Thursday, April 29, 2010

ภาพรวมการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ มวล

ได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนที่แล้วสำหรับลงในจุลสาร PBL ลืมทุกที วันนี่ฤกษ์งามยามดี และถูกทวงแล้ว ...


PBL ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)ได้หยั่งรากมาลึกพอสมควรตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่มีการดำเนินการของคณาจารย์ผู้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนการสอนลักษณะนี้ หลายสำนักวิชาได้นำ PBL เข้าไปใช้ในการเรียนการสอน มีทั้งเต็มรูปแบบ และใช้เพียงบางส่วนในรายวิชา ความสำเร็จในการดำเนินการจะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติรายวิชา ลักษณะการบูรณาการรายวิชา และธรรมชาติของผู้เรียน

ผู้สอนแต่ละท่านมีเหตุผลในการนำกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL มาใช้ในรายวิชาที่แตกต่างกัน บางท่านเห็นถึงสภาพการพบปัญหาในชีวิตจริงที่ไม่มีการแยกสาขาความรู้ แต่เราต้องใช้ความรู้รอบด้านที่มีนำมาประมวลเพื่อการแก้ปัญหานั้นๆ เราจึงควรสอนในลักษณะที่ให้เห็นปัญหาแล้วแก้ไข บางท่านก็เห็นความจำเป็นในการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น บางท่านเห็นเป็นวิธีการสอนที่ได้ผลเพราะนักศึกษาจะเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งความรู้ที่ได้จะฝังลึกและมีความเข้าใจมากกว่าการฟังการบรรยาย

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ใน มวล.มีหลากหลายขึ้นกับแต่ละสำนักวิชาว่ามีการใช้ PBL มากน้อยเพียงใด สำนักวิชาที่ใช้ PBL อย่างโดดเด่น เช่นสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ แต่ทุกสำนักวิชามีโอกาสให้นักศึกษาใช้กระบวนการของ PBL ได้หากให้นักศึกษาลงเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เรียนแบบ PBL ในที่นี้ขอกล่าวถึงรายวิชากลุ่มศึกษาทั่วไปสองรายวิชาคือ รายวิชาภาษาอังกฤษ 2 และมนุษย์กับสังคม ซึ่งได้มีโอกาสได้ร่วมเป็น Facilitator สองรายวิชานี้เป็นวิชาที่ใช้ PBL เต็มรูปแบบตลอดภาคการศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนกลุ่มย่อยสัปดาห์ละ 2 คาบ โดยใช้ 7 ขั้นตอนของกระบวนการ PBL คาบแรกเป็นการเรียนรู้ขั้นตอนที่ 1-5 จะได้โจทย์ว่านักศึกษาจะเรียนรู้เรื่องใด คาบที่สองเป็นการนำเสนอความรู้ที่ได้ไปศึกษามา พบว่าด้วยธรรมชาติของวิชาและธรรมชาติของผู้เรียนมีผล เช่น รายวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ยากสำหรับคนที่ไม่ชอบและไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ บางคนจะไม่มีความพยายามที่จะค้นคว้า หรือต้องการค้นคว้าแต่ไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ค้นมาเพราะมีอุปสรรคด้านภาษา รายวิชามนุษย์กับสังคม ผู้เรียนบางกลุ่มศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานี้ ก็จะให้ความสนใจและอภิปรายได้มาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว

หากจะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อการเรียนการสอนแบบ PBL ขอเรียนว่าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการเรียนรู้ที่เห็นได้ชัดว่าผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเองจริงๆ หากได้รับการฝึกฝนในการเรียนรู้ลักษณะนี้ต่อไป ผู้เรียนจะเป็นคนใฝ่รู้ยิ่งขึ้นและสามารถหาความรู้ด้วยตนเองได้ ไม่ต้องตามน้ำหรือคิดตามผู้อื่นด้วยความไม่รู้อีกต่อไป

การเรียนการสอนใดๆย่อมต้องมีอุปสรรคขึ้นกับว่าเราจะสามารถจัดการกับอุปสรรคนั้นได้ดีเพียงใด การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ในมวล.ก็เป็นเช่นเดียวกัน เราพบปัญหาว่าการเรียนลักษณะนี้ต้องแบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก จึงใช้บุคลากรผู้สอนจำนวนมากกว่าการสอนบรรยายปกติ ต้องใช้ห้องจำนวนมากซึ่งเป็นปัญหาเพราะห้องเรียนมีจำกัด ต้องมีอุปกรณ์สื่อโสตฯ ประจำห้อง ซึ่งต้องจัดหาให้ตามความเหมาะสม นักศึกษาต้องใช้เวลาในการค้นคว้ามาก มักจะได้ยินจากนักศึกษาว่างานหนัก เวลาไม่พอ แหล่งค้นคว้าต้องมีเพียงพอ เช่นการค้นหนังสือในห้องสมุด หรือการค้นคว้าด้วยอินเทอร์เน็ตซึ่งต้องการระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่เสถียรและรวดเร็วในการหาข้อมูล รวมถึงทัศนคติของนักศึกษาต่อรายวิชาและลักษณะการเรียนการสอนแบบนี้ซึ่งบางคนเห็นว่าต้องศึกษาเพิ่มด้วยตนเองมากมายแทนที่จะเป็นการรับข้อมูลจาการบรรยายอย่างที่คุ้นเคย มวล. ทราบปัญหาเหล่านี้และดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเราได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ท้ายสุด เราได้รับคำถามเสมอว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เมื่อมาเรียนแบบ PBL เราพบกระบวนการเรียนการสอนอย่างชัดเจนว่านักศึกษามีวิธีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีทักษะในการอภิปรายสื่อสารที่ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้เป็นแบบก้าวกระโดด คนที่มีพื้นฐานใฝ่รู้จะยิ่งมีโอกาสมากขึ้นในการหาความรู้ด้วยตนเอง คนที่มีความกระตือรือร้นน้อยจะได้ซึมซับจากการบวนการกลุ่มและปรับตนเองให้มีความใฝ่รู้มากขึ้น แต่โดยรวมจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเสมอ นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ PBL ในมวล.จะยังคงมีความเข้มแข็งอีกต่อไป

Monday, April 26, 2010

โปรแกรมสถาปนาองค์ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ (คุยซายน์) ... น่าสนใจทีเดียว

วันนี้มีคณาจารย์จากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ KuiSci ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นการเชื่อมต่อฐานข้อมูลนักวิจัย

"โปรแกรมสถาปนาองค์ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ (คุยซายน์)
เป็นซอฟต์แวร์เพื่อสังคมของนักวิจัยในสาขานักวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โปรแกรมถูกใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันในชุมชน ในลักษณะของการแลกเปลี่ยน ความรู้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ จะอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นเวทีที่จะทำงานร่วมกัน ระหว่าง ผู้เสนองานที่เสนอปัญหาจากเข้าสู่ระบบเพื่อให้นักวิจัย หาคำตอบของ ปัญหาเหล่านั้น "

http://www.thaisocial.net

การทำงานของโปรแกรมมี flow ตั้งแต่ผู้เสนองานระบุว่ามีงานใด ผู้รับงานจะเสนอโครงการไปให้พิจารณา โครงการนั้นจะถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญประเมิน ผลการประเมินจะถูกแจังให้ทราบ ผู้ได้รับการอนุมัติโครงการจะได้รับการแจ้งกลับ ผู้รับงานจะทำโครงการวิจัยต่อไป เป็นการ match ผู้เสนองานและผู้รับงานที่ดีจะทำให้ข่าวคราวการวิจัยไปถึงผู้ที่สามารถทำงานวิจัยนั้นได้ทั่วถึง

สถานะทั้งหมดมีหลายสถานะ สามารถดูสถานะได้โดยการนำเมาส์ไปวางบน icon สถานะ

โดยภาพรวมเป็นระบบที่ใช้งานง่ายพอควรและน่าจะเป็นประโยชน์มากหากทุกที่ให้ความร่วมมือและเชื่อมต่อฐานข้อมูลของแต่ละสถาบัน แต่ทั้งนี้จะใช้ได้กับทุนภายใน เพราะทุนภายนอกเราไม่มีสิทธิ์อนุมัติ เพราะฉะนั้นระบบนี้อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด ยังคงต้องดูรายละเอียดต่อไป
งานนี้เป็นการทำงานของกลุ่มวิจัยปฏิบัติการสองแห่งของมหาวิทยาลัยบูรพา คือกลุ่มวิจัยสารสนเทศสาสตร์ และกลุ่มวิจัยระบบปฏิบัตการ





Sunday, April 25, 2010

The Red Violin หนังดี...แต่ทำไมเพิ่งได้ดูก็ไม่รู้

วันนี้ดูหนังเรื่อง The Red Violin ไวโอลินเลือด ของ Francois Girard เป็นหนังที่ได้รางวัล Best Music by John Corigliano ในการชิง Academy award เป็นหนังปี 1998( และฉันก็เพิ่งได้ดูในปี 2010 เนี่ยนะ) ทีแรกก็เฉยๆ หยิบมาดูคิดว่าเป็นหนังลึกลับด้วยซ้ำ แต่อ่านคำบรรยายภาษาไทยด้านหลังเขียนว่า นี่คือหนังสำหรับคนรักดนตรี และเมื่อดูจบแล้วก็รู้สึกดีจริงๆด้วย ไม่ได้ถึงกับตื้นตันน้ำตาไหลแต่รู้สึกอยากติดตามอยากรู้เรื่องต่อเนื่อง

พล็อตเรื่องเกี่ยวกับไวโอลินตัวหนึ่งถูกสร้างโดยช่างทำไวโอลินชาวอิตาลีเมื่อสามศตวรรษที่แล้วในปี ค.ศ.1681 เพื่อเตรียมให้กับลูกที่กำลังจะคลอดของเขา โชคร้ายที่ภรรยาของเขาเสียชีวิตระหว่างคลอด ไวโอลินตัวนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้สร้าง เวลาผ่านไปไวโอลินตัวนี้ถูกบริจาคให้โบสถ์ที่เลี้ยงเด็กกำพร้าในออสเตรีย มีเด็กหลายคนได้เล่นต่อๆกันมา จนมีเด็กอัจฉริยะคนหนึ่งได้เล่น และมีนักดนตรีที่เห็นแววพาไปที่เวียนนาเพื่อแสดงให้เจ้าชายคัดเลือกสำหรับร่วมในการเดินทางไปรัสเซียของพระองค์ โชคร้ายอีกครั้งที่เด็กคนนี้เสียชีวิตต่อหน้าพระพักตร์ด้วยความเครียดและเดิมเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ไวโอลินถูกฝังพร้อมศพ 

แต่มีหัวขโมยได้มาขุดหลุมศพนำไวโอลินไป ครั้งนี้ไวโอลินตัวนั้นถูกเล่นต่อๆกันในกลุ่มยิปซีเร่ร่อน จนเมื่อมาถึงอังกฤษ เจ้าของที่ดินที่ยิปซีมาพักซึ่งเป็นนักไวโอลินที่มีสไตล์เฉพาะตัวในสมัยนั้นได้เห็นและนำไวโอลินนี้ไปใช้ในการแสดงของเขา การแสดงของเขาต้องมาจากแรงบันดาลใจที่เกิดจากหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอเองเป็นนักประพันธ์ที่ต้องการแรงบันดาลใจในการเขียนเช่นกัน เธอจึงเดินทางไปรัสเซีย และกลับมาพบว่าเขาหาแรงบันดาลใจจากหญิงอื่นเมื่อไม่มีเธอ เธอยิงไวโอลินตัวนั้นเสียหาย แล้วจากไป เขาฆ่าตัวตายในที่สุดเพราะสูญเสียแรงบันดาลใจและอ่อนแอเพราะฝิ่น 

