Monday, February 10, 2020

#รำนกพิทิด... รู้จักนกพิทิดกันไหมคะ?

เมื่อวันเสาร์​ 9 ก.พ. 63 ที่งานให้ทานไฟ​วัดยางใหญ่​ มีการแสดงรำนกพิทิดจากคณะการแสดงจากกรุงชิงค่ะ​ น่าดูมาก​เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน​เลย​ และท่ารำก็น่าสนใจมาก​ ตอนฟังชื่อการแสดงทีแรกก็งงๆ​ว่าคือนกอะไร​ ไม่เคยได้ยินชื่อ​ ทั้งๆที่ตัวเองก็เป็นคนดูนกด้วยนะคะเนี่ย
แต่ตอนที่มาค้นเรื่องนกในเน็ตทีหลังพบว่านกพิทิดพิที​ คือชื่อเรียกนกทึดทือของทางใต้(จริงๆหลายอย่างเวลาเขาบอกว่าเป็นคำใต้นี่เรางงนะ​เพราะเราก็คนใต้​ แต่บ้านเราไม่ได้เรียกแบบนั้นซักหน่อย)​ นกทึดทือเป็นนกตระกูลนกเค้าแมว​ ตากลมโต​ มีขนเหนือคิ้วยาวแผ่ขึ้นไปเหมือนเป็นหูสองข้าง​ ตัวโตซักฟุตกว่าๆ​ เห็นพี่ที่ไปดูนกตอนกลางคืนไปเจออยู่เรื่อยๆในอุทยานแห่งชาติที่กรุงชิงค่ะ​Piyapong Chotipuntu
ฟังๆดูจากเนื้อเพลงที่รำพบว่า​ การรำนกพิทิดเป็นการรำโทน​ มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล​ป.พิบูลสงคราม(คงเป็นยุคการสร้างวัฒนธรรมไทย​ที่เคยอ่านในสี่แผ่นดินว่าให้คนใส่หมวก​ แก้ไขการเขียนคำไทย​ เปลี่ยนคำแทนชื่อตัว... ที่บ้านมีหนังสือที่​พิมพ์ด้วยคำสะกดแปลกๆในยุคนั้นเล่มนึง​ แต่อันนั้นไว้ไปเขียนอีกโพสต์ดีกว่าค่ะ)​การรำโทนนี้เป็นการจำลองการเกี้ยวพาราสีของนกตัวผู้ตัวเมีย​ เขาเรียกชื่อนกว่านก​ พิทิด​พิที​ ในการรำมีเครื่องดนตรีประกอบแค่สามชิ้นคือ​ ตะโพน ฉิ่ง​ และฉาบ​ การรำนี้มีหลายเพลง​ อย่างเช่น​ เพลงไหว้ครู​ เพลงป่าประ​ เพลงประวัติของการรำโทนนกพิทิด​ ฯลฯ​... ลองค้นในเน็ตดูก็เจอว่าตอนนี้ที่กรุงชิงให้ความสำคัญกับการรักษาวัฒนธรรมพื้นถิ่น​ มีการสอนรำในโรงเรียน​ และใช้แสดงในงานต่างๆเหมือนที่ได้เห็นที่วัดยางใหญ่นี้ค่ะ​ รู้สึกดีที่ได้ชมนะคะ
ลองถามน้องแม้วซึ่งเป็นคนท่าศาลาโดยกำเนิดว่ารู้จักเพลงนี้ไหม​ เขาบอกว่ารู้จัก​ เคยได้ยินตั้งแต่เด็กๆ​ แต่ตอนนี้ไม่ได้ยินมานานแล้ว​ แสดงว่าการแสดงนี้ก็กระจายลงจากแถบกรุงชิงลงมาถึงพื้นราบย่านท่าศาลาด้วย​ เพลงจะเป็นการร้องประมาณ.... "พิทิด​ พิทิด​ พิที ค่ำคืนนอนนี่แหละพี่ทีและพี่ทิด" .... "นกพิทิดเสียงดังครืดครอ" และนกพิทิดมีสองตัว​ ตัวผู้ตัวเมีย​ ตัวผู้จะรำแบบผู้ชายคือกระโดดไปมา​ ตัวเมียจะตีปีก​ ต้องบอกว่าเห็นการรำนี้แล้วชื่นชมจินตนาการมากๆค่ะ
ไปค้นข้อมูลมาอ่านเพิ่ม​ ลิงก์นี้เป็นงานวิจัยของทางม.ราชภัฏ​นคร ให้ข้อมูลดี มีประโยชน์มากค่ะ มีทั้งประวัติ​ และเนื้อเพลง​ น่าสนใจ​ https://issuu.com/korrakottonchamnian/docs/Krung ching
ส่วนนี่เป็นลิงก์วิดีโอของทางอาศรมวัฒนธรรม​ ม.​วลัยลักษณ์ เผยแพร่ไว้หลายปีแล้วเช่นกัน​ https://youtu.be/GqdB9uLBTxk
บันทึกไว้เพื่อจดจำเรื่องใกล้บ้านที่ควรสืบสานไว้