Tuesday, May 16, 2006

การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อการรับรองมาตรฐาน

การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อการรับรองมาตรฐานหรือเรียกกันง่ายๆว่า การประเมินภายนอกรอบสอง เป็นการประเมินสำหรับโรงเรียนที่ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกครั้งที่หนึ่งมาแล้ว สิ่งที่ต่างจากการประเมินครั้งแรกคือ การประเมินรอบนี้เป็นการประเมินผลออกมาว่าได้คุณภาพตามมาตรฐาน สมศ.หรือไม่ จึงเป็นการประเมินที่ค่อนข้างเป็นที่หนักใจของทุกฝ่ายทั้งฝ่ายโรงเรียนและผู้ประเมิน

บันทึกชุดนี้เป็นบันทึกเตือนความจำถึงประสบการณ์ประเมินโรงเรียนรอบที่ 2 ของตัวเองในฐานะผู้ประเมินภายนอก รอบนี้ได้ประเมิน 2 โรงเรียน(ทั้งทีมมี 4 คน ประเมินทั้งหมด 3 โรงเรียน โดยแบ่งกันว่าใครจะสามารถไปประเมินโรงเรียนใดได้บ้าง บางโรงต้องไปทุกคนเพราะเป็นโรงเรียนขนาดกลางต้องไป 4 คน ส่วนอีก 2 โรงไปโรงเรียนละ 3 คนได้) โรงเรียนแรกช่วงวันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ 2549 อีกโรงเรียนหนึ่งประเมินในช่วงวันที่ 1 - 3 มีนาคม 2549 เป็นที่น่ายินดีที่ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 โรงเรียน

โรงเรียนแรกค่อนข้างจะหาทางเข้ายาก เพราะเราเลือกเข้าอีกเส้นทางหนึ่งจึงเป็นทางลูกรังเสียหลายกิโล (แต่ถึงแม้จะใช้เส้นทางปกติก็จะมีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรจากถนนใหญ่ และเป็นลูกรังเสีย 2 กิโล) ทีมงานของเรามี 3 คนซึ่งโชคดีที่เป็นผู้ร่วมงานในที่ทำงานเดียวกันและแต่ละคนไม่เรื่องมากสักเท่าไร เมื่อเราไปถึงโรงเรียนประมาณ 9 โมงนิดๆ ทางโรงเรียนไม่ทราบว่าเราจะไปเพราะเราได้รับการกำชับมาว่าไม่ให้บอกล่วงหน้า เป็นแนวคิดจากการประชุมของสมศ.โดยตรง ผู้บริหารโรงเรียนค่อนข้างอึดอัดอย่างเห็นได้ชัด และพูดออกมาคำหนึ่งว่า มาอย่างนี้ก็ไม่ใช่กัลยาณมิตรอย่างที่แนวทางการประเมินควรเป็น โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับผ.อ.โรงเรียนเพราะในการประเมินควรให้โอกาสผู้ถูกประเมินได้เตรียมตัว และให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการประเมิน การทำงานจึงจะเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นจริง ตัวเองจึงได้โทรศัพท์กลับไปที่บริษัท ได้รับคำยืนยันว่าการมาแบบนี้เป็นสิ่งที่สมศ.กำหนด จึงชี้แจงกับทางโรงเรียนและขอประเมิน ทางโรงเรียนได้จัดให้เราอยู่ในห้องประชุมเอนกประสงค์ซึ่งมีสภาพดีมากเป็นห้องแอร์(ซึ่งเราพยายามไม่ใช้) ใช้เป็นทั้งห้องประชุม ห้องสอนดนตรีไทย ห้องแสดงแผนภูมิต่างๆ
เราเริ่มต้นโดยการขอประชุมผู้บริหารและครูเพื่อชี้แจงวิธีดำเนินการ และแจ้งให้ทราบว่าเราต้องการเอกสารใด ต้องการพบสัมภาษณ์ใคร และจะเข้าไปดูสภาพจริงของการเรียนการสอน จากนั้นเราก็ออกไปดูสภาพการเรียนการสอนจริง ในการประเมินทีมเราได้แบ่งมาตรฐานกันประเมินคือคนที่หนึ่งประเมินการศึกษาปฐมวัย 10 มาตรฐาน(ไม่ต้องประเมินด้านผู้บริหารยกเว้นมาตรฐานที่ 12) อีกคนประเมินมาตรฐานด้านผู้บริหาร 5 มาตรฐาน ด้านครู 2 มาตรฐาน ส่วนอีกคนประเมินมาตรฐานด้านผู้เรียนทั้งหมด 7 มาตรฐาน โดยครั้งนี้ตัวเองรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมประเมินจึงเป็นผู้ที่จะอ่านรายงานและแก้ไขอีกหน้าที่หนึ่งด้วย

