Tuesday, May 31, 2016

Embrace of the Serpent หนังอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาด

หนังเรื่องนี้เป็นหนังอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง ใช้ชื่อภาษาไทยว่า จอมคนป่าอสรพิษ หรือในภาษาสเปนคือ El abrazo de la serpiente เป็นหนังโคลอมเบีย ออกฉายในปี 2015 กำกับโดย ผู้กำกับ Ciro Guerra หนังได้รางวัล Art Cinema Award จาก้ิเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเทศกาลหนังที่อื่นๆ ได้รางวัลการันตีมามากมาย การถ่ายทำใช้ฟิล์ม 35 ม.ม. นำเสนอหนังขาวดำซึ่งทำให้รู้สึกว่าเรื่องราวย้อนยุค และทำให้ภาพออกมาดูงดงามมาก

เนื้อหาเป็นเรื่องราวของ การามากาเต (Karamakate) ผู้เหลือรอดคนสุดท้ายของชาวอเมซอนเผ่าหนึ่ง ผู้มีเหตุให้ต้องนำทางนักผจญภัยสองคนผู้เข้ามาในอเมซอนต่างกรรมต่างวาระ คนหนึ่งเป็นนักชาติพันธุ์วิทยาเยอรมันเดินทางมาในปี 1909 อีกคนหนึ่งเป็นนักพฤษศาสตร์ชาวอเมริกันเข้ามาในปี 1940 ทั้งสองกรณีเป็นการบุกเข้าไปในป่าลึกเพื่อค้นหาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ยากรูนา โดยหนังตัดฉากกลับไปกลับมาระหว่างสองช่วงเวลาเล่าเรื่องราวของสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง

สิ่งที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกร่วมได้อย่างมากคือความรู้สึกของคนพื้นเมืองที่ถูกนักล่าอาณานิคมเข้ามายึดครองและใช้แรงงานทาสเพื่อการทำสวนยาง อันเป็นสิ่งที่โลกต้องการมากในขณะนั้น การใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งเป็นสิ่งได้เปรียบของคนผิวขาวที่ทำให้คนพื้นเมืองไร้ทางสู้ การเข้ามาของผู้เผยแพร่ศาสนาชาวสเปนอันเข้มงวด ผู้เข้ามาด้วยความคิดว่าคนพื้นเมืองเป็นคนนอกรีต ป่าเถื่อน แต่ละฉากในหนังที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนงานกรีดยาง นักบวชสเปน ชาวโคลัมเบียผู้เข้ามาครอบครอง แสดงให้เห็นความแตกต่างทางความคิดขั้นพื้นฐานของคนพื้นเมืองและคนผิวขาว เห็นความโหดร้ายที่ชาวพื้นเมืองถูกกระทำโดยไม่มีความสามารถที่จะตอบโต้

เรื่องนี้จัดได้ว่าเห็นหนังดีที่ให้ความคิดในแง่มุมต่างๆได้มาก สามารถมองได้หลายมุมมอง ทั้งในมุมมองของประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ุ ศาสนา ปรัชญา การรู้แจ้ง และเทคโนโลยีที่สร้างความได้เปรียบให้ผู้ถือครอง

เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนักสำรวจอเมซอนตัวจริงสองคนคือ Theodor Koch-Grünberg และ Richard Evans Schultes