ไวโอลินถูกนำข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองจีนที่เซี่ยงไฮ้โดยคนรับใช้ชาวจีนของเขาที่กลับwxเมืองจีนและนำไวโอลินตัวนั้นไปขายในร้ายขายของเก่า ไวโอลินถูกขายต่อให้แม่ลูกชาวจีนคู่หนึ่ง ลูกสาวเมื่อเติบโตขึ้นตกอยู่ในช่วงปฏิวัติการปกครองของจีน เครื่องดนตรีตะวันตกจะถูกทำลาย ไวโอลินถูกมอบให้อาจารย์สอนดนตรีผู้เก็บเครื่องดนตรีหลบซ่อนการทำลายของเรดการ์ดจนสิ้นสุดยุคประธานเหมา ในที่สุดรัฐบาลจีนได้มอบคอลเลกชั่นเครื่องดนตรีเหล่านี้กลับมาสู่ประเทศตะวันตก จนเข้าสู่การประมูลในเมืองมอลทรีลออลในแคนาดา ฉากการประมูลเป็นฉากนำเรื่องจากนั้นหนังตัดเรื่องไปมาระหว่างแต่ละช่วงเวลาเดินทางของไวโอลิน ซึ่งตัดภาพได้เรียบรื่นดีมาก 

แล้วเรื่องมาเฉลยกันตอนจบว่าช่างทำไวโอลินได้นำเลือดของภรรยาผู้เสียชีวิตมาทาสีไวโอลินโดยใช้แปรงที่ทำจากผมของเธอ ชื่อเรื่องภาษาไทยที่ตั้งชื่อว่า ไวโอลินเลือด จึงสื่อเนื้อหาส่วนนี้เข้าไปด้วย

โดยส่วนตัวชอบเรื่องนี้ทั้งฉากที่สวยงาม ดนตรีประกอบนั้นยอดเยี่ยม ฟังแล้วอยากเล่นไวโอลินตาม เนื้อเรื่องแต่ละช่วงแสดงให้เห็นยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและลักษณะของภูมิภาคที่ต่างกัน

เกี่ยวกับไวโอลิน จะเห็นว่าเรื่องเริ่มที่ Cremona ซึ่งเป็นเมืองอยู่ทางเหนือของอิตาลี นับเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องดนตรีโดยเฉพาะไวโอลินตระกูลต่างๆ ได้แก่ Amati, Guarneri และ Stradivari ( ในเรื่องใช้ชื่อ Nicolò Bussotti เป็นช่ทำไวโอลิน) เรื่องนี้ว่ากันว่าได้รับแรงบันดาลใจจากไวโอลินของ Stradivarius ที่ชื่อ The Red Mendelssohn สร้างในปี ค.ศ.1721 ปัจจุบันเป็นของนักไวโอลินชื่อ Elizabeth Pitcairn ผู้ได้ไวโอลินตัวนี้เป็นของขวัญวันเกิดซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านเหรียญจากการประมูลกับคริสตี้ที่ลอนดอน ชื่อ "The Red Mendelssohn"มาจากแถบสีแดงบนต้านขวาบนของตัวไวโอลินซึ่งไม่มีใครทราบที่มาของแถบนั้นเช่นกัน

มีนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับไวโอลินของสตราดิวาเรียสคือเรื่อง Antonietta เขียนโดย John Hersey ในปี 1991 Antonietta เป็นทั้งชื่อนิยายและเป็นชื่อของไวโอลินของ Stradivarius ที่สร้างในปี 1699 ในช่วงที่เขาเสียภรรยาและได้ตกหลุมรักกับสาวน้อยคนหนึ่งชื่อ Antonia
Links
1. http://www.youtube.com/watch?v=mHfgRgyxQoA&feature=related เพลงในเรื่องตอนที่ Weiss เสียชีวิตแล้วไวโอลินไปอยู่กับยิปซี
2. http://www.youtube.com/watch?v=2K5q89S_ELg Red Violin Suite with the KCO
A clip of Elizabeth Pitcairn performing The Red Violin Suite for solo violin, strings, harp and percussion by John Corgliano at the World Financial Center Winter Garden in New York City with the Knickerbocker Chamber Orchestra of New York, conducted by music director Gary S. Fagin. 11/17/09

Thursday, April 22, 2010

สัปดาห์แห่งความวุ่นวายของสายการบินยุโรป



สัปดาห์ที่แล้วยุโรปทั้งทวีปเผชิญวิกฤตการณ์ด้านการบินอย่างรุนแรง สาเหตุเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งชื่อ เอยาฟจาลาโยคูลล์ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ในวันที่ 14 เมษายน ทำให้เกิดเถ้าฟุ้งกระจายปกคลุมน่านฟ้าทั่วยุโรป สนามบินในยุโรปต้องปิดดำเนินการทั้งหมดในบริเวณที่เถ้ากระจายไปถึง และเปิดดำเนินการบางสายการบินในบางประเทศในวันที่ 20 เมษายน และในวันนี้ (22 เมษายน) ยูโรคอนโทรล" หน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศของยุโรป คาดหมายว่าการจราจรทางอากาศน่าจะกลับสู่ภาวะปกติเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีผู้โดยสารตกค้างจำนวนมากที่ยังรอเดินทาง และคงต้องใช้เวลาพอควรกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ ว่ากันว่ามูลค่ารายได้ที่สูญเสียของสายการบินต่างๆสูงถึง 1.7 พันล้านเหรียญ (£1.1bn)

คนในยุโรปเดือดร้อนกันมาก มีผู้โดยสารตกค้างอยู่ทุกแห่งทั่วโลกเพราะไม่สามารถเดินทางเข้ายุโรปได้ บางคนต้องเดินทางหลายต่อด้วยพาหนะหลากรูปแบบเพื่อกลับบ้าน เป็นสภาพที่น่าเห็นใจมาก และไม่รู้จะโทษใครดี
ปัญหาจากเถ้าไม่ใช่เรื่องทัศนวิสัย แต่เป็นเรื่องที่เถ้านั้นประกอบด้วยฝุ่นที่เป็นเถ้าภูเขาไฟ แก้ว ซึ่งอาจเข้าไปทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ได้ เมื่อเหตุการณ์สงบลง มีบางฝ่ายได้มาแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจครั้งนี้ใช้ฐานความคิดจากทฤษฎีแทนที่จะเป็นข้อเท็จจริง

ในประเทศอังกฤษซึ่งดูจะเป็นประเทศที่เข้มงวดที่สุดในการปิดน่านฟ้าครั้งนี้ สนามบินถูกปิดไปหกวัน เปิดให้เครื่องบินจอดวันแรกคืนวันอังคารที่ 20 เมษายน

ในช่วงเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีโปแลนด์ เลคช์ คาซีสกี ประสบเหตุเครื่องบินตกขณะร่อนลงจอดในเมืองสโมเลนก์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย ในวันที่ 10 เมษายน พิธีศพถูกจัดขึ้นในช่วงเวลาที่สนามบินในยุโรปถูกปิด ก็เลยกลายเป็นเรื่องรองไปเมื่อเทียบกัน

ในฐานะประชาชนทวีปเอเชีย ซึ่งไมได้เดือดร้อนกับวิกฤตการณ์นี้มากนักถ้าเทียบกับเรื่องของพวกเสื้อแดง เพราะอยู่ไกลและไม่ได้เดินทาง แต่มีประชาชนจากยุโรปที่จะมาเยี่ยมเยียนแต่มาไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องบินให้บินมา ..... สรุปว่าใครๆในโลกก็ได้รับผลจากภูเขาไประเบิดครั้งนี้กันถ้วนทั่วทีเดียว

Saturday, April 03, 2010

อังเดร ริว (Andre Rieu)นักดนตรีในดวงใจ…อีกคน


ได้ยินชื่อ Andre Rieu มาระยะหนึ่งจากการคุยกับเพื่อนที่เนเธอร์แลนด์ รู้สึกจะคุยกันเรื่องเพลงรึอะไรซักอย่างแล้วก็มีชื่อนี้ออกมา ก็เฉยๆแล้วไง คราวนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ซื้อ DVD มาหลายแผ่น เกิดไปได้ DVD คอนเสิร์ตดนตรีฤดูร้อนเล่นที่พระราชวังเชิร์นบุรน์ ในออสเตรีย ชอบมากๆทั้งวงออร์เคสตร้า และบรรยากาศค่ำคืนกลางแสงจันทร์เพ็ญ อลังการอย่างบอกไม่ถูก ไปคุยกับเพื่อนที่เคยไปดูคอนเสิร์ตนี้ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่มีทุกปี เขาก็บอกว่าใช่ เขาเคยไปดูคอนเสิร์ตนี้ เขาชอบอังเดร ริวมาก เราก็ เอ๊ะ อีตาริวนี่มาตอนไหนล่ะ ไม่เห็นมีซักหน่อย ปรากฏว่าพูดกันถึงคอนเสิร์ตคนละปี ที่ฉันดูเป็นคอนเสิร์ตปี 2008 เขาดูคอนเสิร์ตปี 2007 ซึ่งมีอังเดร ริว มาร่วมแสดงด้วย แต่ตอนที่ได้ DVD มาก็มีชุดการแสดงคอนเสิร์ตของอังเดร ริวมาชุดหนึ่งด้วย ชุด The Flying Dutchman” ก็เลยถึงเวลาที่จะดูการแสดงของเขาซักทีว่าจะดีกันมากมายแค่ไหน

ปรากฏว่าตลอดคอนเสิร์ตของเขา ฉันดูเพลินไม่สนใจสิ่งใดๆรอบตัวเลย มีแต่บรรยากาศในคอนเสิร์ตที่ทั้งสนุกสนาน อิ่มเอิบ มีความสุข ดื่มด่ำกับดนตรี และการแสดงที่ยอดเยี่ยม มีไปจนถึงความรู้สึกรักชาติ ทั้งๆที่เขาก็เล่นเพลงชาติของเขาไม่ใช่ของเรา แต่เห็นถึงบรรยากาศการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของคนดู คนดูมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด ร่วมเล่นกับอังเดรไม่ว่าเขาจะให้ช่วยร้องเพลง หรือโยกตัว สรุปได้คำเดียวว่า ยอดเยี่ยม รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตดีๆถึงแม้จะไม่ใช่การแสดงสด คิดว่าจะพยายามหาโอกาสไปดูคอนเสิร์ตของเขาสักครั้งในชีวิต

กลับมาค้นประวัติของเขา พบว่าเขาเป็นนักดนตรีของดัชต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมากที่สุด

อายุปาเข้าไปหกสิบปีแล้วแต่ยังดูดีมาก เป็นคนเมือง Maartricht มีชื่อเสียงในแนวเพลงวอลซ์ วงดนตรีของเขาชื่อ "Johann Strauss Orchestra" ซึ่งเป็นวงที่ดูดีมากๆ การแต่งตัวก็สวย ไม่เคร่งขรึมแบบวงออร์เคสตร้าทั่วไป เขาไปเปิดการแสดงต่างประเทศหลายแห่งทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย

กะว่าจะหา DVD ของเขามาดูอีก แล้วค่อยเขียนรีวิวอีกรอบ

http://www.andrerieu.com/site/ เว็บไซต์ของ Andre Rieu