โรงเรียนนี้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีครู 10 คน นักเรียน จำนวน 180 คน นับว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพการสอนดี เราใช้เวลาช่วงเช้าในการดูโรงเรียนจนทั่ว ได้คุยกับครูผู้สอนเก็บข้อมูลระหว่างการเดิน ดูห้องสมุด ดูห้องปฏิบัติการ ดูสนามออกกำลังกาย โดยแต่ละคนก็จะดูตามมาตรฐานของตนเอง บรรยากาศในการประเมินดีขึ้นเรื่อยๆเพราะทางโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมาก ผ.อ. เข้าใจและให้ความร่วมมือ ครูผู้สอนให้ข้อมูลตรงไปตรงมา นักเรียนก็สามารถพูดคุยกับเราได้โดยไม่กระดากอาย ช่วงเช้าหลังจากการเดินดูโรงเรียน เราใช้เวลากับเอกสารซึ่งที่นี่มีมากสมกับที่ผ.อ.เคยได้ตำแหน่งผู้บริหารดีเด่น จนเที่ยงทางโรงเรียนเลี้ยงข้าวกลางวัน ซึ่งเราก็ได้บอกว่าทางสมศ.ไม่ต้องการให้เรารบกวนโรงเรียนที่ประเมิน แต่ก็เข้าใจทางโรงเรียนเพราะธรรมเนียมไทย ใครมาก็ต้อนรับ ไม่ได้ถือเป็นบุญคุณที่ต้องลำบากใจแต่อย่างใด อีกอย่างที่นี่ค่อนข้างไกล ถ้าออกไปหาอะไรกินข้างนอกจะเสียเวลามาก ตามปกติที่ทำมาเราจะกินข้าวที่โรงเรียนแล้วในวันสุดท้ายจะหาหนังสือมอบให้ห้องสมุดเป็นของตอบแทนเล็กๆน้อยๆ

เรากินข้าวร่วมกับครูทั้งโรงเรียนในห้องรับรองเล็กๆ ทางโรงเรียนต้อนรับอย่างดี อาหารอร่อย ช่วงบ่ายก็ทำงานเอกสารต่อ ผสมไปกับการเดินไปหาหลักฐานเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์ครู นักเรียน และ ผ.อ. เราทำงานจนเวลาประมาณ 4 โมง ก็เดินทางกลับ ระหว่างขับรถกลับก็คุยกันในทีม วางแผนการว่าวันพรุ่งนี้จะทำอะไรต่อ เรากลับมาที่ทำงานและแวะคุยกันครู่หนึ่งก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน

วันที่สองของการประเมิน เราไปถึงโรงเรียนแต่เช้า ดูสภาพก่อนเข้าเรียน ประทับใจกับการแบ่งหน้าที่ดูแลโรงเรียนของนักเรียนซึ่งที่นี่มีการแบ่งเป็นเครือข่ายตามพื้นที่บ้านของนักเรียน นักเรียนรุ่นพี่จะดูแลรุ่นน้อง ครูที่ดูแลเครือข่ายจะไปเยี่ยมบ้าน ผู้ปกครองในเครือข่ายจะช่วยดูแลลูกหลาน นักเรียนจะดูแลโรงเรียนในเขตที่ตนเองรับผิดชอบ มีการตรวจงานโดยครูประจำเครือข่าย และมีการรายงานผลหน้าเสาธงทุกวัน เด็กที่นี่พื้นฐานจิตใจดีมากมีระเบียบวินัยสูงเห็นได้ชัดจากความประพฤติ วิธีการไหว้ การทำตามที่ครูสั่งถึงแม้ครูจะไม่ได้อยู่เช่น นักเรียนพาไปที่ห้องสมุด นักเรียนชั้นประถมจะเข้าไปในห้องสมุด แต่นักเรียนอนุบาลจะยืนออกันหน้าห้องสมุด เมื่อถามว่าทำไมไม่เข้ามา หนูๆจะบอกว่าคุณครูไม่ให้เข้าห้องสมุดถ้าครูไม่มาด้วย มีตัวอย่างของเด็กๆอีกหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าโรงเรียนนี้ได้สร้างแรงจูงใจที่ดีในการให้เด็กอยากเรียน คิดถึงเรื่องเด็กโต๋ขึ้นมาทันทีตอนที่เด็กบอกว่าถ้าทำตัวดี ผ.อ.จะพาขึ้นรถหกล้อของผ.อ.และพานักเรียนไปเที่ยวซึ่งจริงๆคือการเรียนนอกสถานที่