ความเห็นส่วนตัว:
ในมุมมองของคนที่อยู่ในวิถีไทย ชีวิตคนที่ห่างไกลความเจริญที่ถูกเอาเปรียบโดยคนที่มาจากเมืองเจริญกว่าไม่ใช่สิ่งแปลกสำหรับเรา พิธีกรรมความเชื่อต่างๆเทียบกับคนไทยก็ไม่ต่างกัน เราเองก็มีความเชื่อในลักษณะต่างๆที่สืบต่อกันมา สิ่งที่คนพื้นเมืองอเมซอนถูกกระทำ เป็นสิ่งที่คนพื้นเมืองในส่วนอื่นๆทั่วโลกถูกกระทำจากผู้ล่าอาณานิคมเช่นกัน
ยิ่งเมื่อลงไปถึงการเดินทางผ่านนิมิตแล้วกลับมาแทบจะทำให้เรามองเห็นภาพการรู้แจ้งทางศาสนาว่ามีลักษณะอย่างใด ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เกือบจะนึกออกว่าการตรัสรู้แล้วรู้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอย่างไร
คำพูดของตัวละครบางประโยคทำให้เรานึกถึงหลักธรรมชาติ ในขณะที่บางประโยคฟังแล้วทำให้นึกไปถึงกลศาสตร์ควอนตัมที่มองโลกและสิ่งที่เป็นไปในลักษณะที่ขัดกับความรู้สึกและความเข้าใจปกติของมนุษย์อย่างเราๆ เช่น คำถามว่าตลิ่งมีกี่ด้าน คำตอบของนักสำรวจคือ มีสองด้าน แต่ความเข้าใจของการามากาเตบอกว่ามีเป็นพันตลิ่งที่แตกต่างกัน
โดยสรุป ถ้าไม่ได้ดูถือว่าพลาดค่ะ

---------------------------------------
ปล.1 ไม่มีรูปประกอบโพสต์นี้ แต่จริงๆแล้วชอบโปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้มาก ผู้วาดภาพโปสเตอร์ได้เขียนเล่าการวาดโปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้ซึ่งใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ลองตามไปอ่านดูในลิงก์ที่พันทิปนะคะ
http://pantip.com/topic/35136366

ป.ล. 2 ชื่อหนังมีที่มานะคะ Embrace of the serpent แปลได้ประมาณ อ้อมกอดของงู การโอบกอดของงู ซึ่งเมื่อเราได้รับการโอบกอดจากงูในตำนานผู้ลงมาจากทางช้างเผือกก็จะทำให้เราได้มองโลกจากอีกจุดเวลาและมุมมองที่ต่างไปค่ะ เหมือนที่ในหนังตอนท้ายที่อีวานได้รับประสบการณ์ใหม่ในการมองโลก ผู้กำกับให้สัมภาษณ์เรื่องตำนานไว้นะคะ
ในตำนานของอเมซอนเล่าขานกันมาว่า มีสิ่งที่มาจากทางช้างเผือกเดินทางมายังโลกด้วยงูยักษ์อนากอนดา พวกเขาลงมายังมหาสมุทรแล้วเดินทางสู่อเมซอน โดยแวะหยุดที่ชุมชนรายทางและได้ทิ้งผู้นำทางไว้เพื่อให้บอกเล่ากฏแห่งการอยู่อาศัยบนโลกนี้ ทำการเก็บเกี่ยวอย่างไร ตกปลาอย่างไรและล่าสัตว์อย่างไร จากนั้นพวกเขาก็รวมกลุ่มกันแล้วกลับไปสู่ทางช้างเผือก ทิ้งไว้แต่งูยักษ์อนากอนดาซึ่งได้กลายเป็นแม่น้ำ หนังที่หดตัวของงูยักษ์กลายเป็นน้ำตก
เขายังได้ฝากของขวัญสองสามอย่าง ทั้ง โคคา พืชศักดิ์สิทธิ์ ยาสูบซึ่งเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์อีกชนิดหนึ่งและ yagé ซึ่งเปรียบเสมือน ayahuasca ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อสื่อสารกับพวกเขาหากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการอยู่ดำรงในโลก เมื่อใช้ yagé งูใหญ่จะลงมาจากทางช้างเผือกอีกครั้งและจะโอบกอดเราไว้ อ้อมกอดนั้นจะพาเราไปยังดินแดนอันไกลโพ้น ไปสู่จุดเริ่มต้นที่ซึ่งยังไม่มีสิ่งมีชีวิต ที่ซึ่งเรามองเห็นโลกในมุมมองที่ต่างออกไป

