ช่วงไม่กี่ปีก่อนคุณพ่อจะเสีย จะมีโอกาสถามเรื่องราวเก่าๆในชีวิตของคุณพ่อไว้มาก เรื่องหนึ่งที่คุณพ่อเล่าให้ฟังคือ คืนแรกที่เข้ากรุงเทพฯ ไปนอนที่วัดมหาธาตุ แล้วเกิดมีตึกถล่ม เสียงดังสนั่นมาถึงวัดมหาธาตุ เขาไปดูกันตอนเช้า น่ากลัวมากเพราะเป็นอาคารบนถนนราชดำเนิน
ฟังแล้วก็ข้องใจว่าแล้วตึกนั้นคือตึกอะไร พอดีช่วงปี 2014 ติดตามอ่านเว็บเรือนไทย จะมีผู้รู้ชนิดรู้จริง เช่น ดร. วินิตา หรือ แก้วเก้า ผู้เป็นเข้าของเรือนใช้ชื่อว่า เทาชมพู เป็นผู้ตอบหลัก มีคุณเพ็ญชมพู ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ฯลฯ มาถกความรู้กันอย่างน่าตื่นใจ ก็เลยถามเข้าไปเป็นกระทู้ เนื่องจากได้รับคำตอบที่ดีมากๆ ก็อยากจะนำมาเก็บไว้เป็นข้อมูลค่ะ
Singing Blue Jay อสุรผัด * ตอบ: 22
เมื่อ 13 ก.พ. 14, 23:42
ได้เห็นการตอบแบบลงรายละเอียดของแต่ละท่านในเรือนไทย ก็เลยกล้าถามค่ะ ว่าในอดีตช่วงที่เพิ่งสร้างอาคารริมถนนราชดำเนินกลางเสร็จใหม่ๆเคยเกิดกรณีอาคารถล่มหรือไม่คะ
คุณพ่อของดิฉันเป็นคนต่างจังหวัดเข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพเมื่อประมาณเจ็ดสิบปีที่แล้ว เล่าว่า วันแรกที่ไปถึงไปพักที่วัดมหาธาตุ วันรุ่งขึ้นอาคารใหม่ก็ถล่ม เสียงดังสนั่นมาก ก็เลยไม่แน่ใจว่าเคยมีกรณีอย่างนี้หรือไม่ (ไม่แน่ใจเรื่องปี พ.ศ.ค่ะ น่าจะเป็นช่วงปี 248X เพราะขณะนี้คุณพ่ออายุ 88 ปี)
ขออนุญาตถามต่ออีกเรื่องด้วยนะคะ คุณแม่สมัยสาวๆก็เข้าไปเรียนตัดเสื้อโดยมีที่พักอยู่ในโรงเรียนสอนตัดเสื้อแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เรียนคืออาคารมุมอนุสาวรีย์ด้านที่ตรงข้ามกับโรงเรียนสตรีวิทยา ตอนนี้เป็นอะไรก็ไม่ทราบค่ะ ดิฉันไม่ค่อยได้เข้ากรุงเทพ ต้องระบุแบบภาพที่จำได้ว่า มีอาคารภัตตาคารศรแดง มีอาคารที่เคยเป็นที่ทำการบริษัทเมืองโบราณ มีโรงเรียนสตรีวิทยา และก็มีอาคารที่คุณแม่ดิฉันพูดถึงนี่ละคะ อยากทราบว่าอาคารนั้นเป็นอาคารของใคร มีประวัติยังไงคะ
อารมณ์ถามเรื่องสมัยคุณพ่อคุณแม่นะคะ ต้องมาถามแถวนี้เพราะเวลาถามคุณพ่อก็ไม่ได้รายละเอียดมากนัก คุณแม่ก็ไม่อยู่ให้ถามแล้วค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ"
แล้วก็ได้คำตอบชนิดลงรายละเอียดอย่างวิเศษ
"เทาชมพู เจ้าเรือน หนุมาน ***** ตอบ: 32481 ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 14 ก.พ. 14, 08:03
เคยมีตึกถล่มจริงค่ะ
เป็นตึกหลังเดิมตรงหัวมุมสี่แยกคอกวัว อยู่มุมตรงข้ามคนละฝั่งกับตึกธนาคารออมสิน เคยยุบตัวพังลงมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าเป็นเพราะคอรัปชั่นกินอิฐกินหินกินทรายกินเหล็กกันในการก่อสร้าง ทำให้ตึกทานน้ำหนักไม่พอจึงทรุดตัวพังลงมา