ตลอดเช้ายังคงเป็นการหาข้อมูลเอกสาร เดินไปยืนยันข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตอนเที่ยงกินข้าว ช่วงบ่ายพบกับผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา พวกเรายิงคำถามตามมาตรฐานที่ดูแล ผลตอบรับของโรงเรียนนี้ดีมาก เห็นชัดว่าชุมชนสัมพันธ์แข็งแรงมาก หมดวันที่สอง เราได้คุยกันระหว่างกลับบ้าน ก็พอจะมองเห็นผลการประเมินที่ต้องแจ้งให้โรงเรียนออกมาคร่าวๆแล้ว

วันที่ 3 เราใช้เวลาช่วงเช้าในการเขียนเอกสาร และรวบรวมข้อมูลออกมาให้อยู่ในรูปแบบที่จะแจ้งผลประเมินให้โรงเรียนทราบด้วยวาจา ทีแรกค่อนข้างลำบากใจเพราะผลการประเมินฝั่งปฐมวัยออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่าเราต้องยึดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

ในการประเมินจะแยกกันระหว่างการศึกษาปฐมวัยและประถมและมัธยมศึกษา ที่นี่ในส่วนการศึกษาปฐมวัยได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน 10 มาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน 4 มาตรฐาน ( คือ มาตรฐานที่ ๘ ครูมีคุณวุฒิ/ความรู้ ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ และมีครูเพียงพอ มาตรฐานที่ ๑๒ สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มาตรฐานที่ ๔ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ และ มาตรฐานที่ ๖ ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ) ในส่วนประถมศึกษาได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน ๑๓ มาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน 1 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ ๕ ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร

ในการแจ้งผลการประเมิน เราเชิญผู้บริหารและครูเข้าฟัง (ทั้งนี้ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาจะฟังด้วยก็ได้ เราก็เชิญ แต่มักจะไม่มีคนเข้ามา) เราแจ้งผลโดยการที่หัวหน้าทีม(ในที่นี้คือตัวเอง) กล่าวขอบคุณที่ทางโรงเรียนให้ความร่วมมือในการหาข้อมูล เราเล่าวิธีการหาข้อมูลของเราในโรงเรียน และเกณฑ์ในการจัดว่าได้มาตรฐานโดยการอิงเกณฑ์และอิงสถานศึกษาซึ่งต่างจากเกณฑ์ในการประเมินรอบแรก ครั้งนี้โรงเรียนที่ผ่านมาตรฐานจะต้องมีมาตรฐานที่ผ่านไม่ต่ำกว่า 11 มาตรฐาน และไม่มีมาตรฐานใดอยู่ในระดับปรับปรุง การแจ้งผลเราแบ่งตามมาตรฐาน เริ่มจากของประถมศึกษา ด้านผู้บริหาร มาตรฐานใดผ่าน มาตรฐานใดไม่ผ่าน ต่อด้วยด้านครู และผู้เรียน จากนั้นแจ้งผลของการศึกษาปฐมวัย เมื่อแจ้งผลแล้ว เราเปิดโอกาสให้ซักถามและทักท้วง เนื่องจากทีมเราได้ชี้แจงในขณะที่เราทำงานค่อนข้างชัดเจนว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนที่ทางโรงเรียนยังขาด จึงไม่มีข้อสงสัยในผลที่ออกมา จากนั้นเราบอกว่ากระบวนการต่อไปเราจะทำรายงานส่งบริษัทแล้วบริษัทจะส่งมาให้ทางโรงเรียนตรวจ หากมีข้อทักท้วงก็ยังทำได้ หากทางโรงเรียนยอมรับรายงานการประเมิน รายงานจะถูกส่งไปที่สมศ.ต่อไป หลังจากที่เราพูดจบ ทางโรงเรียนก็กล่าวขอบคุณ ซึ่งพวกเรารู้สึกดีมากเพราะ ผ.อ.บอกว่า ถึงแม้เราจะเริ่มต้นมาอย่างไม่ค่อยจะเป็นกัลยาณมิตรแต่ในการทำงานของเราพวกเราทุกคนทำตัวเป็นกัลยาณมิตร พวกเราเองก็ดีใจที่เราทำงานอย่างโปร่งใสและอธิบายได้ รวมถึงโชคดีที่ผลการประเมินออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับของทุกคน

แล้วการประเมินโรงเรียนแรกก็จบลงอย่างเรียบร้อย
( จากอัธยาศัยอันดีของ ผ.อ. ครูและนักเรียน รู้สึกประทับใจมาก เมื่อสิ้นสุดการประเมิน ตัวเองจึงสมัครสมาชิกอุปถัมป์นิตยสาร Update ให้ทางห้องสมุดโรงเรียน (แต่ไม่ได้แจ้งทางโรงเรียนว่าสมัครไว้ให้ คิดวาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร) หวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆบ้าง)