น้องกระดิ่งเงินกระดิ่งทอง ...ใครเลี้ยงบ้างคะ



สิ่งนี้คือน้องแมลงที่เชื่อกันว่าเป็นสัตว์มงคลค่ะ เลี้ยงไว้ให้โชคลาภ ทำมาค้าขึ้น ข่าวว่าในเมืองไทยนิยมเลี้ยงมาหลายปีแล้วเหมือนกัน ทำไมตัวเองไม่เคยเห็นก็ไม่ทราบ อาจจะไม่เคยสังเกต วันนี้ที่ได้เห็นเพราะไปซื้อเลนส์สายตาที่ร้านท็อปเจริญข้างตลาด แล้วก็ขอให้น้องที่ร้านช่วยดัดขาแว่นให้นิดนึงเพราะมันหลวมจะดัดเองก็กลัวจะหักคามือ
ระหว่างที่น้องเอาแว่นไปดัดขาให้ ตัวเองก็เหมือนคนตาบอด มองทุกอย่างเบลอๆเหมือนทำ photoshop เห็นอะไรก็ไม่รู้สีน้ำเงินๆ วางบนโต๊ะเตี้ยๆ คิดว่าเป็นของประดับก็เลยนั่งลงไปดูอย่างจริงจัง ปรากฏว่าสิ่งนั้นคือตัวแมลงกำลังเดินไปเดินมาบนกองข้าวตอกที่ใส่ขวดโหลไว้ มีดินทรายอยู่ชั้นล่างข้าวตอกอยู่ชั้นบน มีผ้าโปร่งสีน้ำเงินผูกปิดปากโหลไว้อีกที ก็เข้าใจไปว่าเป็นวิธีการดักแมลงอีกแบบ อยากรู้วิธีการก็ถามน้องเขาว่าสิ่งนี้คืออะไร ดักแมลงด้วยข้าวตอกนี่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
น้องเขาเลยแก้ความเข้าใจให้ว่า นี่เป็นแมลงเลี้ยงเป็นตัวนำโชคลาภ ซื้อมาจากอินเทอร์เน็ตแค่สิบตัวแล้วก็ออกลูกออกหลานมากมาย เลี้ยงด้วยข้าวตอกรสจืด ส่วนที่เห็นเป็นดินทรายนั่นเป็นมูลของแมลงค่ะไม่ใช่ดินจริงๆ น้องๆพวกนี้โตเร็วมาก แล้วก็จะออกไข่ เป็นตัวหนอน แก่ตัวก็เป็นกระดิ่งเงินกระดิ่งทองแบบนี้ ถามน้องเขาว่าแล้วถ้ามีเยอะๆทำยังไง ก็แมลงอะนะคะ ยังไงก็แพร่พันธ์ุเร็ว วงจรชีวิตก็ไม่น่าจะยาว น้องเขาบอกว่าก็แจกๆให้ลูกค้าที่สนใจไปบ้าง น้องเขาใจดีจะให้แมลงมาเลี้ยงด้วยนะคะ แต่ไม่ค่อยถนัดเลี้ยงแมลงก็ให้คนที่เขาสนใจดีกว่า
กลับมาค้นเน็ตดู พบว่าแมลงชนิดนี้เป็นประเด็นคุยกันมาหลายปีแล้ว บางคนบอกว่ามันคือหนอนนก บางคนบอกว่าไม่ใช่ ไปดูอันนี้มาดูจะเข้าเค้า เขาบอกว่าเป็นแมลงที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Martianus dermestoides อยู่ในวงศ์ Tenebrionidae คนละตัวกับหนอนนกซึ่งคือ Tenebrio molitor ซึ่งแม้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่หนอนนก มีตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใหญ่กว่ากระดิ่งทองมาก อันนี้ไม่รู้จริงๆ ไม่ค้นเพิ่มด้วย เพราะปกติก็ไม่ได้สนิทสนมขอบพอกับน้องหนอนขนาดนั้น
ถามน้องที่ร้านว่าตั้งแต่ได้มา มีโชคลาภจริงๆเหรอ น้องเขาก็บอกว่าดีขึ้นจริง  แต่อยากจะบอกว่าน้องที่ร้านเป็นคนอัธยาศัยดีค่ะ พูดจาดี ให้ความช่วยเหลือดีมาก ต่อให้ไม่มีสิ่งนำโชค ชีวิตก็น่าจะดีนะคะ
ใครไม่มีโชคลาภเอาเลย รีบไปขอน้องกระดิ่งทองมาเลี้ยงด่วนเลยค่ะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนไม่ไหวแล้ว ก็ให้น้องแมลงช่วยแล้วกัน

The incredible beauty of math

ปกติเวลาเล่นอินเตอร์เน็ตก็จะเปิดหาอะไรน่าดูบน You Tube ไปเรื่อยๆ ดูจนเสียใจว่าเราเกิดเร็วไปมั้ย เพราะหลายๆเรื่องที่เคยเรียนมาแต่มองภาพไม่ออก ไม่มีใครยกตัวอย่างการนำไปใช้ให้เห็น ไม่มีใครมีเวลามาอธิบายความเป็นมาของเรื่องนั้นๆ (อย่าบอกว่าทำไมไม่ถาม....ถามแล้วค่ะ...) มาสมัยนี้มันช่างง่ายดายที่จะหาคำอธิบาย มีคนมาอธิบายแบบเห็นภาพ มี animation ให้ดู ยกตัวอย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์ ตอนม. 1 จำได้ว่าชอบวิชาคณิตศาสตร์ที่สุด เพราะอะไรๆก็เข้าใจง่ายมาก ยกความดีทั้งหมดให้อาจารย์ผู้สอนที่แสนจะใจดี สนุกสนาน แต่เมื่อเรียนสูงขึ้นคณิตศาสตร์มีความยากมากขึ้น แต่ความสามารถในการทำความเข้าใจของเราไปไม่ทันความยากขนาดนั้น วิชาที่ชอบที่สุดจึงเปลี่ยนจากคณิตศาสตร์ไปเป็นเคมี ซึ่งก็กราบอาจารย์อีกว่าทำอะไรให้เข้าใจได้ง่ายมากๆ

ตอนนี้จะกราบ You Tube ก็กระไรนะคะที่นำอาจารย์ดีๆออนไลน์มาให้ได้ศึกษามากเหลือเกิน 

คลิปนี้เป็นการบรรยายของ Dr. Margot Gerritsen จาก Standford Univ เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามดูบน You Tube มาเรื่อยๆ เพราะสามารถอธิบายเรื่องยากๆให้เห็นภาพได้แบบชัดเจน แน่นอนว่ามันมีความยากในรายละเอียด แต่การที่เรามองเห็นภาพรวมแบบนี้มันทำให้คณิตศาสตร์ดูสวยขึ้นมามากจริงๆ

ตัวอย่างเช่น ตอนท้ายๆของคลิปนี้พูดถึงการทำ Library of Congress Subject Headings (LCSH) Visualization ของการแคตตาล็อกหมวดหมู่หนังสือของห้องสมุดรัฐสภาอเมริกันเพื่อให้เข้าใจโครงสร้างทั้งหมด โดยการจัดข้อมูลของ Subject header ภาพความสัมพันธ์ที่ได้ออกมาดูน่าตื่นเต้นมากเพราะมีลักษณะคล้ายกาแลกซี่ โครงการนี้มีนำเสนอบนอินเทอร์เน็ตนะคะ เข้าไปดูได้ ข้อมูลที่เห็นเป็นการ แสดงความสัมพันธ์ของหัวเรื่องมากกว่าหนึ่งแสนหัวเรื่อง เราสามารถขยายภาพแล้วดูเฉพาะหัวเรื่องที่เราสนใจได้ มีบรรณารักษ์กี่คนคะที่เคยเห็นภาพการเชื่อมโยงของเนื้อหาที่เราจัดเก็บในห้องสมุดแบบเป็นรูปธรรมแบบนี้ จากภาพที่ได้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ว่าจุดใดที่มีการเชื่อมโยงน้อย ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะยิ่งเชื่อมโยงมากเท่าไรการค้นหาสิ่งที่เราสนใจก็จะค้นได้ง่ายและมีให้ค้นมากขึ้นใช่ไหมคะ ศูนย์บรรณฯอยากได้ visualization แบบนี้ซักชุดไหมคะ

ไม่รักคณิตศาสตร์ไม่ได้แล้ว
https://www.youtube.com/watch?v=s6p864XVxeU