ตึกนี้ต่อมาได้รื้อและสร้างขึ้นใหม่เป็นสถานีวิทยุ ททท.ของบริษัทไทยโทรทัศน์ ต่อมาถูกประชาชนและนักศึกษาเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงกลายเป็นที่ดินว่างๆ
หลายปีต่อมากลายเป็นที่ตั้งซุ้มขายสลากกินแบ่ง ปัจจุบันคือที่ตั้งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ค่ะ
ส่วนร.ร.สอนตัดเสื้อ ดิฉันไม่ทราบ แต่จากที่คุณบรรยายมา น่าจะเป็นบริเวณร้านอาหารวิจิตร ในปัจจุบันละมังคะ
ต้องรอผู้รู้มาตอบค่ะ"
แล้วก็มีผู้รู้มาให้ข้อมูลอีกหลายท่านจึงทราบว่า
ตึกที่ถล่มนั้นเป็นที่ทำการของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. บริษัทไทยโทรทัศน์ จากนั้นเป็นที่ทำการกตป. แล้วถูกเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
"เพ็ญชมพู หนุมาน ******** ตอบ: 11420
ความคิดเห็นที่ 22 เมื่อ 18 ก.พ. 14, 08:46
คุณใหญ่ นภายน เล่าถึงเรื่องนี้ในบทความเรื่อง ถนนราชดำเนินในความทรงจำ
ย้อนลงไปอีกนิดก็ถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีอนุสาวรีย์ ๑๔ ตุลา ตึกตรงนั้นปรากฏว่าพอสร้างแล้วพัง และพอพังแล้วก็สร้าง นั่นแหละมีตึกใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าของทางราชการ มีชื่อย่อว่า อ.จ.ส. ต่อมาชั้นบนของตึกนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ดำเนินงานโดยคุณจำนง รังสิกุล และคุณสมจิตร สิทธิไชย สมัยนั้นภาคบ่ายมีทายปัญหาและการบรรเลงดนตรีของคณะสุนทราภรณ์ ทุกเสาร์ – อาทิตย์
ตึกนี้มาถูกเผาเมื่อคราว ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ราบเรียบไปตามระเบียบอีกแห่งหนึ่ง
อ.จ.ส. ย่อมาจากอะไรหนอ ฮืม"
"NAVARAT.C หนุมาน ******** ตอบ: 11294
ความคิดเห็นที่ 23 เมื่อ 18 ก.พ. 14, 09:21
องค์การจัดซื้อและขายสินค้า
รูปแบบคือห้างสรรพสินค้าธรรมดาๆ ดำเนินการโดยข้าราชการเพื่อแข่งกับเอกชน ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ผลประกอบการขาดทุนยับเยิน ต้องเจ๊งไปในเวลาสั้นๆไม่กี่ปี"
"ลุงไก่ สุครีพ ****** ตอบ: 1281
ความคิดเห็นที่ 42 เมื่อ 20 ก.พ. 14, 20:50
อ้างจาก: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 14, 08:03
เคยมีตึกถล่มจริงค่ะ
เป็นตึกหลังเดิมตรงหัวมุมสี่แยกคอกวัว อยู่มุมตรงข้ามคนละฝั่งกับตึกธนาคารออมสิน เคยยุบตัวพังลงมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าเป็นเพราะคอรัปชั่นกินอิฐกินหินกินทรายกินเหล็กกันในการก่อสร้าง ทำให้ตึกทานน้ำหนักไม่พอจึงทรุดตัวพังลงมา
ตึกนี้ต่อมาได้รื้อและสร้างขึ้นใหม่เป็นสถานีวิทยุ ททท.ของบริษัทไทยโทรทัศน์ ต่อมาถูกประชาชนและนักศึกษาเผาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงกลายเป็นที่ดินว่างๆ
