Wednesday, March 02, 2022

บ้านหยี่ที่ห้วยยอด



ทุกครั้งที่ได้ไปห้วยยอดเราจะอบอุ่นใจมากๆ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาเนื่องจากมีธุระต้องมาประชุมที่ตรัง เราก็ถือโอกาสแวะที่ห้วยยอดไปพบพี่กิจ คุณพี่สาวลูกคุณป้าที่บ้าน บ้านเราเรียกคุณป้าว่า “หยี่” เพราะเราเป็นเชื้อสายจีนแคะ

🙂
บ้านหยี่เป็นตึกแถวกลางเมืองบนถนนเส้นหลักของห้วยยอด เป็นตึกสองชั้นยาวมากค่ะ ยาว 42 เมตร ส่วนประวัติครอบครัว เราไม่ค่อยรู้อะไรมาก แต่คิดว่าควรบันทึกเก็บไว้เผื่อให้ลูกหลานได้รู้ ก็เลยถามพี่กิจ และพบว่าจริงๆมีอะไรที่เราไม่รู้เกี่ยวกับครอบครัวมากเลย
เรื่องมันยาวค่ะ ไปเอาข้อเขียนของคุณพี่สาวที่เล่าให้ฟังในไลน์ครอบครัวมาแปะแทนดีกว่า ยังไงเราก็มีประวัติเดียวกัน 🙂
__________________________________
วันนี้(เสาร์ 26 กพ.65) ออกจากบ้านราวๆ 8.30 น. มุ่งหน้าไปตรัง ประมาณ 10 โมงถึงบ้านห้วยยอด บ้านเลขที่ 278 ร้านเรืองเขต (เดิม 104 ร้านเรืองเขต) เป็นบ้านที่แม่เกิด อายุร้อยกว่าปีแล้ว
อากุง (พ่อของแม่) ชื่อ ลิ้มฉิ้น แซ่ลิ้ม เป็นจีนแคะ เกิดปี 2421 มาจากเมืองจีนพร้อมคนที่มาจากเมืองจีนด้วยกันและอยู่ด้วยกันที่บ้านนี้ จนจากไปที่ชื่อถ่ามสุก (พี่กิจไม่เคยเห็นหน้า แต่ไหว้ตอนเช็งเม้งทุกปี เพราะหลุมอยู่ใกล้ๆกัน)
อาผ่อ ชื่อ นางเสี่ยน แซ่ลิ้ม(สกุลเดิม จางวาง) พ่อของอาผ่อเป็นกำนันตำบลทับเที่ยง น้องชายของอาผ่อเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกันตังคนแรกชื่อนายยาว จางวาง อาผ่อเป็นลูกคนที่ 2 ของกำนันชก จางวาง จากทั้งหมด 4 คน
อากุงมีภรรยาก่อนหน้าอาผ่อของเรา แต่ตายตั้งแต่ยังสาว มีลูกสองคนคือ ถาหยี่ท่าย กับถาหยี่เหลี่ยน อาผ่อเสี่ยนเลี้ยงมาทั้งสองคน
ตัวอาผ่อเสี่ยนเองมีลูก 6 คน คือ ถาหยี่ขุง หยี่กีหล่าน หยี่กียิ่น กิ้วหลิ่น(เป็นอหิวาตกโรคตาย) หยี่กีติ้ง(แม่เรา) และกิ๊วเสื่อง น้องชายของแม่ที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯแล้วมาเป็นตำรวจ น่าเสียดายที่เสียไปตั้งแต่ยังหนุ่ม(ตอนเราอายุประมาณ 3 ขวบเศษ)
อากุงมีอาชีพทำเหมือง(เหมืองรู... หน้าตายังไงไม่รู้) ซึ่งก็น่าจะมีฐานะดีพอสมควร จึงสามารถแต่งงานกับลูกสาวกำนันตำบลทับเที่ยงได้ และมาอยู่ด้วยกันที่ห้วยยอด
แต่ต่อมาธุรกิจล้มเหลว ฐานะแย่ลง แล้วอากุง อาผ่อก็จากไปตั้งแต่ลูกยังเล็ก อาผ่ออายุเพียง 42 ปี ลูกๆต้องทำมาหากินเลี้ยงดูกันเอง ถาหยี่ขุงแต่งงานออกไปแล้ว และย้ายไปอยู่ที่คลองจัง อำเภอนาบอน หยี่กีหล่านเป็นสาวงามแต่ไม่ยอมแต่งออก เพราะต้องเลี้ยงดูน้องๆ แม่เคยเล่าว่าอากุงทำขนมจันอับขาย หยี่กีหล่านคงสืบทอดอาชีพนี้มา พี่ๆทำขนมหลายอย่าง แม่ซึ่งเป็นน้องเล็กมีหน้าที่เป็นฝ่ายขาย แม่เคยเล่าว่ามีของดีๆจากปีนังกินตลอด แม้จะเป็นลูกกำพร้า แต่ก็ต้องถือว่าไม่ได้ลำบากมากนัก
ถาหยี่เหลี่ยนแต่งงานกับคนมีอันจะกินที่ยะลา ก็จะส่งของดีๆมาให้น้องๆ ลูกถาหยี่เหลี่ยนคนนึงเป็นหมอ น่าจะอ่อนกว่าแม่ไม่มาก ฝนเคยเจอครั้งนึง แม่เคยเล่าว่ามีบ้านหลังใหญ่ในยะลา
ข่าวว่าหยี่กีหล่านเลี้ยงน้องเข้มงวดมาก คนที่โดนหนักสุดน่าจะเป็นหยี่กียิ้น และหยี่กีหล่านน่าจะเก่งมากๆ ถึงสามารถส่งน้องเล็ก 2 คนไปเรียนกรุงเทพฯได้ แม่เป็นน้องคนรองสุดท้อง ได้ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าถึงกรุงเทพฯ กิ๊วเสื่องซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องก็ยังได้ไปเรียนจนจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้วกลับมารับราชการตำรวจ
นับว่าอากุงมองการณ์ไกล ที่สร้างบ้านและซื้อที่บ้านตรงนี้เอาไว้ พี่กิจเล่าว่าบ้านแถวๆนี้ มีแค่บ้านพี่กิจกับบ้านพี่สุที่ยังไม่เปลี่ยนมือ อยู่กันมายาวนานเป็นร้อยปีกันเลยทีเดียว
บ้านห้วยยอดเป็นบ้านที่ยาวมาก ตรงกลางบ้านเป็นลานบ่อน้ำ ไม่มีหลังคา กลางคืนดูดาวได้สบาย
ก่อนขึ้นบันไดมีหิ้งวางป้ายชื่ออากุงเขียนเป็นภาษาจีน กระถางธูปบรรจุดินเมื่อตอนที่อากุงเสีย คือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว กระถางธูปห่อด้วยกระดาษแดง ดูเผินๆก็นึกว่าเป็นกระป๋องธรรมดา แต่ปรากฎว่ากระถางธูปนั้นมีเชิงเทียนติดอยู่ด้วย วันนี้กิมฮวย(ดอกไม้ทองที่ประดับ)เหลือแค่ข้างเดียว พี่กิจบอกว่าเมื่อไม่กี่วันก่อน ห้วยยอดมีลูกเห็บตก ลมพัดแรงจนกิมฮวยปลิว ตามปกติหิ้งบูชาจะเปลี่ยนกระดาษเปลี่ยนกิมฮวยปีละหน พี่กิจเลยไม่กล้าไปทำอะไรกับมัน แถมแต่ละปีก็ต้องเปลี่ยนอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกระถางธูปที่บรรจุดินร้อยปีนั้น
โอ่งมังกรที่วางอยู่หลังบ้านก็เป็นโอ่งที่ใช้มาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จำได้ว่าตอนเด็กๆที่บ้านระนองก็มีโอ่งแบบนี้ใช้ ใบหนึ่งไว้สำหรับขังน้ำไว้อาบในห้องน้ำ อีกใบหนึ่งปิดฝามิดชิดไว้สำหรับเป็นน้ำกิน ซึ่งบ้านเราจะต้มน้ำดื่ม ไม่ได้ใช้ขันตักกินจากโอ่ง น้ำในโอ่งเย็นมาก
จักรเย็บผ้าก็เป็นเครื่องมือทำมาหากินของสาวๆบ้านนี้ หยี่กียิ้นกับแม่เย็บเก่งมาก คิดว่าสมัยนั้นจักรน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่ทุกบ้านต้องมีเหมือนที่สมัยนี้มีโน้ตบุ๊คมีคอมพิวเตอร์ไว้ทำงาน จักรของบ้านนี้ยังอยู่ดี และจักรของแม่ก็ยังอยู่ดีที่ปราจีนบุรี บ้านพี่สาวคนโตของเรา
นึกขึ้นได้ว่าตอนเด็กๆมานอนบ้านนี้ นอนห้องหลังชั้นบน แต่จำไม่ได้เลยว่ามีห้องอื่นอีกมั้ย วันนี้ก็เลยถือโอกาสขึ้นไปดู ชั้นบนไม่กว้างนัก มีห้องนอนสามห้อง คือห้องหน้า ห้องกลาง และห้องหลัง แปลกดีที่พอขึ้นไปเห็นห้องที่เคยนอนแล้ว ภาพจำเดิมเริ่มเลือนหายไป
ส่วนชื่อร้านเรืองเขต(ซึ่งเดิมขายของหลายอย่าง จำได้ว่ามีตู้โชว์รองเท้าขนาดใหญ่ด้วย) ก็มีที่มา ลุงจินต์ คุณพ่อของพี่กิจเป็นลูกของหมื่นจรเรืองเขต ฟังดูไม่ธรรมดานะ ถือว่ามียศถาบรรดาศักดิ์แบบเล็กๆ แต่การได้บรรดาศักดิ์สมัยโน้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย
—---------------------------------------------------------------------
บ้านนี้เป็นบ้านที่มีความทรงจำดีๆของเรามากมาย ตอนปิดเทอมจะได้มาอยู่ที่นี่ บ้านห้วยยอดมีคุณลุงจินต์กับหยี่กียิ้น คุณป้าของเรา หยี่เพิ่งเสียไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ที่โรงพยาบาลในจังหวัดตรัง
คุณป้าเป็นป้าที่เรารักมาก ใจดีมาก คุยเก่งมาก และทำกับข้าวอร่อย ปิดเทอมตอนเด็กๆ ช่วงวันเชงเม้ง จะได้ไปพักที่บ้านคุณป้าที่ห้วยยอด ได้กินของอร่อยๆ ได้สนุกสนานในหมู่พี่น้อง คุณป้ากับคุณแม่เป็นพี่น้องลำดับต่อกันและมีหน้าตาคล้ายกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน มากขนาดที่เมื่อเราเดินเข้าบ้าน สวัสดีคุณแม่แล้วหันไปอีกด้านพบว่ามีคุณแม่อีกคนนั่งอยู่ ...
คุณป้าเป็นคนโชคดีที่อยู่ในครอบครัวที่รักกันยิ่ง โดยมีคุณป้าเป็นศูนย์กลางความรักของลูกหลาน หลานๆทุกคนเป็นเด็กดี และทุกคนเรียนดีมากถึงมากที่สุดเพราะอยากทำให้คุณย่า(ย)สบายใจ
ที่บ้านนี้เรามีพี่ๆ 6 คนคือ พี่ติ๊ พี่เจน พี่กิจ พี่เจตน์ พี่จ๊ะ และพี่ศรี พี่ๆทุกคนใจดีและดูแลน้องๆเป็นอย่างดีตั้งแต่เล็กจนโต และพี่เราทุกคนคุยเก่งและตลกมาก ยิ่งพี่ๆผู้หญิงนี่คุยเก่งขึ้นมาอีกระดับเลยค่ะ เรามีความทรงจำดีๆกับพี่ๆแต่ละคนในแต่ละเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน พี่เราพาเที่ยว พี่เราสอนให้เล่นสเก็ต พี่เราซื้อขนมให้กิน ฯลฯ
นึกมาตลอดว่าพวกเราโชคดีมากๆที่มีพี่น้องที่รักกันมากที่ห้วยยอด มีที่ที่เราไปแล้วมีความสุขเสมอ
คุณพี่ๆที่มีความทรงจำเรื่องบ้านห้วยยอดช่วยเติมเรื่องราวหน่อยนะคะ ลูกหลานเราควรรู้ประวัติครอบครัว
เพิ่มเติม:
1. ตกลงอากุงของเราใช้นามสกุลว่า ซีโฮ ค่ะ ไม่ได้ใช้แช่ คุณป้าและคุณแม่ก็เลยใช้นามมสกุล ซีโฮด้วย (สะกด ซีโฮ บ้าง ซีโฮ่ บ้าง งงเหมือนกันว่าเขียนยังไงแน่) และไปค้นมาว่า ซีโฮ เป็นหนึ่งใน 35 ตระกูลชาวจีนในตรังที่เขาพบว่าไม่มีการใช้แซ่ แต่ใช้นามสกุลไปเลย อ้อ ตั้งปอง ที่เป็นญาติเรา ก็เป็นนามสกุลแทนแซ่ด้วยเหมือนกัน ดูรายละเอียดในลิงก์นี้นะคะ https://www.sator4u.com/paper/947
และในโพสต์นี้มีตัวอักษรจีนของนามสกุล ซี่โฮ่ (林) https://www.facebook.com/.../d41d8cd9/3111600295585832/
2. คุณแม่เรามีชื่อจีนว่า ยุกหม่อย มีชื่อไทยว่า อมร ซีโฮ













The IVLP Reconnect

 The IVLP Reconnect Day 1

26 - 27 กุมภาพันธ์ 2565 เสาร์อาทิตย์นี้ได้มาเข้าร่วมงาน “The IVLP Recoonect” ที่ตรังค่ะ ในฐานะ Alumni ที่เคยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมโครงการ IVLP เมื่อปี 2014
โครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาในด้านวิชาการและประเด็นทางสังคม จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา งานครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีของโครงการ IVLP เพื่อให้ผู้เคยเข้าร่วมโครงการชาวไทยซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นําในองค์กรภาครัฐและเอกชนไดเ้ข้าร่วมงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทํา กิจกรรมและพัฒนาเครือข่าย IVLPในประเทศไทยโดยมีประเด็นเรื่องความเช่ื่อมโยงในภูมิภาค ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่บริเวณงานจะมีภาพของ IVLP ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Margaret Thatcher IVLP จาก UK เมื่อปี 1967 คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ IVLP ปี 1982 จริงๆระดับผู้นำสำคัญมีหลายคนเลยนะคะ รวมถึง นางอินทิรา คานธี และคุณชวน หลีกภัยด้วยค่ะ
เราขับรถจากนครตอนแปดโมงนิดๆ มาแบบเย็นๆกลางสายฝนที่ตามมาจากฝั่งอ่าวไทยถึงอันดามัน ไปแวะบ้านคุณป้าที่ห้วยยอดอยู่พักนึง แล้วไปทับเที่ยงต่อเลย ไปถึงโรงแรมเรือรัษฎาสถานที่จัดงานประมาณ 11 โมงเศษ ทำการตรวจหาโควิดด้วย ATK เพื่อความมั่นใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนไม่ได้นำโควิดติดตัวมาค่ะ จากนั้นก็เช็คอิน เก็บของไว้ในห้องแล้วก็ลงมากินข้าวเที่ยง
กิจกรรมเริ่มตอนบ่ายโมง ผู้เข้าประชุมจะนั่งร่วมโต๊ะกลมเป็นกลุ่ม 6 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน เป็นการรักษาระยะห่างในการประชุมช่วงเวลาโควิดค่ะ เริ่มงานก็มีการกล่าวเปิดงานโดย Ms Lydia Barraza ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย จากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษ โดย The honorable Michael Heath อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ช่วงต่อมาก็เป็นการสร้างความคุ้นเคยในกลุ่มผู้เข้าประชุม ด้วยการแสดงความคิดเห็นแบบ word cloud และการตอบคำถาม สนุกสนานกันไปค่ะ ได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายคน แต่ละคนก็น่าสนใจมาก เพราะคนที่มาเข้าโครงการนี้มีความสามารถและความหลากหลายสูง มีความสามารถในการสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ดีมากถึงมากที่สุดกันแทบทุกคน ภาษายุคนี้ต้องบอกว่าเป็นเครือข่ายที่มีดาเมจสูงค่ะ 🙂
หัวข้อถัดไปคือ ASEAN Sustainable Development Goals โดย คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจําประเทศไทย (UNDP) คุยให้ฟังเรื่อง Sustainable Development Goals –SDGs ทั้ง 17 ข้อ (ตรงนี้ต้องขอโน้ตไว้ว่าที่ ม.วลัยลักษณ์ก็มีความตื่นตัวเรื่องนี้ในระดับมหาวิทยาลัย และได้นำ SDGs ไปให้แต่ละรายวิชาระบุใน มคอ 3 ว่าวิชาที่สอนนั้นสอดคล้องกับ SDGs ข้อใด ก่อนนี้ก็งงๆนะคะมาได้ฟังวันนี้ก็เข้าใจประเด็นเลยค่ะ) นอกจากนั้นก็ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการเพียงใด ข้อมูลน่าสนใจมาก จดไม่ทัน แต่ไปค้นข้อมูลในเน็ต สามารถดูรายละเอียดได้จากลิงก์นี้นะคะ http://www.symposium.econ.tu.ac.th/paper/symposium00.pdf
ต่อไปเป็นหัวข้อ Effective Communications in a Digital Era มีผู้แทนจาก Facebook และ คุณ Tom Montgomery รองโฆษก สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย มาคุยให้ฟังค่ะ หัวข้อนี้มีคำถามจากฟลอร์มากมายส่วนใหญ่ถามไปที่ Facebook เช่น อาชญากรรมบน FB มีแนวทางกลั่นกรองอย่างไร ฟีเจอร์บางอย่างที่ทางอเมริกามีแต่ในประเทศไทยไม่มี เช่น fundraising จะมีโอกาสที่จะให้บริการหรือไม่ คำถามเริ่มระดมมาเรื่อยๆ และร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ แต่เวลามีน้อยก็ต้องตัดจบก่อนค่ะ เพราะหัวข้อถัดไปคุณเป้ อดิศรมาแนะนำเรื่อง Alumni engagement with US Embassy ตอนนี้มีการจัดตั้งสมาคมของ Alumni ภายใช้ชื่อ Thailand - United States Alumni Association (TUSAA) ก็คงจะมีกิจกรรมและการสร้างงานจากเครือข่ายกันต่อไปค่ะ
หัวข้อสุดท้าย อาจารย์ยิ่งยศ แก้วมี ผู้ก่อต้ัง บจก. สถาปนิกอยู่ดีกรรมาธิการ ฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่มประชาสังคม Trang Positive ได้มาคุยให้ฟังผ่าน Zoom ในเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองตรัง ซึ่งเราจะได้ไปเยี่ยมชมในวันพรุ่งนี้ค่ะ
เลิกประชุมประมาณห้าโมงเกือบหกโมงเย็น ก็มีเวลาพักประมาณชั่วโมงนึง แล้วลงมากินอาหารเย็นด้วยกันตอนหนึ่งทุ่ม ตอนกินนี่ไม่นานค่ะ แต่คุยกันต่อนี่ยาวเลย

บอกแล้วไงคะว่า IVLP มนุษยสัมพันธ์ดี… ดีมาก... ดีเกินเหตุ 🙂











The IVLP Reconnect: Day 2 เมืองเก่ากันตัง 27 กุมภาพันธ์ 2565 กิจกรรมของ “The IVLP Recoonect” วันที่สองนี้ มีธีมเป็นเรื่อง “Empowering Sustainable Community Development” การลงพื้นที่วันนี้จึงไม่ใช่การไปเที่ยวทะเลสวยของตรัง แต่เป็นกิจกรรมศึกษาโครงการพัฒนาชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมในจังหวัดตรังค่ะ
จุดแรกเราไปที่อำเภอนาโยง ที่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ไปถึงก็จะมีกิจกรรมสามฐานคือ การรับฟังบรรยายเกี่ยวกับข้าวของที่นี่ ตัวที่น่าสนใจคือข้าวเบายอดม่วง เป็นข้าวที่เพิ่งพัฒนากันมาสี่ห้าปีนี้และกำลังจะจดลิขสิทธิ์ เป็นข้าวที่เหมาะกับผู้สูงอายุ มีวิตามินแร่ธาตุที่ดีกับสุขภาพ และก็เป็นข้าวใหม่ที่ผลิตโดยไม่ใช้ปุ๋ยสารเคมี ป้าแดงผู้มาบรรยายก็เป็นชาวนาตัวจริง รออะไรคะ ต้องสนับสนุนซิคะ ฐานถัดไปเราไปชมพิพิธภัณฑ์ผ้านาหมื่นศรี ผ้าที่นี่มีลักษณะพิเศษ มีลวดลายน่าสนใจมาก มีสาวน้อย 2 คนมานำชมค่ะ มีเด็กรุ่นใหม่แบบนี้ไม่ต้องห่วงว่าชุมชนนี้จะไม่มีคนสืบต่อนะคะ เป็นความยั่งยืนของชุมชนค่ะ ฐานที่สามเป็นการหัดทำลูกลมซึ่งเป็นของเล่นทำด้วยไม้ไผ่ เมื่อดึงเชือกใบพัดจะหมุน สนุกดีเหมือนกัน จากนั้นทางชุมชนมีน้ำอัญชันใส่มะพร้าว และน้ำลูกหยี กับขนมโคอร่อยๆมาเลี้ยงค่ะ เหลือเวลานิดนึง ก็ขอซื้อผลิตภัณฑ์กลับบ้านดีกว่า
จุดถัดไป เราไปที่อำเภอกันตัง เยี่ยมชมเมืองเก่ากันตังบริเวณปากแม่น้ำตรังค่ะ จุดแรกที่แวะคือ ศาลเจ้าฮกเกี้ยนก๋งก้วน-ม่าจ้อโป๋กันตัง 江東福建公所天湄宮 เป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม กว้างขวาง ด้านนอกเป็นเรือนไม้สองชั้น ตัวศาลเจ้าอยู่ข้างใน เจ้าแม่ทับทิมที่นี่เรียกว่า ม่าจ้อโป๋ เป็นที่เคารพของชาวเรือและชาวบ้านทั่วไป ชั้นบนจะมีลักษณะเป็นโรงเตี๊ยมคือเป็นที่พักให้คนเดินทางได้พัก ที่นี่มีขนมม่อหลาวหรืองาพองให้ได้กินเป็นขนมเบรค จากนั้นนั่งรถไปที่มัสยิดปากีสถาน จริงๆก็ไม่ได้ไกลกันนะคะ ที่นี่น่าสนใจมากที่เป็นมัสยิดแห่งแรกของชาวปากีสถานในประเทศไทย อายุร้อยกว่าปีแล้วค่ะ ได้รับฟังแนวคิดของทางศาสนาอิสลาม คุณลิเดียจากสถานทูตก็สามารถพูดภาษาอูรดูร์ได้เป็นที่ชื่นชมของที่นี่ ได้รับพรกันถ้วนทั่ว ที่นี่มีชาปากีสถานให้ได้ชิมด้วย
ถัดไปคือศาลเจ้าไหหลำ ใกล้กันมากกับมัสยิดปากีสถานค่ะ จุดนี้อลังการมากเพราะจะมีคุณแม่หลายๆท่านแต่งตัวชุดบาบ๋ายะหยามาต้อนรับพวกเรา มาโต๊ะยาววางขนมพื้นถิ่นชนิดต่างๆด้วยหลากหลายและสวยงาม แถมมีการแสดงจากคุณแม่ๆให้ชมค่ะ เป็นที่ประทับใจ เจ้าแม่ทับทิมที่นี่ก็งามมาก และเขาบอกว่าถ้าไปยืนตรงหน้าท่านแล้วมอง จะเห็นท่านลืมตาและยิ้มนิดๆ คล้ายจะกระพริบตาได้อะค่ะ ก็ไปลองยืนดู… ไม่เห็นค่ะ ค่อยดูจากคลิปวิดีโอแล้วกัน
ตอนเที่ยงเรากินอาหารที่หอประชุมอเนกประสงค์คอซิมบี๊ เป็นอาหารมุสลิม รสชาติดีเลยละค่ะ กินเสร็จก็เดินไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ที่อยู่ใกล้กัน ที่นี่เป็นบ้านเก่าของท่านคอซิมบี๊ เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ สวยงาม จัดแสดงสิ่งของต่างๆในบ้าน ที่น่าชื่นชมคือที่นี่มีน้องๆนักเรียนระดับมัธยมศึกษา.ต้นและ ม.ปลายมาเป็นมัคคุเทศน์ พูดจาฉะฉาน ให้ข้อมูลชัดเจน น่าฟังมากๆ ที่น่าทึ่งคือสามารถบรรยายเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วยคำสละสลวยมีแอคเซนต์ พูดเพราะมากค่ะลูก ถาม ผ.อ.โรงเรียนว่าน้องเรียนภาคภาษาอังกฤษหรือคะ ก็ไม่ใช่นะคะ นี่มาจากการฝึกฝนล้วนๆ ชื่นชมมากค่ะ ถ่ายภาพร่วมกันรูปสุดท้าย จากนั้นคณะจะไปส่งผู้ที่เดินทางกลับกรุงเทพที่สนามบิน และส่งทั้งหมดที่เหลือกลับโรงแรมเรือรัษฎา
คุณพี่สาวทั้งสามของเรามารอรับอยู่แล้ว (อารมณ์เหมือนตอนเด็กๆไปเข้าค่ายแล้วครอบครัวมารับกลับ 555 ) ก็เลยจบทริปกับ IVLP เท่านี้ นะคะแล้วมาตามทริปผู้หญิงสามเมืองกันค่ะ เพราะคุณพี่สาวคนนึงอยู่ที่กันตัง อีกคนอยู่ห้วยยอดและอีกคนมาจากนคร จริงๆเมื่อวานเขามีทริปกินทริปเที่ยวดีงามกันมาก วันนี้ก็เที่ยวที่วัด ศาลเจ้า พิพิธภัณฑ์ มากกว่าที่เราไปเสียอีก เกือบจะไม่เหลือที่เที่ยวให้เรา 555 แต่เราก็ขับรถชมเมืองต่อ บ้านคุณพี่สาวที่กันตังอยู่ใกล้กับมัสยิดปากีสถานก็จะรู้เรื่องราวแถวนี้เป็นอย่างดี บอกได้ด้วยว่าเวลามีงาน ศาลเจ้าฮกเกี้ยนจะผัดหมี่ฮกเกี้ยนเลี้ยงคน ในขณะที่ทางศาลเจ้าไหหลำจะมีอาหารจากเนื้อแพะ แปลกดีเหมือนกัน
เราแวะลงเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากกันนิดนึง นั่งเรือไปกลับชมวิวเมืองจากอีกฟากแม่น้ำ จากนั้นแวะร้านขนมเลิศรสซื้อขนมเค้กและอื่นๆ แล้วก็ขับรถกลับเข้าทับเที่ยง ระหว่างทางก็แวะถ่ายรูปกับต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย มาถึงโรงแรมก็เปลี่ยนไปขึ้นรถคุณพี่สาวนครต่อค่ะ เราขับรถกลับทางห้วยยอดเพื่อจะได้แวะที่ลำภูรา ไม่ได้ซื้อเค้ก แต่ซื้อหมูย่างหน้าร้านเค้กขุกมิ่ง อร่อยนะคะ ช่วงนี้หมูราคาลงมานิดนึง เขาก็จะขายราคากิโลละ บาท ตอนช่วงหมูแพงจะเป็น 480 บาทต่อกิโลค่ะ
แวะส่งคุณพี่สาวห้วยยอดที่บ้านแล้วก็ขับรถกลับนคร มาถึงนครก็เปลี่ยนกลับเป็นรถตัวเองเพื่อกลับท่าศาลาซิตี้ ถึงบ้านก็ทุ่มนึงแล้ว เป็นอันจบทริปค่ะ ดีงามมาก ขอบคุณทางสถานทูตสหรัฐที่จัดกิจกรรม Reconnect ให้นะคะ คิดว่าด้วยพลังบวกที่มีเหลือเฟือใน IVLP แต่ละคน และความคุ้นเคยที่เราได้รู้จักกันในทริปนี้ คงเกิดพลังของเครือข่ายในอนาคตค่ะ