Friday, November 28, 2014

ต่างสี ต่างศักดิ์?


สองสามวันมานี้ติดตามข่าวการจลาจลในเมืองเฟอร์กูสัน เรื่องราวที่เกิดจากรอยแผลแห่งความแตกต่างของสีผิวมนุษย์ มองแบบคนนอก เข้าใจว่าอเมริกาเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียม  แต่ก็มีบางมุมที่ยังเห็นความไม่เท่าเทียมอยู่นั่นเอง....

มาดูหนังเกี่ยวกับความแตกต่างของสีผิวคนเมื่อสองสามร้อยปีก่อนกันดีกว่าค่ะ....(Spoiled)

เมื่อสองเดือนก่อนได้ดูหนังอังกฤษเรื่อง Belle เป็นหนังพีเรียดย้อนไปถึงปลายศตวรรษที่ 18  เรื่องราวของเบลล์ เด็กหญิงลูกครึ่งผิวสีเกิดจากพ่อที่เป็นทหารเรืออังกฤษกับแม่ที่เป็นทาสแอฟริกันใน West Indies  พ่อของเบลล์รับตัวเบลล์ไปอยู่ที่อังกฤษหลังจากที่แม่เธอเสียชีวิต โดยนำไปฝากไว้กับครอบครัวลุงของพ่อ ซึ่งเป็นเอิร์ลแห่งแมนสฟิลด์ และเป็นหัวหน้าคณะลูกขุนด้วย ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวผู้ดีมีตระกูลอาศัยอยู่ที่ Kenwood House นอกเมืองลอนดอน เบลล์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีคู่กันกับญาติของเธอชื่อ อลิซาเบธ ที่มาอาศัยกับครอบครัวนี้หลังจากที่แม่เสียชีวิตและพ่อก็แต่งงานใหม่ 

เมื่อพ่อของเบลล์ เสียชีวิตลง ได้มอบมรดกไว้ให้เบลล์แต่พ่อของอลิซาเบธไม่ให้มรดกใดกับเธอ  ซึ่งในยุคนั้นการแต่งงานของตระกูลใหญ่มักจะดูเรื่องมรดกที่ติดตัวมาของฝ่ายหญิงด้วย ทำให้อลิซาเบธได้รับความสนใจน้อยกว่าทั้งที่เธอเป็นสุภาพสตรีผิวขาวในขณะที่เบลล์เป็นสุภาพสตรีผิวสี และจากการได้ออกงานสังคมทำให้มีชายหนุ่มจากตระกูลเก่าเข้ามาติดพันหญิงสาวคู่นี้ ในที่สุดเบลล์หมั้นกับโอลิเวอร์ ในขณะที่พี่ชายของโอลิเวอร์สนใจอลิซาเบธแต่หยุดการติดต่อทันทีเมื่อทราบว่าเธอไม่มีมรดกติดตัว

พระเอกของเรื่องชื่อจอห์น เป็นคนหัวก้าวหน้า มาฝึกงานกฏหมายกับลอร์ดแมนสฟิลด์ โดยในปี  1783 มีคดีดังคือ  Gregson v. Gilbert เป็นเรื่องของการเรียกเงินประกันสำหรับทาสที่ถูกฆ่าตายโดยการโยนทิ้งออกไปจากเรือค้าทาส (เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อ  Zong massacre เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การเลิกทาสในอังกฤษในเวลาต่อมา)  ต่อมาจอห์นเกิดโต้เถียงกับลอร์ดแมนลฟิลด์เกี่ยวกับคดีและถูกสั่งห้ามไม่ให้พบกับเบลล์  เบลล์ชอบพอกับจอห์นและได้ลอบไปพบจอห์นเพื่อช่วยนำเอกสารสำคัญไปให้  ลอร์ดแมนสฟิลด์ทราบเรื่องที่เบลล์ไปพบจอห์น จึงตามไปในขณะที่ทั้งคู่นัดพบกัน จนในที่สุดจอห์นสารภาพว่ารักเบลล์ต่อหน้าท่านลอร์ด  ต่อจากนั้นเบลล์ถอนหมั้นโอลิเวอร์ 

เรื่องมาเข้มข้นตอนท้ายเมื่อลอร์ดแมนสฟิลด์ได้พิจารณาคดีเรื่องทาสที่ตายโดยการถูกจับโยนทิ้งทะเล ซึ่งบริษัทค้าทาสเรียกเงินจากบริษัทประกันโดยอ้างว่าบนเรือมีน้ำดื่มไม่เพียงพอ การฆ่าทาสไปจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยคนส่วนใหญ่นับว่าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และบริษัทประกันน่าจะจ่ายค่าประกันให้ ซึ่งบริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายเงิน เรื่องจึงมาถึงศาล  แต่จากการไต่สวนพบความจริงว่าเรือค้าทาสลำนั้นแล่นเรือหลงทาง  บรรทุกทาสมาแออัดมากเกินจนมีทาสป่วยหลายคน นำไปขายก็จะไม่ได้ราคา โยนทิ้งน้ำแล้วรับเงินประกันจะคุ้มกว่า เพราะถ้าทาสไปตายเมื่อเรือถึงฝั่งก็จะไม่ได้เงิน  คดีนี้จบลงที่บริษัทประกันไม่ต้องจ่ายเงินให้บริษัทค้าทาส และเรื่องนี้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งหลังจากที่ลอร์ดแมนสฟิลด์ยอมให้เบลล์คบกับจอห์นและให้ความช่วยเหลือจอห์นให้ได้เป็นนักกฏหมายสมความตั้งใจ

มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจในหนังคือตอนที่นางเอกถามลอร์ดแมนสฟิลด์ว่า ทำไมเธอถึงสูงศักดิ์เกินกว่าที่จะกินอาหารร่วมกับคนใช้ แต่ไม่สูงศักดิ์เพียงพอที่จะกินอาหารร่วมกับครอบครัวของเธอ ....

หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ  Dido Elizabeth Belle โดยได้แรงบันดาลใจจากการที่เห็นรูปวาดรูปนี้ ซึ่งน่าแปลกใจที่เห็นสุภาพสตรีผิวดำแต่งกายเช่นเดียวกับสุภาพสตรีผิวขาว และได้อยู่ร่วมภาพเดียวกันในอิริยาบทเช่นนี้ รูปนี้ปัจจุบันอยู่ที่ Scone Palace ใน  Perthshire, Scotland  อยากเห็นรูปนี้เหมือนกันค่ะ เป็นภาพที่มีชีวิตชีวามาก เป็นอีกภาพหนึ่งที่เห็นปุ๊บก็รักเลย  :)

ค้นรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Zong_massacre      การสังหารหมู่บนเรือ Zong
http://en.wikipedia.org/wiki/Middle_Passage  เส้นทางสามเหลี่ยมการค้าทาสจากยุโรปไปรับทาสจากแอฟริกาเพื่อนำไปขายในทวีปอเมริกา  
https://www.youtube.com/watch?v=9Qx90wdRD2I Belle Official Trailer

1 มีนาคม 2562
เพิ่งได้ดูรายการ Fake or Fortune  S07E04 A Double Whodunnit 02, September   https://www.youtube.com/watch?v=9luqXA5RHiw&list=PLzcBkB4D0BrdOFOKlAVPgm_YLVUnHSSw_&index=2  เขาไปที่ Scone Palace ด้วย  (เพิ่งรู้ว่าอ่านว่า สกูน  :) ) ep. นี้เขาจะพิสูจน์ว่ารูปวาดในโพสต์นี้เป็นฝีมือใครค่ะ  น่าสนใจมาก  จากการพิสูจน์เทียบการใช้สีของภาพ พิสูจน์ได้ว่าผู้วาดภาพนี้คือศิลปินชื่อ David Martin  
ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ใน ep. นี้มีการพูดถึง Reform club อยู่ตรงข้ามกับ office ของ art dealer พิธีกรรายการนี้ ดูแล้วคิดถึงสโมสรปฏิรูปในหนังสือแปดสิบวันรอบโลกเลยทีเดียวค่ะ

Thursday, November 27, 2014

ราเชล...น้องหมูออมสินแห่งตลาดไพค์

วันนี้เล่าเรื่องอะไรดีนะ. นินทาหมูดีกว่า ออกจะสนิทค่ะ...
ที่เมืองซีแอตเติ้ลในอเมริกา มีตลาดที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งชื่อ Pike Place Market เป็นตลาดที่ใครๆก็ไปเที่ยว เพราะเป็นตลาดขายปลาสดๆ มีการโยนปลากันสนุกสนาน รวมถึงขายของอื่นๆทั้งน่ากินไปจนถึงน่ารักน่าเอ็นดู ดอกไม้ก็สวยมากๆ ไม่แพงอึกต่างหาก แถมมีสตาร์บั๊คสาขาแรกของโลกอยู่แถวนั้นด้วย