โรงเรียนที่สองของทีม ตัวเองไม่ได้ร่วมประเมิน มีน้องในทีมประเมินคนหนึ่งผ่าตัดไส้ติ่งช่วงนั้นพอดี ขาดคนประเมินหนึ่งคน ผู้ประเมินผู้ใหญ่ของบริษัทท่านหนึ่งได้มาช่วยประเมิน ผลการประเมินไม่เป็นที่ยอมรับของโรงเรียน ถึงขนาดต้องชี้แจงกันนานตลอดบ่ายถึง 5 โมงเย็น และหัวหน้าทีมต้องบอกว่าขอกลับมาดูก่อน จึงได้กลับออกมา เราก็ต้องทำรายงานตามผลการประเมินที่ทำ เข้าใจว่าทางโรงเรียนคงไม่ยอมรับผลการประเมินชุดนี้

โรงเรียนที่สามของทีม ที่เป็นโรงเรียนที่สองของตัวเองในการประเมิน เป็นโรงเรียนอยู่ใกล้ทะเล ใกล้ที่ทำงานด้วย แต่ยังคงพึ่งอาหารกลางวันที่โรงเรียนอยู่ดี เพราะธรรมเนียมคนไทยเหมือนเคย โรงเรียนนี้ นักเรียนเป็นมุสลิม 98% เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 มีครู ๓๑ คน นักเรียน ๗๐๙ คน ทางโรงเรียนรู้ตัวอยู่แล้วว่าเราจะเข้าไปประเมิน บรรยากาศการประเมินเป็นไปฉันมิตร โรงเรียนได้มาตรฐานทั้งการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา ในช่วงการประเมินนี้เราได้ข่าวว่า สมศ. มีประกาศให้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ของมาตรฐานที่ 8 และในมาตรฐานที่ 5 ยังไม่ต้องแจ้งผลเพราะจะรอผลการสอบมาตรฐานชาติที่จัดสอบในเดือนกุมภาพันธ์ เราก็ดำเนินการตามนั้น การประเมินโรงเรียนนี้ก็ผ่านไปด้วยดีอีกโรงเรียนหนึ่ง

งานที่ตามมาคือการจัดทำรายงาน ซึ่งกลุ่มเราใช้เวลานานมาก กว่าจะได้ส่งฉบับจริงก็จวนเจียนกำหนดจนถึงต้นเดือนเมษายน นับว่าตัวเองทำงานช้ากว่าที่เคยเป็นอย่างมาก พอจะหาข้อสรุปได้ว่า ครั้งนี้เป็นการทำงานของคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน การขอเลื่อนจึงทำได้โดยไม่ละอายแก่ใจมากนักเพราะสนิทกัน และเมื่อใครบอกว่ายุ่ง เราก็จะมองเห็นภาพ เพราะรู้วิธีการทำงานในองค์กรอย่างดีจึงมีข้อแก้ตัวให้กันเสมอ ถ้าเป็นคนที่ไม่สนิทกันมากการทำงานจะต้องเร่งรีบกว่านี้เพราะเราจะเกรงใจผู้ร่วมทีม ปัญหาอีกอย่างคือทีมงานเราเป็นคนใหม่ทุกคนยกเว้นตัวเองซึ่งมรประสบการณ์มากกว่าเล็กน้อย รูปแบบการเขียนแต่ละคนจะเขียนตามความเข้าใจของผู้เขียน แล้วเกิดไม่แน่ใจว่าเขียนแบบนี้จะดีหรือไม่ ก็คอยกันไปคอยกันมา จนในที่สุดเราวาง template ของรายงานไว้ การเขียนก็ง่ายขึ้น

ผู้พิมพ์งานก็สำคัญ งานนี้เราให้น้องที่ทำงานคนหนึ่งช่วยพิมพ์ น้องคนนี้จะพิมพ์งานของสมศ.บ่อยจนรู้งาน ถึงขนาดสามารถช่วย edit ได้ด้วย ทำให้งานง่ายขึ้นมาก

ค่าใช้จ่ายที่เกิดระหว่างการทำงาน แต่ละคนจะจดส่วนที่จ่ายไปแล้วมาหารเฉลี่ยกันทีหลังในส่วนที่เกินจากการลงขันเบื้องต้น(คนละ 500 บาท)

การประเมินรอบนี้ของบริษัทมีบางกลุ่มที่ส่งไม่ทัน ก็จะถูกสมศ.ปรับ ซึ่งตัวเองก็ไม่ทราบว่าจะถูกปรับเท่าไร แต่เมื่อตอนที่เข้าบริษัทใหม่ๆ ทราบว่า การที่ถูกปรับเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่ได้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่สมศ.ยกขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ประเมินระดับดี ก็น่าเสียดายไม่น้อย

No comments: