ที่ทำงานที่นี่มีการจัดอบรมเรื่อง "การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ" ได้ขอเข้ารับการอบรมด้วยเป็นรุ่นที่ 2 เพราะสนใจเทคนิคนี้มานานแล้วแต่คิดมาเสมอว่ามันต้องยุ่งยากมาก อาศัยการฝึกอบรมเทคนิดพิเศษถึงจะทำได้ ครั้งนี้เขาประกาศว่าผู้เข้ารับการอบรมมีพื้นความรู้ม.3ก็เพียงพอ แสดงว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาใกล้ชีวิตคนปกติมาก รุ่นที่ไปนี้เป็นรุ่นวันที่ 8-10 กันยายน 2547 อาจารย์ผู้สอนคือ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด ซึ่งให้ความรู้ดีมาก อธิบายเข้าใจง่ายและเป็นภาษาที่ไม่เทคนิคมากเกินไป
เนื้อหาที่เรียนคือ ทฤษฎีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นจะเป็นการแนะนำวิธีการทำงานในห้องปฏิบัติการตั้งแต่การใช้อุปกรณ์ในตู้ปลอดเชื้อขั้นพื้นฐาน การใช้หม้อนึ่งความดัน การเตรียมวุ้นอาหาร ต่อในวันที่สองด้วยการฝึกปฏิบัติเตรียมฝักกล้วยไม้ การเพาะเมล็ด การย้ายเลี้ยงโปรโตคอร์ม วันสุดท้ายเป็นการย้ายต้นอ่อน การอนุบาลต้นกล้า ทั้งนี้เน้นให้ได้ทำงานกันจริงๆ และเมื่อสิ้นสุดการอบรมแต่ละคนจะได้ต้นไม้ที่ทำการแยกออกมาในตู้ปลอดเชื้อไปเลี้ยงดูฝีมือตัวเองคนละ 2 ขวด และได้ต้นกล้าอีกจำนวนหนึ่ง
ที่โปรยหัวไว้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายหนึ่งให้ชุมชนคีรีวงซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในชุมชนจริงๆ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้จึงได้ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในราคาที่ชุมชนสามารถจัดหาได้ด้วย จากตู้ปลอดเชื้อที่ราคาเป็นแสน เราสามารถสร้างเองได้ในราคาตู้ละ14,000 บาท เครื่องนึ่งฆ่าเชื้ออุปกรณ์แบบตั้งค่าได้และให้ทำงานอัตโนมัติที่เรียกกันว่า ออโตเคลฟ ราคา 150,000 บาท ก็สามารถใช้เป็นหม้อนึ่งที่ปรับความดันโดยการปรับปริมาณแก๊สราคา 18,000 บาท อุปกรณ์ที่ใช้ในตู้ปลอดเชื้ออาจารย์ก็ได้แสดงให้เห็นว่าถ้าสามารถไปจ้างทำเองชนิดไม่ซื้อก็สามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่าและใช้งานได้ดีเช่นกัน นอกจากนั้นโครงการนี้ยังตั้งใจจะเป็นพี่เลี้ยงให้คนในชุมชนได้ร่วมมือกันแล้วสร้างงานต่อโดยการให้ไปสร้างโรงเรือนเองแทนที่จะไปขอทุนทำการวิจัยมาทั้งหมด ซึ่งนั่นจะเป็นการสร้างให้ชุมชนกระตือรืนร้นและมีส่วนร่วม มีความเป็นเจ้าของ โดยส่วนตัวเห็นว่าโครงการแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านจริงๆ และทำให้เทคโนโลยีซับซ้อนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับก็ขึ้นกับจะหาแนวทางธุรกิจอย่างไรต่อไป เช่น ขยายพันธุ์พืชที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ซึ่งมีอยู่ในเทือกเขาหลวงเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ต้นไม้ หรือทำการเพาะพันธุ์ต้นไม้ขายก็แล้วแต่จะหาวิธีกันไป
No comments:
Post a Comment