Friday, November 28, 2014

ต่างสี ต่างศักดิ์?


สองสามวันมานี้ติดตามข่าวการจลาจลในเมืองเฟอร์กูสัน เรื่องราวที่เกิดจากรอยแผลแห่งความแตกต่างของสีผิวมนุษย์ มองแบบคนนอก เข้าใจว่าอเมริกาเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียม  แต่ก็มีบางมุมที่ยังเห็นความไม่เท่าเทียมอยู่นั่นเอง....

มาดูหนังเกี่ยวกับความแตกต่างของสีผิวคนเมื่อสองสามร้อยปีก่อนกันดีกว่าค่ะ....(Spoiled)

เมื่อสองเดือนก่อนได้ดูหนังอังกฤษเรื่อง Belle เป็นหนังพีเรียดย้อนไปถึงปลายศตวรรษที่ 18  เรื่องราวของเบลล์ เด็กหญิงลูกครึ่งผิวสีเกิดจากพ่อที่เป็นทหารเรืออังกฤษกับแม่ที่เป็นทาสแอฟริกันใน West Indies  พ่อของเบลล์รับตัวเบลล์ไปอยู่ที่อังกฤษหลังจากที่แม่เธอเสียชีวิต โดยนำไปฝากไว้กับครอบครัวลุงของพ่อ ซึ่งเป็นเอิร์ลแห่งแมนสฟิลด์ และเป็นหัวหน้าคณะลูกขุนด้วย ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวผู้ดีมีตระกูลอาศัยอยู่ที่ Kenwood House นอกเมืองลอนดอน เบลล์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีคู่กันกับญาติของเธอชื่อ อลิซาเบธ ที่มาอาศัยกับครอบครัวนี้หลังจากที่แม่เสียชีวิตและพ่อก็แต่งงานใหม่ 

เมื่อพ่อของเบลล์ เสียชีวิตลง ได้มอบมรดกไว้ให้เบลล์แต่พ่อของอลิซาเบธไม่ให้มรดกใดกับเธอ  ซึ่งในยุคนั้นการแต่งงานของตระกูลใหญ่มักจะดูเรื่องมรดกที่ติดตัวมาของฝ่ายหญิงด้วย ทำให้อลิซาเบธได้รับความสนใจน้อยกว่าทั้งที่เธอเป็นสุภาพสตรีผิวขาวในขณะที่เบลล์เป็นสุภาพสตรีผิวสี และจากการได้ออกงานสังคมทำให้มีชายหนุ่มจากตระกูลเก่าเข้ามาติดพันหญิงสาวคู่นี้ ในที่สุดเบลล์หมั้นกับโอลิเวอร์ ในขณะที่พี่ชายของโอลิเวอร์สนใจอลิซาเบธแต่หยุดการติดต่อทันทีเมื่อทราบว่าเธอไม่มีมรดกติดตัว

พระเอกของเรื่องชื่อจอห์น เป็นคนหัวก้าวหน้า มาฝึกงานกฏหมายกับลอร์ดแมนสฟิลด์ โดยในปี  1783 มีคดีดังคือ  Gregson v. Gilbert เป็นเรื่องของการเรียกเงินประกันสำหรับทาสที่ถูกฆ่าตายโดยการโยนทิ้งออกไปจากเรือค้าทาส (เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อ  Zong massacre เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การเลิกทาสในอังกฤษในเวลาต่อมา)  ต่อมาจอห์นเกิดโต้เถียงกับลอร์ดแมนลฟิลด์เกี่ยวกับคดีและถูกสั่งห้ามไม่ให้พบกับเบลล์  เบลล์ชอบพอกับจอห์นและได้ลอบไปพบจอห์นเพื่อช่วยนำเอกสารสำคัญไปให้  ลอร์ดแมนสฟิลด์ทราบเรื่องที่เบลล์ไปพบจอห์น จึงตามไปในขณะที่ทั้งคู่นัดพบกัน จนในที่สุดจอห์นสารภาพว่ารักเบลล์ต่อหน้าท่านลอร์ด  ต่อจากนั้นเบลล์ถอนหมั้นโอลิเวอร์ 

เรื่องมาเข้มข้นตอนท้ายเมื่อลอร์ดแมนสฟิลด์ได้พิจารณาคดีเรื่องทาสที่ตายโดยการถูกจับโยนทิ้งทะเล ซึ่งบริษัทค้าทาสเรียกเงินจากบริษัทประกันโดยอ้างว่าบนเรือมีน้ำดื่มไม่เพียงพอ การฆ่าทาสไปจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยคนส่วนใหญ่นับว่าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และบริษัทประกันน่าจะจ่ายค่าประกันให้ ซึ่งบริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายเงิน เรื่องจึงมาถึงศาล  แต่จากการไต่สวนพบความจริงว่าเรือค้าทาสลำนั้นแล่นเรือหลงทาง  บรรทุกทาสมาแออัดมากเกินจนมีทาสป่วยหลายคน นำไปขายก็จะไม่ได้ราคา โยนทิ้งน้ำแล้วรับเงินประกันจะคุ้มกว่า เพราะถ้าทาสไปตายเมื่อเรือถึงฝั่งก็จะไม่ได้เงิน  คดีนี้จบลงที่บริษัทประกันไม่ต้องจ่ายเงินให้บริษัทค้าทาส และเรื่องนี้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งหลังจากที่ลอร์ดแมนสฟิลด์ยอมให้เบลล์คบกับจอห์นและให้ความช่วยเหลือจอห์นให้ได้เป็นนักกฏหมายสมความตั้งใจ

มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจในหนังคือตอนที่นางเอกถามลอร์ดแมนสฟิลด์ว่า ทำไมเธอถึงสูงศักดิ์เกินกว่าที่จะกินอาหารร่วมกับคนใช้ แต่ไม่สูงศักดิ์เพียงพอที่จะกินอาหารร่วมกับครอบครัวของเธอ ....

หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ  Dido Elizabeth Belle โดยได้แรงบันดาลใจจากการที่เห็นรูปวาดรูปนี้ ซึ่งน่าแปลกใจที่เห็นสุภาพสตรีผิวดำแต่งกายเช่นเดียวกับสุภาพสตรีผิวขาว และได้อยู่ร่วมภาพเดียวกันในอิริยาบทเช่นนี้ รูปนี้ปัจจุบันอยู่ที่ Scone Palace ใน  Perthshire, Scotland  อยากเห็นรูปนี้เหมือนกันค่ะ เป็นภาพที่มีชีวิตชีวามาก เป็นอีกภาพหนึ่งที่เห็นปุ๊บก็รักเลย  :)

ค้นรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Zong_massacre      การสังหารหมู่บนเรือ Zong
http://en.wikipedia.org/wiki/Middle_Passage  เส้นทางสามเหลี่ยมการค้าทาสจากยุโรปไปรับทาสจากแอฟริกาเพื่อนำไปขายในทวีปอเมริกา  
https://www.youtube.com/watch?v=9Qx90wdRD2I Belle Official Trailer

1 มีนาคม 2562
เพิ่งได้ดูรายการ Fake or Fortune  S07E04 A Double Whodunnit 02, September   https://www.youtube.com/watch?v=9luqXA5RHiw&list=PLzcBkB4D0BrdOFOKlAVPgm_YLVUnHSSw_&index=2  เขาไปที่ Scone Palace ด้วย  (เพิ่งรู้ว่าอ่านว่า สกูน  :) ) ep. นี้เขาจะพิสูจน์ว่ารูปวาดในโพสต์นี้เป็นฝีมือใครค่ะ  น่าสนใจมาก  จากการพิสูจน์เทียบการใช้สีของภาพ พิสูจน์ได้ว่าผู้วาดภาพนี้คือศิลปินชื่อ David Martin  
ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ใน ep. นี้มีการพูดถึง Reform club อยู่ตรงข้ามกับ office ของ art dealer พิธีกรรายการนี้ ดูแล้วคิดถึงสโมสรปฏิรูปในหนังสือแปดสิบวันรอบโลกเลยทีเดียวค่ะ

No comments: