Monday, May 29, 2006

แหลมตะลุมพุกมาจากชื่อปลาตะลุมพุกหรอกหรือ?

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาช่วงบ่ายว่างๆ ฉันก็ขับรถเล่นไปเที่ยวปากพนัง กะว่าจะไปกินก๋วยเตี๋ยวเส้นปลาเจ้าอร่อยที่ร้านอภิชาติ เข้าไปถึงร้านพบว่าวันนี้ไม่ขาย กำลังหิวไม่รู้จะหาอะไรกินดีก็เลยกะการต่อว่าจะไปกินข้าวที่แหลมตะลุมพุก ฉันเคยมาเที่ยวที่นี่หลายครั้ง มาเที่ยวเล่น มาดูเรือลำใหญ่ที่มาเกยติดฝั่งที่วัดเมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดเพิ่งมาเมื่อปีที่แล้วเคยตื่นเต้นว่ามีทางขับรถไปได้ถึงปลายแหลม มาเที่ยวนี้คิดว่าจะไม่มีอะไรใหม่แต่ก็มีของแปลกตาเช่นร้านขายของที่ระลึกที่มีของมากขึ้น (แต่ก็มีร้านเดียว)มีรถเข็นไอสครีมเนสเลท์ มีร้านขายเสื้อยืด กางเกงเล ที่พิเศษคือมีการสกรีนเรื่องราวของแหลมตะลุมพุกที่เจอวาตภัยครั้งใหญ่วันที่ 25 ตุลาคม 2505 จนมีคนเสียชีวิตเป็นพัน บ้านเรือนพังทลาย ฉันว่าเป็นการสร้างแบรนด์ของแหลมตะลุมพุกได้ดี ทำให้คนที่มาเที่ยวได้ทราบประวัติของสถานที่มากขึ้น

เราไปกินข้าวที่ร้านอาหารซีฟู้ดร้านแรกถัดจากที่จอดรถ อาหารอร่อยพอประมาณ มีป้ามาเดินขายปลาหมึกแผ่นในถุง มีหอยนางรมขายด้วย ถาดละ 100 บาท มีเครื่องเคียงให้พร้อมถ้าซื้อแล้วจะกินที่นั่น สำหรับฉันผู้ไม่นิยมกินหอยนางรมไม่สนใจนักก็กินอาหารของร้านไปเรื่อยๆ แต่ก็เห็นว่าอาหารทะเลที่นั่นไม่ยักตัวโตและสดเท่าร้านอาหารในเมืองหรือร้านที่ท่าศาลาทั้งๆที่อยู่หน้าหาดขนาดนั้น แต่อาหารก็ไม่แพง กินอาหาร 2 คน เป็นข้าวผัด มียำไข่ปลากระบอกและต้มยำโป๊ะแตก ราคา 250 บาท กินข้าวเสร็จฉันเดินไปดูเปลือกหอยริมทะเล จำได้ว่าที่นี่เคยมีเปลือกหอยเชลล์มาก มีทั้งสีส้มและสีดำ(จนบัดนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไมมันสีดำ) ไม่เคยเห็นที่หาดอื่น วันนี้แหลมตะลุมพุกยังมีเปลือกหอยมาก ทั้งๆที่บริเวณขายของที่ระลึกก็ขายสินค้าจากเปลือกหอยด้วย ยังน่าดีใจ ทรายที่นี่ก็นุ่มละเอียดดีถึงแม้สีจะไม่ขาวจัดอย่างทางฝั่งหมู่เกาะในอันดามัน มีคนไปเล่นน้ำทะเลบ้าง เป็นหาดที่ยังไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องเบื่อกับคนแน่นๆ

ก่อนกลับบ้านแวะซื้อของที่ระลึก ฉันได้เสื้อยืดมาตัวหนึ่ง สกรีนเป็นรูปปลาตัวอ้วนๆน่ารัก ถามน้องคนขายว่าปลาอะไร น้องเขาบอกว่ามันคือปลาตะลุมพุก เดิมที่นี่มีปลาตะลุมพุกมากก็เลยได้ชื่อเป็นแหลมตะลุมพุก ฟังแล้วก็เหวอไปเพราะไม่เคยรู้จักปลาชนิดนี้ และเคยสงสัยมาตลอดว่าชื่อแหลมตะลุมพุกมีที่มายังไง เคยคิดถึงตะลุมพุกว่าเป็นเครื่องมือที่มีน้ำหนักมากๆเอามาใช้แบบค้อน วันนี้ได้ความรู้ใหม่อีกแล้ว

ก็เลยมาค้นดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เกี่ยวกับปลาตะลุมพุก ได้ข้อมูลจากเว็บ http://www.prc.ac.th/tree_an_teen/t_toli.htm ว่า

"ปลาตะลุมพุกวงศ์ CLUPEIDAE Tenualosa toli (Valenciennes, 1847)
ลักษณะ :
ปลาหลังเขียวชนิดที่อาศัยอยู่ในทะเล ลำตัวแบนด้านข้างมาก มีเกล็ดบนสันท้อง 28 –30 เกล็ด ริมฝีปากบนมีรอยเว้าเห็นได้ชัดเจน และมีซี่เหงือกเพียง 60-100 ซี่ ปลาตะลุมพุกนี้จะสังเกตได้โดยมีจุดสีดำจางๆ อยู่ด้านหลังของช่องเปิดเหงือกจุดเดียวเท่านั้น ขนาดลำตัวยาวถึง 50 เซนติเมตร แต่ปลาตัวผู้มีขนาดเล็กกว่า ขนาดโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ปลาตัวผู้มีลำตัวยาว 35 เซนติเมตร และปลาตัวเมียมีลำตัวยาว 47 เซนติเมตร


อุปนิสัย:
เป็นปลาทะเลที่ต้องเข้ามาวางไข่ในน้ำจืด ปลาที่โตเต็มที่จะเข้ามาในแม่น้ำและทะเลสาบเพื่อวางไข่และลูกปลาจะอยู่ตามแหล่งน้ำชายฝั่ง

ที่อยู่อาศัย:
อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำทะเลในอ่าวไทยและน้ำจืดบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
เขตแพร่กระจาย :
ปลาชนิดนี้พบแพร่กระจายกว้างขวาง ตั้งแต่ชายฝั่งด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย จนถึงทะเลชวา และทะเลจีนใต้


สถานภาพ:
เมื่อราว 60 ปีมาแล้ว ปลาชนิดนี้จะเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำเจ้าพระยาในปลายเดือนพฤศจิกายนและว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปวางไข่ที่บริเวณอำเภอปากเกล็ดและเกาะใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ฤดูวางไข่อยู่ในราวเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ ระหว่างนี้จะมีการทำการประมงจับปลาชนิดนี้เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เรือทุกๆ ลำจะจับปลาได้เฉลี่ยลำละประมาณ 100 ตัว เนื้อปลาชนิดนี้นิยมกันมากว่ามีรสชาติอร่อย แหล่งวางไข่ที่รู้จักกันดีอีกแหล่งหนึ่ง คือทะเลสาบสงขลาซึ่งปลาตะลุมพุกจะเข้าไปรวมกลุ่มกันในเดือนกุมภาพันธ์

สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์:
: การจับปลาในช่วงที่ปลาวางไข่ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีและสภาพเสื่อมโทรมของแม่น้ำและทะเลสาบสงขลาในระยะหลังทำให้จำนวนปลาที่เข้ามาวางไข่ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันไม่พบว่าปลาตะลุมพุกเข้ามาวางไข่จำนวนมากๆ อีกเลยและปลาที่จับได้เป็นครั้งคราวก็มีจำนวนน้อยมาก


จากหนังสือ : พืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย "

เจอในหนังสืออีกเล่ม ชื่อเรื่องว่า "ตะลุมพุก(ชิกคัก)ปลาก้างเยอะแต่เนื้อเยี่ยม"

ที่น่าเกลียดกว่านั้นไปเจอในคอลัมน์แม่ช้อยนางรำ "กิน "ปลาตะลุมพุก" เมืองระนอง" ในManager online เขียนมาตั้งแต่ปี 2545 ว่ามีเมนูเด็ด ปลาตะลุมพุกหลามกระบอกไม้ไผ่ แนะนำว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ร้านอัมพวาตรงหาดส้มแป้น(ฉันเข้าใจว่าเป็นร้านที่บ่อน้ำร้อนมากกว่าเพราะติดเขตหาดส้มแป้นแต่เขาเรียกแถวนั้นว่าบ่อน้ำร้อนต่างหาก) แต่อายจริงๆเลยของอร่อยในบ้านตัวเองแท้ๆ ที่นี่เรียกว่าปลาฉิกคัก

และเจอในเว็บบอร์ด http://www.siamensis.org/webboard/Webanswer.asp?id=715 เขาคุยกันว่า "ปลาตะลุมพุก (Tenaulosa toli (Valenciennes, 1874))เป็นปลาในกลุ่มปลาหลังเขียว Herring ชนิดหนึ่งที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (โตเต็มที่มีความยาวกว่า ๒ ฟุต) ปลาชนิดนี้เป็นปลาทะเลแต่จะเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำตอนล่างที่ได้รับอิทธิพลจากทะเล ในปี ๒๔๖๗ มีรายงานการทำประมงปลาชนิดนี้ที่บางโพ กรุงเทพฯ และที่ปากเกร็ด นนทบุรี ปัจจุบันยังมีขายตามแผงขายปลาทะเลในตลาดสดใหญ่ที่ไม่ห่างทะเลมากนัก ส่วนมากเป็นปลาที่มาจากภาคใต้หรือไม่ก็จากพม่า ในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยหรืออาจจะไม่พบเลย และที่สำคัญชาวประมงแถบนี้ที่หาปลาเป็นอาชีพก็หายไปหมดแล้ว" อีกคนก็บอกว่า "ปลาตะลุมพุกยังมีอยู่ค่อนข้างมากในบริเวณจังหวัดพังงาและภูเก็ตเป็นปลาที่นียมกินกันมาก "
อืมม์......อ่านแล้วอยากกินปลาตะลุมปุ๊ก!!!!
อ้อ..เพิ่มอีกนิดนอกจากคำว่าตะลุมพุกแล้วยังมีคำที่คล้ายๆกันว่า "กระลุมพุก"ที่ใช้แทนกันแต่ฉันก็ไม่เคยได้ยินใครใช้พูด


หลังจากนั้นได้ลองถามคุณพ่อว่ารู้จักปลาตะลุมพุกไหม เคยกินรึเปล่า คุณพ่อตอบแบบเหยียดๆเล็กน้อยว่า ปลาแบบนี้คนสมัยก่อนเขาไม่กินเนื้อกันหรอก เพราะมันมีก้างเยอะ เขาเอามาต้มแล้วก็กินน้ำแกง เนื้อปลาไม่กิน จะกินเนื้อปลาก็ไปเลือกปลาดีๆอย่างอื่นมากิน อ้าวววว....  แล้วที่คนเขาเอามาโฆษณาว่าเนื้ออร่อย สรุปว่ายุคนี้มันมีของดีๆกินน้อยลง จนต้องไปเอาของที่คนสมัยก่อนเขาไม่ยอมเสียเวลากินมากินกันแล้วเหรอ...

Thursday, May 18, 2006

M.C. Escher

เวลาที่ถูกถามว่าชอบงานศิลป์ งานวาดภาพของใคร ฉันจะเริ่มไม่แน่ใจตัวเองเล็กน้อยก่อนตอบ อย่างหนึ่งเป็นเพราะความชอบเปลี่ยนไปตามเวลาและอายุที่เพิ่มขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่แน่ใจว่าที่เราบอกว่าชอบ จริงๆแล้วเป็นความชอบหรือเป็นการตามน้ำไปกับงานที่ใครๆชื่นชมกันว่าดีแล้วเราก็พลอยเห็นว่าดีไปด้วย

ฉันมักจะตอบว่า ชอบงานของ โมเนต์ มาเนต์ แรมบรันด์ ลีโอนาโด ดาวินชี ปิซาโร ชอบงานอิมเพรสชั่นนิส แต่อย่าถามลงไปลึกๆเชียวว่าชอบงานอะไรบ้าง เพราะถ้าลงไปจริงๆ ก็จะรู้จักแต่ผลงานดังๆของเขา ส่วนใหญ่ก็เห็นจากหนังสือ หรือโปสเตอร์ ที่รู้จักเพราะต้องเรียนและเห็นบ่อยๆ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ อย่าถามถึงงานของคนไทยทีเดียว ฉันชอบงานของคุณเฉลิมชัยอยู่คนเดียว เพราะออกทีวีบ่อย และเคยเห็นความอลังการงานสร้างที่วัดร่องขุ่น (จริงๆมีอีกท่านหนึ่งที่เคารพฝีมือคือ อาจารย์ แนบ ทิชินพงษ์ ได้มีโอกาสได้ฟังท่านสอนมาเล็กน้อย)
ฉันเลยมานั่งคิดว่า จริงๆแล้วมีงานของใครบ้างที่ฉันชอบจริงๆ สนใจแนวคิดของเขา และได้เคยเห็นงานของเขาแล้ว เท่าที่ผ่านมาฉันเคยเห็นงานบางชิ้นของ โมเนต์ มาเนต์ และคนอื่นๆที่เอ่ยชื่อ ในพิพิธภัณฑ์เวลาไปต่างประเทศ แต่ที่ประทับใจมากคือ M.C.Escher ที่เคยไปเห็นในพิพิธภัณฑ์ที่ฮอลแลนด์ แล้วก็เพิ่งรู้สึกว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับเขาไม่มาก ควรที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมไว้ แหล่งแรกที่ฉันค้นไปคือ http://www.mcescher.com/

ได้ข้อมูลมาว่า ชื่อจริงของเขาคือ Maurits Cornelis Escher มีอายุในช่วงปี ค.ศ. 1898 ถึง ค.ศ. 1972 เขาเป็นศิลปินวาดภาพที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะกับงานที่ดูเหมือนโครงสร้างแปลกๆที่เป็นไปไม่ได้ เช่นงานที่ชื่อ Ascending and Descending, Relativity, Metamorphosis I, Metamorphosis II และMetamorphosis III, Sky & Water I หรือ Reptiles.

เขาได้สร้างชิ้นงานมากมาย แบ่งเป็นงานภาพพิมพ์ 448 ชิ้น woodcuts และ wood engravings รวมถึงงานวาดลายเส้นและภาพเสก็ตซ์มากกว่า 2000 ภาพ
เป็นที่น่าสังเกตเหมือนกันว่าบรรดาศิลปินทั้งหลายจะถนัดมือซ้าย ไม่ว่าจะเป็น Michelangelo, Leonardo da Vinci, Holbein และ M.C. Escher
เขาเกิดที่เมือง Leeuwarden ประเทศ Netherlands ย้ายไปอยู่ที่ Arnhem เมื่อเขาอายุ 5 ขวบ และในที่สุดถึงแม้จะเรียนตกๆหล่นในระดับมัธยม เขาเข้าเรียนต่อที่ School for Architecture and Decorative Arts ที่เมือง Haarlem โดยเลือกเรียน graphic art เมื่อเรียนจบ เขาเดินทางไปทั่วอิตาลี และได้พบกับ Jetta Umikerซึ่งได้แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1924 พวกเขาอยู่ที่โรมจนถึงปี 1935 ก่อนจะกลับบ้านที่ฮอลแลนด์

M.C. Escher หลงใหลใน regular Division of the Plane และได้ใช้ภาพลายเส้นเป็นพื้นฐานในการสร้างงานอื่นๆด้วย
ฉันได้เห็นผลงานของ Escher ในปี 2000 ที่เมืองพิพิธภัณฑ์ในเมืองเฮก ประเทศฮอลแลนด์ ทีแรกที่เข้าไปก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรให้ดูมาก แต่พอได้เห็นงานของ Escher รู้สึกว่ายิ่งกว่าคุ้มที่ได้เข้าไปดู
แล้วค่อยมา update เรื่องงานของเขาเพิ่มทีหลังแล้วกัน

Tuesday, May 16, 2006

การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อการรับรองมาตรฐาน

การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อการรับรองมาตรฐานหรือเรียกกันง่ายๆว่า การประเมินภายนอกรอบสอง เป็นการประเมินสำหรับโรงเรียนที่ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกครั้งที่หนึ่งมาแล้ว สิ่งที่ต่างจากการประเมินครั้งแรกคือ การประเมินรอบนี้เป็นการประเมินผลออกมาว่าได้คุณภาพตามมาตรฐาน สมศ.หรือไม่ จึงเป็นการประเมินที่ค่อนข้างเป็นที่หนักใจของทุกฝ่ายทั้งฝ่ายโรงเรียนและผู้ประเมิน

บันทึกชุดนี้เป็นบันทึกเตือนความจำถึงประสบการณ์ประเมินโรงเรียนรอบที่ 2 ของตัวเองในฐานะผู้ประเมินภายนอก รอบนี้ได้ประเมิน 2 โรงเรียน(ทั้งทีมมี 4 คน ประเมินทั้งหมด 3 โรงเรียน โดยแบ่งกันว่าใครจะสามารถไปประเมินโรงเรียนใดได้บ้าง บางโรงต้องไปทุกคนเพราะเป็นโรงเรียนขนาดกลางต้องไป 4 คน ส่วนอีก 2 โรงไปโรงเรียนละ 3 คนได้) โรงเรียนแรกช่วงวันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ 2549 อีกโรงเรียนหนึ่งประเมินในช่วงวันที่ 1 - 3 มีนาคม 2549 เป็นที่น่ายินดีที่ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 โรงเรียน

โรงเรียนแรกค่อนข้างจะหาทางเข้ายาก เพราะเราเลือกเข้าอีกเส้นทางหนึ่งจึงเป็นทางลูกรังเสียหลายกิโล (แต่ถึงแม้จะใช้เส้นทางปกติก็จะมีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรจากถนนใหญ่ และเป็นลูกรังเสีย 2 กิโล) ทีมงานของเรามี 3 คนซึ่งโชคดีที่เป็นผู้ร่วมงานในที่ทำงานเดียวกันและแต่ละคนไม่เรื่องมากสักเท่าไร เมื่อเราไปถึงโรงเรียนประมาณ 9 โมงนิดๆ ทางโรงเรียนไม่ทราบว่าเราจะไปเพราะเราได้รับการกำชับมาว่าไม่ให้บอกล่วงหน้า เป็นแนวคิดจากการประชุมของสมศ.โดยตรง ผู้บริหารโรงเรียนค่อนข้างอึดอัดอย่างเห็นได้ชัด และพูดออกมาคำหนึ่งว่า มาอย่างนี้ก็ไม่ใช่กัลยาณมิตรอย่างที่แนวทางการประเมินควรเป็น โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับผ.อ.โรงเรียนเพราะในการประเมินควรให้โอกาสผู้ถูกประเมินได้เตรียมตัว และให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการประเมิน การทำงานจึงจะเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นจริง ตัวเองจึงได้โทรศัพท์กลับไปที่บริษัท ได้รับคำยืนยันว่าการมาแบบนี้เป็นสิ่งที่สมศ.กำหนด จึงชี้แจงกับทางโรงเรียนและขอประเมิน ทางโรงเรียนได้จัดให้เราอยู่ในห้องประชุมเอนกประสงค์ซึ่งมีสภาพดีมากเป็นห้องแอร์(ซึ่งเราพยายามไม่ใช้) ใช้เป็นทั้งห้องประชุม ห้องสอนดนตรีไทย ห้องแสดงแผนภูมิต่างๆ
เราเริ่มต้นโดยการขอประชุมผู้บริหารและครูเพื่อชี้แจงวิธีดำเนินการ และแจ้งให้ทราบว่าเราต้องการเอกสารใด ต้องการพบสัมภาษณ์ใคร และจะเข้าไปดูสภาพจริงของการเรียนการสอน จากนั้นเราก็ออกไปดูสภาพการเรียนการสอนจริง ในการประเมินทีมเราได้แบ่งมาตรฐานกันประเมินคือคนที่หนึ่งประเมินการศึกษาปฐมวัย 10 มาตรฐาน(ไม่ต้องประเมินด้านผู้บริหารยกเว้นมาตรฐานที่ 12) อีกคนประเมินมาตรฐานด้านผู้บริหาร 5 มาตรฐาน ด้านครู 2 มาตรฐาน ส่วนอีกคนประเมินมาตรฐานด้านผู้เรียนทั้งหมด 7 มาตรฐาน โดยครั้งนี้ตัวเองรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมประเมินจึงเป็นผู้ที่จะอ่านรายงานและแก้ไขอีกหน้าที่หนึ่งด้วย

โรงเรียนนี้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีครู 10 คน นักเรียน จำนวน 180 คน นับว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพการสอนดี เราใช้เวลาช่วงเช้าในการดูโรงเรียนจนทั่ว ได้คุยกับครูผู้สอนเก็บข้อมูลระหว่างการเดิน ดูห้องสมุด ดูห้องปฏิบัติการ ดูสนามออกกำลังกาย โดยแต่ละคนก็จะดูตามมาตรฐานของตนเอง บรรยากาศในการประเมินดีขึ้นเรื่อยๆเพราะทางโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมาก ผ.อ. เข้าใจและให้ความร่วมมือ ครูผู้สอนให้ข้อมูลตรงไปตรงมา นักเรียนก็สามารถพูดคุยกับเราได้โดยไม่กระดากอาย ช่วงเช้าหลังจากการเดินดูโรงเรียน เราใช้เวลากับเอกสารซึ่งที่นี่มีมากสมกับที่ผ.อ.เคยได้ตำแหน่งผู้บริหารดีเด่น จนเที่ยงทางโรงเรียนเลี้ยงข้าวกลางวัน ซึ่งเราก็ได้บอกว่าทางสมศ.ไม่ต้องการให้เรารบกวนโรงเรียนที่ประเมิน แต่ก็เข้าใจทางโรงเรียนเพราะธรรมเนียมไทย ใครมาก็ต้อนรับ ไม่ได้ถือเป็นบุญคุณที่ต้องลำบากใจแต่อย่างใด อีกอย่างที่นี่ค่อนข้างไกล ถ้าออกไปหาอะไรกินข้างนอกจะเสียเวลามาก ตามปกติที่ทำมาเราจะกินข้าวที่โรงเรียนแล้วในวันสุดท้ายจะหาหนังสือมอบให้ห้องสมุดเป็นของตอบแทนเล็กๆน้อยๆ

เรากินข้าวร่วมกับครูทั้งโรงเรียนในห้องรับรองเล็กๆ ทางโรงเรียนต้อนรับอย่างดี อาหารอร่อย ช่วงบ่ายก็ทำงานเอกสารต่อ ผสมไปกับการเดินไปหาหลักฐานเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์ครู นักเรียน และ ผ.อ. เราทำงานจนเวลาประมาณ 4 โมง ก็เดินทางกลับ ระหว่างขับรถกลับก็คุยกันในทีม วางแผนการว่าวันพรุ่งนี้จะทำอะไรต่อ เรากลับมาที่ทำงานและแวะคุยกันครู่หนึ่งก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน

วันที่สองของการประเมิน เราไปถึงโรงเรียนแต่เช้า ดูสภาพก่อนเข้าเรียน ประทับใจกับการแบ่งหน้าที่ดูแลโรงเรียนของนักเรียนซึ่งที่นี่มีการแบ่งเป็นเครือข่ายตามพื้นที่บ้านของนักเรียน นักเรียนรุ่นพี่จะดูแลรุ่นน้อง ครูที่ดูแลเครือข่ายจะไปเยี่ยมบ้าน ผู้ปกครองในเครือข่ายจะช่วยดูแลลูกหลาน นักเรียนจะดูแลโรงเรียนในเขตที่ตนเองรับผิดชอบ มีการตรวจงานโดยครูประจำเครือข่าย และมีการรายงานผลหน้าเสาธงทุกวัน เด็กที่นี่พื้นฐานจิตใจดีมากมีระเบียบวินัยสูงเห็นได้ชัดจากความประพฤติ วิธีการไหว้ การทำตามที่ครูสั่งถึงแม้ครูจะไม่ได้อยู่เช่น นักเรียนพาไปที่ห้องสมุด นักเรียนชั้นประถมจะเข้าไปในห้องสมุด แต่นักเรียนอนุบาลจะยืนออกันหน้าห้องสมุด เมื่อถามว่าทำไมไม่เข้ามา หนูๆจะบอกว่าคุณครูไม่ให้เข้าห้องสมุดถ้าครูไม่มาด้วย มีตัวอย่างของเด็กๆอีกหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าโรงเรียนนี้ได้สร้างแรงจูงใจที่ดีในการให้เด็กอยากเรียน คิดถึงเรื่องเด็กโต๋ขึ้นมาทันทีตอนที่เด็กบอกว่าถ้าทำตัวดี ผ.อ.จะพาขึ้นรถหกล้อของผ.อ.และพานักเรียนไปเที่ยวซึ่งจริงๆคือการเรียนนอกสถานที่