ใครเดินเข้าตลาดจะเห็นน้องหมูออมสินตัวนึงเป็นหมูโลหะหล่อบรอนซ์ตัวใหญ่หนัก 250 กิโลกรัม น้องเค้าชื่อ ราเชล เป็นเหมือนมาสคอทแบบไม่เป็นทางการของที่นี่ ใครไปใครมาต้องแวะไปถ่ายรูปกับเธอ แล้วก็หยอดออมสินเพื่อสมทบทุนกิจกรรมสาธารณกุศลของตลาด จัดว่าเป็นหมูมีจิตสาธารณะ ปีๆนึงเธอหาทุนได้เยอะนะคะ ยอดรวมที่เธอหาได้นี่หลายล้านบาท เขาประมาณว่าปีนึงเธอหาเงินได้ประมาณ 6,000- 9,000 เหรียญเลยค่ะ แต่เธอก็อยู่มานานแล้วเนอะ มาตั้งแต่ปี 1986 ร่วมๆเกือบสามสิบปึแล้วเนี่ย



ราเชลมีตัวตนจริงๆด้วยนะคะ เป็นหมูที่ชนะการประกวด แล้วศิลปินผู้ปั้นราเชลนัองหมูออมสินก็เอาชื่อมาตั้งตามจะได้ดูดีเป็นระดับ นางงามหมูมีมงกุฏกันทีเดียว ราเชลตัวนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเกิดกิจกรรมหาทุนชื่อ Pigs on parade โดยมีการขึ้นรูปน้องราเชลด้วยไฟเบอร์กลาส เป็นหมูมีสีสันต่างๆสดสวย 170 ตัวในปี 2001 เพื่อเอาไปวางโชว์ตามจุดต่างๆ และมีการจัดกิจกรรมซ้ำอีกครั้งในปี 2007 เที่ยวนี้เป็นหมู 100 ตัวเพื่อฉลองอายุตลาดร้อยปี กิจกรรมเค้าเท่เนอะ

ที่เก๋กว่านั้นคือ ถ้าเดินลงจากตลาดไปที่ริมน้ำย่านทีมีอควาเรี่ยม ที่ใกล้บันไดชั้นล่าง จะเดินผ่านน้องหมูอีกตัวหนึ่ง ตัวนี้เพิ่งมาในปี 2011 ค่ะ ชื่อน้องบิลลี่ เขามีป้ายแนะนำตัวไว้ด้วยว่า "ชื่อบิลลี่...เป็นญาติกับราเชล" 555 มากันทั้งครอบครัวเลย

ตัดฉากมาที่วลัยแลนด์ ถ้ามีน้องลูกวัวออมสินเป็นมาสคอทซักตัวก็ไม่เลวนะคะ ชื่อน้อง"วัววลัย" แล้วเราจัด Cows on parade วางเรียงรายกระจายกันไป มีจุดให้วางเยอะ... เก๋อะ

Tuesday, November 25, 2014

Of Circular field แปลงเกษตรวงกลม








วันนี้อ่านเรื่องราวในอินเทอร์เน็ต อ่านไปอ่านมาไปออกเรื่อง Crop Circle ปริศนาวงกลมลึกลับ เลยนึกขึ้นมาได้ว่าถ่ายรูปแปลงเกษตรรูปวงกลมมาหลายรูประหว่างนั่งเครื่องบินในอเมริกา มองจากข้างบนดูสวยมาก บางแห่งดูเหมือน PACMAN บางที่ก็เหมือนกราฟ Pie งงเหมือนกันว่าทำไมเป็นแปลงวงกลมไม่ใช่แปลงรูปสี่เหลี่ยมแบบบ้านเรา ถามคนอเมริกัน เขาก็บอกว่าบ้านเขาทำแปลงแบบนี้แหละ 

กลับมาค้นดูถึงได้เจอว่าเขาใช้ระบบชลประทานที่เรียกว่า Center-pivot irrigation หรือ circle irrigation ป็นระบบสปริงเกอร์รดน้ำที่ต่อท่อยาวออกไป เวลารดน้ำก็สามารถใช้มอเตอร์ขับให้แขนสปริงเกอร์เคลื่อนที่กวาดเป็นวงกลมปั๊มน้ำออกไปให้แปลงพืช ทีแรกก็สงสัยว่าถ้าเป็นสปริงเกอร์หมุนจะทำแปลงใหญ่ๆได้ยังไง ปรากฏว่าด้วยดีไซน์ของเขาสามารถต่อแขนออกได้ยาวมาก ขนาดที่นิยมใช้ก็ยาวประมาณ 400 เมตร ( ¼ ไมล์)  ระบบนี้ประดิษฐ์ขึ้นในอเมริกาตั้งแต่ 50 กว่าปีที่แล้ว (แอบเชยอะเรา...ไม่เคยรู้มาก่อนเลย) และเป็นระบบที่ช่วยควบคุมในเรื่องการใช้น้ำและการอนุรักษ์น้ำอย่างได้ผลค่ะ มีใช้กันทั่วไปในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และตะวันออกกลาง
http://en.wikipedia.org/wiki/Center_pivot_irrigation