หลายปีต่อมากลายเป็นที่ตั้งซุ้มขายสลากกินแบ่ง ปัจจุบันคือที่ตั้งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ค่ะ
เล่าเพิ่มเติมอีกหน่อย .. ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่กำนันเคยเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นหนองน้ำ เมื่อสร้างตึกคงจะไม่ได้ถมดินและบดอัดให้แน่นเสียก่อน ตึกสมัยนั้นก็ไม่ได้ใช้เสาเข็มคอนกรีตยาวเหมือนสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะใช้เสาเข็มไม้ยาวสักประมาณ ๔-๖ เมตร ตอกปูพรมลงไปตรงฐานเสาตึกและตามแนวคานคอดินของตึก คะเนตามประสบการณ์ว่าคงรับน้ำหนักของตึกได้ เมื่อเสาเข็มตอกจมอยู่ในดินอ่อนดินเลนไม่ใช่ดินแข็งเหมือนกับบนพื้นดินปกติ ก็ทำให้กลุ่มเสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักได้
เมื่อก่อสร้างอาคารไปถึงจุดหนึ่งที่น้ำหนักของอาคารถ่ายลงเสาเข็มเกินกว่าที่เสาเข็มจะรับน้ำหนักได้ ตึกก็เลยพังลงมา .. ผู้ใหญ่เล่าว่าตึกยุบลงไปในดินทั้งหลัง ไม่ใช่ทลายล้มลงมาทางด้านข้าง ไม่ใช่การคอรัปชั่นกินหินกินปูนกินเหล็กครับ ส่วนเรื่องอาถรรพ์ของที่ตรงนี้นั้นไม่มีข้อมูลครับ"
ส่วนเรื่องโรงเรียนของคุณแม่ได้ข้อมูลจากการไปถามเพิ่มมาว่า
"Singing Blue Jay อสุรผัด* ตอบ: 22
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 14 ก.พ. 14, 14:33
ขอบคุณทุกท่านที่มาตอบให้นะคะ เรื่องตึกถล่มหายข้องใจกันไป ภาษาใต้แถวนี้เรียกว่า "หวางไป" ค่ะ ยิ้มกว้างๆ
ส่วนภาพที่ลุงไก่โพสต์ให้ดู ตัวเองไม่ทราบข้อมูลอะไรเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอาคารหลังไหนแน่ เพียงแต่คุณแม่เคยบอกว่าอยู่หัวมุมพอดี และเป็นโรงเรียนที่มีที่พักให้นักเรียนต่างจังหวัดพักที่โรงเรียนได้ เคยถามคุณพ่อว่าชื่อโรงเรียนอะไรก็จำไม่ได้ บอกแต่ว่าสมัยนั้นย่านนั้นจะมีโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าสอนทำผมหลายแห่ง มีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งชื่อ "ลีฟวิ่ง" แต่โรงเรียนนี้ไม่ใช่ลีฟวิ่งค่ะ
เคยเห็นรูปถ่ายที่คุณแม่กับเพื่อนๆไปเดินเล่นกันแถวอนุสาวรีย์แล้วก็นั่งถ่ายรูปกันเป็นกลุ่มบนลานอนุสาวรีย์ ตอนเห็นรูปครั้งแรกตอนเด็กๆก็ถามว่าแล้วเดินข้ามถนนไปได้ยังไงคะ เพราะสมัยเรารถวิ่งกันขวักไขว่แล้ว ยุคนั้นถนนโล่ง เดินกันสบาย เย็นๆก็ไปเดินเล่นกัน"
"Singing Blue Jay อสุรผัด * ตอบ: 22
ความคิดเห็นที่ 39 เมื่อ 20 ก.พ. 14, 18:13
อ้างจาก: Singing Blue Jay ที่ 14 ก.พ. 14, 14:33
ขอบคุณทุกท่านที่มาตอบให้นะคะ เรื่องตึกถล่มหายข้องใจกันไป ภาษาใต้แถวนี้เรียกว่า "หวางไป" ค่ะ ยิ้มกว้างๆ
ส่วนภาพที่ลุงไก่โพสต์ให้ดู ตัวเองไม่ทราบข้อมูลอะไรเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอาคารหลังไหนแน่ เพียงแต่คุณแม่เคยบอกว่าอยู่หัวมุมพอดี และเป็นโรงเรียนที่มีที่พักให้นักเรียนต่างจังหวัดพักที่โรงเรียนได้ เคยถามคุณพ่อว่าชื่อโรงเรียนอะไรก็จำไม่ได้ บอกแต่ว่าสมัยนั้นย่านนั้นจะมีโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าสอนทำผมหลายแห่ง มีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งชื่อ "ลีฟวิ่ง" แต่โรงเรียนนี้ไม่ใช่ลีฟวิ่งค่ะ
เคยเห็นรูปถ่ายที่คุณแม่กับเพื่อนๆไปเดินเล่นกันแถวอนุสาวรีย์แล้วก็นั่งถ่ายรูปกันเป็นกลุ่มบนลานอนุสาวรีย์ ตอนเห็นรูปครั้งแรกตอนเด็กๆก็ถามว่าแล้วเดินข้ามถนนไปได้ยังไงคะ เพราะสมัยเรารถวิ่งกันขวักไขว่แล้ว ยุคนั้นถนนโล่ง เดินกันสบาย เย็นๆก็ไปเดินเล่นกัน
ขอกลับมาแจ้ง่ความคืบหน้าเกี่ยวกับโรงเรียนสอนตัดเสื้อที่ราชดำเนินทีได้ถามไว้นะคะ ข้องใจมากว่าคุณแม่เรียนที่ไหนแน่ ก็ได้พยายามสอบถามกลับไปที่คุณป้าพี่สาวของคุณแม่ ในที่สุดทราบว่าชื่อร้าน"เมธา"ค่ะ สมัยนั้นคงมีสาวๆมาเรียนกันมาก พี่สาวเล่าว่า เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งของคุณแม่คือ คุณป้าสนุ่น เทียนทอง พี่สาวของคุณเสนาะ เทียนทอง ก็มาเรียนอยู่ด้วยกัน คุณแม่ได้ไปเยี่ยมที่อำเภอวัฒนานครก่อนจะเสียชีวิตอีกไม่กี่ปีต่อมาค่ะ โดยทั้งคู่ไม่ได้เจอกันมาประมาณหกสิบปี แต่ต่างคนต่างก็จำความหลังสมัยก่อนกันได้!
ส่วนร้าน Living ที่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อชื่อดังในอดีต ค้นได้ว่า อาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร "ครูสอนตัดเสื้อ" ระดับตำนานของเมืองไทย ได้ย้อนความหลังให้ฟัง คัดมาจากสกุลไทยออนไลน์ค่ะ
"ความรู้สึกอยากเรียนมันเกิดขึ้นมาเอง เหมือนคนอยากเป็นหมอก็อยากจะเป็น ผมอยากเป็นช่างเสื้อ ชอบออกแบบ ผมทำเสื้อผ้าเป็นตั้งแต่ ม.๓ เมื่อก่อนจะมีร้านหนึ่งชื่อร้าน Living เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อของแม่ชีฝรั่งอยู่แถวบางขุนพรหม เป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อโรงเรียนแรกๆที่พวกแหม่มสอน ก็ไปขอเขาเรียน เขาก็ไม่รับ เพราะเราเป็นผู้ชาย เราก็ขอเขา ขอเรียนตอนเย็น จนเขาสงสารก็เลยสอนให้ สมัยนั้นสร้างแบบกันบนหนังสือพิมพ์บ้าง ไม่มีกระดาษสร้างแบบเหมือนสมัยนี้ แล้วก็สมัยก่อนไม่ค่อยมีคัตติ้ง ง่ายๆ แบบแส็คง่ายๆแล้วก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แบบเสื้อเราก็ดูแบบจากต่างประเทศเป็นหลัก จากฮอลลีวู้ด ฝรั่งเศส ดีไซเนอร์ก็ไม่มี เพราะว่าพูดกันตามตรง คนไทยจะรับจากเมืองนอกทั้งนั้น ออกแบบให้ตาย เขาก็ต้องเอาแบบของนอกมาใช้"
http://www.yingthai-mag.com/?q=magazine/%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A3
แนบรูปในกล่องเก็บภาพของที่บ้านค่ะ ไม่มั่นใจว่าเป็นรูปของคุณพ่อหรือคุณแม่ เพราะถ้าเป็นเพื่อนคุณแม่ก็จะมีแต่สาวๆอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ก็คงเป็นรูปสมัยนั้นค่ะ ยิ้ม"
และก็ไม่น่าเชื่อว่าแค่เห็นภาพถ่ายก็มีคนสามารถลงรายละเอียดต่อเรื่องของกระดาษอัดภาพได้อีก
" ลุงไก่ สุครีพ ****** ตอบ: 1281
ความคิดเห็นที่ 40 เมื่อ 20 ก.พ. 14, 19:51
ลักษณะของกระดาษอัดภาพแบบนี้ นิยมกันในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๐ ฟิลม์ถ่ายภาพจำได้ว่าเรียกขนาดฟิล์มเบอร์ ๑๒๐ ในยุคแรกฟิล์มไม่ได้อยู่ในกลักฟิล์ม แต่จะม้วนอยู่รอบแกนฟิล์มและจะมีกระดาษสีดำทาบมากับฟิล์ม การใส่ฟิล์มก้ต้องค่อยๆ คลายฟิล์มออกมา สอดปลายกระดาษเข้าแกนเปล่าอีกด้านหนึ่ง ปิดฝาหลังกล้องให้สนิทแล้วค่อยๆ หมุนแกนให้ฟิล์มเลื่อนไป
บนฝาหลังกล้องจะมีช่องเล็กๆ สำหรับมองตัวเลขลำดับภาพของฟิล์มบนหลังกระดาษห่อฟิล์ม โดยปกติฟิล์ม ๑ ม้วน จะจัดมาให้ถ่ายได้ ๑๒ ภาพพอดี พอถ่ายหมดม้วน ก็หมุนแกนด้านแรกกลับให้หมด ถอดฟิล์มไปส่งร้านให้ล้างและอัดภาพ .. บรรดาตากล้องมือใหม่มักไม่กล้าถอดฟิล์มเอง ก็จะเอากล้องไปที่ร้านช่วยถอดฟิล์มให้"
"POJA พาลี **** ตอบ: 298
ความคิดเห็นที่ 44 เมื่อ 22 ก.พ. 14, 21:14
ตอบอย่างไม่แน่ใจนะคะ
4 ด้านของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไล่จากด้านร้านศรแดง (เมธาวลัย ศรแดง) ตามเข็มนาฬิกาไปเป็นร้านขายหนังสือริมขอบฟ้า (เมืองโบราณ) ขึ้นไปเป็นร้านแมคโดนัลด์ แต่ก่อนเป็นบาร์ชื่อ อเล็กซานดร้า แห่งสุดท้ายซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งคุณ Singing Blue Jay เอ่ยถาม น่าจะเป็นตึกที่ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร Side Walk ก่อนหน้าหลายปีเป็นร้านอาหารวิจิตรมาลี ก่อนจะเป็นร้านอาหารเป็นร้านดอกไม้ ถ้าจะเป็นโรงเรียนเสริมสวยก่อนหน้านั้น ก็เป็นไปได้มากค่ะ
ส่วนอาคาร ศูนย์พณิชยกรรม (ศูนย์แสดงสินค้า)ของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ ที่สี่แยกคอกวัวนั้น ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ล้อมรั้วอยู่เฉย ๆ มาหลายปีแล้วค่ะ ได้ข่าวว่าทาง กทม มีโครงการปรับปรุงเป็นห้องสมุดประชาชน ซึ่งอาจจะเลยไปถึงอาคารกองสลากด้วย คือตึกทางด้านนั้นทั้งแถบ มาสุดตรงอาคารกรมประชาสัมพันธ์เก่าที่ถูกเผาไปตอน พฤษภา 35 ก็จะทำเป็นอนุสรณ์สถาน"
สรุปว่าได้ความรู้มาอีกมากจากความสงสัยเรื่องเก่าของคุณพ่อคุณแม่
สรุปได้ว่าคุณพ่อน่าจะเข้ากรุงเทพในปี พ.ศ. 2485 ส่วนคุณแม่น่าจะอยู่กรุงเทพช่วงแถวๆปี 2490 หรือเลยไปไม่กี่ปีแถวๆนั้น เพราะคุณพ่อคุณแม่ไปเจอกัน แต่งงาน และมีลูกคนแรกในปี 2498
เรื่องราวความหลังของครอบครัวก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ผูกโยงถึงประวัติศาสตร์กันได้