ตลอดเช้ายังคงเป็นการหาข้อมูลเอกสาร เดินไปยืนยันข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตอนเที่ยงกินข้าว ช่วงบ่ายพบกับผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา พวกเรายิงคำถามตามมาตรฐานที่ดูแล ผลตอบรับของโรงเรียนนี้ดีมาก เห็นชัดว่าชุมชนสัมพันธ์แข็งแรงมาก หมดวันที่สอง เราได้คุยกันระหว่างกลับบ้าน ก็พอจะมองเห็นผลการประเมินที่ต้องแจ้งให้โรงเรียนออกมาคร่าวๆแล้ว

วันที่ 3 เราใช้เวลาช่วงเช้าในการเขียนเอกสาร และรวบรวมข้อมูลออกมาให้อยู่ในรูปแบบที่จะแจ้งผลประเมินให้โรงเรียนทราบด้วยวาจา ทีแรกค่อนข้างลำบากใจเพราะผลการประเมินฝั่งปฐมวัยออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่าเราต้องยึดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

ในการประเมินจะแยกกันระหว่างการศึกษาปฐมวัยและประถมและมัธยมศึกษา ที่นี่ในส่วนการศึกษาปฐมวัยได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน 10 มาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน 4 มาตรฐาน ( คือ มาตรฐานที่ ๘ ครูมีคุณวุฒิ/ความรู้ ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ และมีครูเพียงพอ มาตรฐานที่ ๑๒ สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มาตรฐานที่ ๔ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ และ มาตรฐานที่ ๖ ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ) ในส่วนประถมศึกษาได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน ๑๓ มาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ สมศ. จำนวน 1 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ ๕ ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร

ในการแจ้งผลการประเมิน เราเชิญผู้บริหารและครูเข้าฟัง (ทั้งนี้ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาจะฟังด้วยก็ได้ เราก็เชิญ แต่มักจะไม่มีคนเข้ามา) เราแจ้งผลโดยการที่หัวหน้าทีม(ในที่นี้คือตัวเอง) กล่าวขอบคุณที่ทางโรงเรียนให้ความร่วมมือในการหาข้อมูล เราเล่าวิธีการหาข้อมูลของเราในโรงเรียน และเกณฑ์ในการจัดว่าได้มาตรฐานโดยการอิงเกณฑ์และอิงสถานศึกษาซึ่งต่างจากเกณฑ์ในการประเมินรอบแรก ครั้งนี้โรงเรียนที่ผ่านมาตรฐานจะต้องมีมาตรฐานที่ผ่านไม่ต่ำกว่า 11 มาตรฐาน และไม่มีมาตรฐานใดอยู่ในระดับปรับปรุง การแจ้งผลเราแบ่งตามมาตรฐาน เริ่มจากของประถมศึกษา ด้านผู้บริหาร มาตรฐานใดผ่าน มาตรฐานใดไม่ผ่าน ต่อด้วยด้านครู และผู้เรียน จากนั้นแจ้งผลของการศึกษาปฐมวัย เมื่อแจ้งผลแล้ว เราเปิดโอกาสให้ซักถามและทักท้วง เนื่องจากทีมเราได้ชี้แจงในขณะที่เราทำงานค่อนข้างชัดเจนว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนที่ทางโรงเรียนยังขาด จึงไม่มีข้อสงสัยในผลที่ออกมา จากนั้นเราบอกว่ากระบวนการต่อไปเราจะทำรายงานส่งบริษัทแล้วบริษัทจะส่งมาให้ทางโรงเรียนตรวจ หากมีข้อทักท้วงก็ยังทำได้ หากทางโรงเรียนยอมรับรายงานการประเมิน รายงานจะถูกส่งไปที่สมศ.ต่อไป หลังจากที่เราพูดจบ ทางโรงเรียนก็กล่าวขอบคุณ ซึ่งพวกเรารู้สึกดีมากเพราะ ผ.อ.บอกว่า ถึงแม้เราจะเริ่มต้นมาอย่างไม่ค่อยจะเป็นกัลยาณมิตรแต่ในการทำงานของเราพวกเราทุกคนทำตัวเป็นกัลยาณมิตร พวกเราเองก็ดีใจที่เราทำงานอย่างโปร่งใสและอธิบายได้ รวมถึงโชคดีที่ผลการประเมินออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับของทุกคน

แล้วการประเมินโรงเรียนแรกก็จบลงอย่างเรียบร้อย
( จากอัธยาศัยอันดีของ ผ.อ. ครูและนักเรียน รู้สึกประทับใจมาก เมื่อสิ้นสุดการประเมิน ตัวเองจึงสมัครสมาชิกอุปถัมป์นิตยสาร Update ให้ทางห้องสมุดโรงเรียน (แต่ไม่ได้แจ้งทางโรงเรียนว่าสมัครไว้ให้ คิดวาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร) หวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆบ้าง)

โรงเรียนที่สองของทีม ตัวเองไม่ได้ร่วมประเมิน มีน้องในทีมประเมินคนหนึ่งผ่าตัดไส้ติ่งช่วงนั้นพอดี ขาดคนประเมินหนึ่งคน ผู้ประเมินผู้ใหญ่ของบริษัทท่านหนึ่งได้มาช่วยประเมิน ผลการประเมินไม่เป็นที่ยอมรับของโรงเรียน ถึงขนาดต้องชี้แจงกันนานตลอดบ่ายถึง 5 โมงเย็น และหัวหน้าทีมต้องบอกว่าขอกลับมาดูก่อน จึงได้กลับออกมา เราก็ต้องทำรายงานตามผลการประเมินที่ทำ เข้าใจว่าทางโรงเรียนคงไม่ยอมรับผลการประเมินชุดนี้

โรงเรียนที่สามของทีม ที่เป็นโรงเรียนที่สองของตัวเองในการประเมิน เป็นโรงเรียนอยู่ใกล้ทะเล ใกล้ที่ทำงานด้วย แต่ยังคงพึ่งอาหารกลางวันที่โรงเรียนอยู่ดี เพราะธรรมเนียมคนไทยเหมือนเคย โรงเรียนนี้ นักเรียนเป็นมุสลิม 98% เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 มีครู ๓๑ คน นักเรียน ๗๐๙ คน ทางโรงเรียนรู้ตัวอยู่แล้วว่าเราจะเข้าไปประเมิน บรรยากาศการประเมินเป็นไปฉันมิตร โรงเรียนได้มาตรฐานทั้งการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษา ในช่วงการประเมินนี้เราได้ข่าวว่า สมศ. มีประกาศให้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ของมาตรฐานที่ 8 และในมาตรฐานที่ 5 ยังไม่ต้องแจ้งผลเพราะจะรอผลการสอบมาตรฐานชาติที่จัดสอบในเดือนกุมภาพันธ์ เราก็ดำเนินการตามนั้น การประเมินโรงเรียนนี้ก็ผ่านไปด้วยดีอีกโรงเรียนหนึ่ง

งานที่ตามมาคือการจัดทำรายงาน ซึ่งกลุ่มเราใช้เวลานานมาก กว่าจะได้ส่งฉบับจริงก็จวนเจียนกำหนดจนถึงต้นเดือนเมษายน นับว่าตัวเองทำงานช้ากว่าที่เคยเป็นอย่างมาก พอจะหาข้อสรุปได้ว่า ครั้งนี้เป็นการทำงานของคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน การขอเลื่อนจึงทำได้โดยไม่ละอายแก่ใจมากนักเพราะสนิทกัน และเมื่อใครบอกว่ายุ่ง เราก็จะมองเห็นภาพ เพราะรู้วิธีการทำงานในองค์กรอย่างดีจึงมีข้อแก้ตัวให้กันเสมอ ถ้าเป็นคนที่ไม่สนิทกันมากการทำงานจะต้องเร่งรีบกว่านี้เพราะเราจะเกรงใจผู้ร่วมทีม ปัญหาอีกอย่างคือทีมงานเราเป็นคนใหม่ทุกคนยกเว้นตัวเองซึ่งมรประสบการณ์มากกว่าเล็กน้อย รูปแบบการเขียนแต่ละคนจะเขียนตามความเข้าใจของผู้เขียน แล้วเกิดไม่แน่ใจว่าเขียนแบบนี้จะดีหรือไม่ ก็คอยกันไปคอยกันมา จนในที่สุดเราวาง template ของรายงานไว้ การเขียนก็ง่ายขึ้น

ผู้พิมพ์งานก็สำคัญ งานนี้เราให้น้องที่ทำงานคนหนึ่งช่วยพิมพ์ น้องคนนี้จะพิมพ์งานของสมศ.บ่อยจนรู้งาน ถึงขนาดสามารถช่วย edit ได้ด้วย ทำให้งานง่ายขึ้นมาก

ค่าใช้จ่ายที่เกิดระหว่างการทำงาน แต่ละคนจะจดส่วนที่จ่ายไปแล้วมาหารเฉลี่ยกันทีหลังในส่วนที่เกินจากการลงขันเบื้องต้น(คนละ 500 บาท)

