ประเมินภายนอก โดยต้องสังกัดหน่วยประเมินใดหน่วยหนึ่งเป็นผู้ประเมินแทน แม้แต่ในขณะนี้ (23 มีนาคม 2548) ได้ข่าวว่ายังเหลือโรงเรียนที่ยังไม่ได้ทำการประเมินอีกประมาณหมื่นโรงเรียน งานนี้คงต้องรีบกันมากว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่
ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเริ่มจากความสนใจในกระบวนการเรียนรู้ และในที่ทำงานเป็นหน่วยฝึกอบรมผู้ประเมินด้วย ทีแรกขอเข้าไปสังเกตการณ์เป็นผู้ช่วยของวิทยากรพี่เลี้ยง วันแรกที่เข้าร่วม ทราบว่าทาง สมศ. ยอมให้สมัครเพิ่มในวันนั้นได้ ก็สมัครเข้าร่วมทันที ได้หมายเลข 099 เป็นคนสุดท้ายของรุ่น และเข้าไปร่วมกลุ่มกับกลุ่ม 7 ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 11 คน การฝึกอบรมใช้เวลา 7 วันเต็มตั้งแต่วันที่ 14-20 มกราคม 2548 ฟังการบรรยายทั้งวัน 3 วัน และมีการสอบข้อสอบปรนัย 1 ชุด หลังจากนั้นไปลงพื้นที่จริง ทางกลุ่มไปที่โรงเรียนท้าวราษฎร์สงเคราะห์ ไปสังเกตการณ์และหาข้อมูล 3 วันเต็ม อีกวันหนึ่งมาทำการสรุปและเขียนรายงาน และสอบข้อเขียนตอนเย็น ใจพะวักพะวน จะสอบก็อยากอ่านหนังสือแต่ก็กลัวจะเขียนรายงานไม่ทัน ดูๆแล้วเหมือนจะเขียนไม่ทันกันทุกกลุ่ม ต้องทำต่อกันอีกวันหนึ่ง มีกำหนดการส่งภายในวันศุกร์ที่ 21 มกราคม ทำกันเต็มที่ งานนี้เห็นน้ำใจกันชัดเจนว่าใครทุ่มเทกับงานแค่ไหน โชคดีที่ในกลุ่มช่วยเหลือกันดี คนที่มีธุระไม่สามารถอยู่ได้จริงๆก็มีคนช่วยเหลือจนงานสำเร็จออกมาได้ เป็นการอบรมที่เครียดพอดู
อบรมเสร็จรอลุ้นกันอีกว่าจะสอบผ่านหรือไม่ มีการปลอบใจจากคณะวิทยากรว่าถ้าสอบไม่ผ่านเขาให้ไปสอบแก้ตัวที่จุฬาฯ ก็เลยมีการแซวกันเป็นที่รื่นเริงว่างานต่อไปไปเจอกันที่จุฬาฯ ผลการสอบมาประกาศในวันที่ 17 มีนาคม 2548 รุ่นนี้ทั้งหมด 99 คน สอบผ่าน 44 คน และมีรายชื่อให้ไปสอบเทียบอีก 29 คน กลุ่มของเราสอบผ่าน 3 คน และไปสอบเทียบ 3 คน นับแล้วประสบผลสำเร็จประมาณ 50 กว่าเปอร์เซนต์
หลังจากสอบผ่าน ต้องนำตัวไปเข้าสังกัดของหน่วยประเมินใดหน่วยหนึ่ง ได้ตามพี่ในกลุ่มไปเข้าสังกัดบริษัทในจังหวัด ทางบริษัทจะดำเนินการขอบัตรประจำตัวให้ จากนั้นจะมีการปฐมนิเทศ แล้วจึงออกไปทำการประเมินสถานศึกษา (ต้องหมายเหตุว่าการไปทำการประเมิน ต้องได้รับการอนุญาตจากต้นสังกัดเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถือว่าการออกไปประเมินเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อช่วยเรื่องการศึกษา แต่ต่อๆมาเนื่องจากงานนี้มีรายได้เป็นตัวเงินด้วย และการออกไปทำงานต้องลางานปกติไป จึงไม่รับทำบ่อยนัก เต็มที่ก็จะทำประมาณสองโรงเรียนต่อภาคการศึกษา และในที่สุดเมื่อถึงช่วงต้องต่ออายุใบอนุญาตก็เลยไม่ต่ออีกต่อไป)
งานนี้เป็นงานที่น่าสนุกและเป็นประโยชน์กับการศึกษาไทย อยากเห็นสถานศึกษามีคุณภาพ ผลิตนักเรียนที่มีความสามารถ เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา เราจะได้ช่วยกันส่งเสริมให้มีคนดีๆออกมาช่วยกันต่อไปในอนาคต
No comments:
Post a Comment