การประเมินรอบนี้ของบริษัทมีบางกลุ่มที่ส่งไม่ทัน ก็จะถูกสมศ.ปรับ ซึ่งตัวเองก็ไม่ทราบว่าจะถูกปรับเท่าไร แต่เมื่อตอนที่เข้าบริษัทใหม่ๆ ทราบว่า การที่ถูกปรับเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่ได้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่สมศ.ยกขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ประเมินระดับดี ก็น่าเสียดายไม่น้อย

ศิลปศาสตร์ 18 ประการ

เวลาอ่านหนังสือที่พูดถึงการเล่าเรียนวิชาการของกษัตรย์จะได้ยินว่าต้องเรียนศิลศาสตร์ 18 ประการ ตัวเองสงสัยเสมอว่าเขาเรียนอะไรกัน มีอะไรที่คนสมัยนี้เรียนที่เหมือนกับสมัยก่อน ลองไปค้นดูที่ต่างๆพบว่ามีการพูดถึงในหลายๆตำรา ไม่รู้ว่าจะเชื่อตำราไหนดี อย่างเช่น

ในตำราหนึ่งกล่าวไว้ว่า ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
1. ยุทธศาสตร์ วิชานักรบ
2. รัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง
3. นิติศาสตร์ วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4. พาณิชยศาสตร์ วิชาการค้า
5. อักษรศาสตร์ วิชาวรรณคดี
6. นิรุกติศาสตร์ วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
7. คณิตศาสตร์ วิชาคำนวณ
8. โชติยศาสตร์ วิชาดูดวงดาว
9. ภูมิศาสตร์ วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.โหราศาสตร์ วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
11.เวชศาสตร์ วิชาแพทย์
12.เหตุศาสตร์ วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
13.สัตวศาสตร์ วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
14.โยคศาสตร์ วิชาช่างกล
15.ศาสนศาสตร์ วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
16.มายาศาสตร์ วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำ หรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรี หรือดุริยางค์ศาสตร์
18.ฉันทศาสตร์ วิชาการประพันธ์
จาก http://www.baanjomyut.com/library/great_teacher/index.html


แต่ถ้าจากที่แห่งหนึ่ง ข้อมูลจะเป็นเรียนศิลปวิทยา
เมื่อพระราชกุมารเจริญวัย ทรงได้รับการศึกษาศิลปวิทยาการจาก สำนักครูวิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษาคือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันประกอบด้วย การปกครอง การดูลักษณะคนและพื้นที่ การดูดวงดาว การใช้อาวุธต่างๆในการรบ ภาษาและกวีนิพนธ์ อันเป็นศิลปะทางโลกสำหรับผู้ที่พร้อมจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ รวมทั้งไตรเพทและเวทางคศาสตร์
ไตรเพท ได้แก่ อิรุพเพทหรือฤคเวท ว่าด้วยการสร้างโลก ยชุรเพท หรือยชุรเวท ว่าด้วยบทสรรเสริญ และบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย สามเทพ หรือ สามเวท ว่าด้วยบทสวดในพิธีบวงสรวงเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากคัมภีร์ฤคเวท และยังมีเวทที่ 4 คือ อาถัพพนเพท หรือ อาถรรพเวท ว่าด้วยการใช้มนต์และการปลุกเสกในพิธีต่างๆ
เวทางคศาสตร์ คือคำอธิบายพระเวทต่างๆ เกี่ยวข้องกับการกล่าวสรรเสริญพระเจ้า การประกอบพิธีกรรม เป็นความรู้ทางธรรมสำหรับผู้ที่จะเป็นนักบวช

ศิลปศาสตร์ 18 ประการ
1. ไตรเพทศาสตร์ วิชา ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ดังกล่าวมาแล้ว
2. สรีรศาสตร์ วิชาพิจารณาลักษณะส่วนต่างๆของร่างกาย
3. สังขยาศาสตร์ วิชาคำนวณ
4. สมาธิศาสตร์ วิชาทำจิตให้แน่วแน่
5. นิติศาสตร์ วิชาเกี่ยวกับกฎหมาย
6. วิเสสิกศาสตร์ วิชาแยกประเภทคนและสิ่งของ
7. โชติยศาสตร์ วิชาทำนายเหตุการณ์ทั่วไป
8. คันธัพพศาสตร์ วิชาฟ้อนรำและดนตรี
9. ติกิจฉศาสตร์ วิชาแพทย์
10. ปุรณศาสตร์ วิชาโบราณคดี
11. ศาสนศาสตร์ วิชาการศาสนา
12. โหราศาสตร์ วิชาเกี่ยวกับการทำนาย
13. มายาศาสตร์ วิชากล
14. เหตุศาสตร์ วิชาค้นหาเหตุ
15. วันตุศาสตร์ วิชาคิด
16. ยุทธศาสตร์ วิชาการรบ
17. ฉันทศาสตร์ วิชาแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
18. ลักษณะศาสตร์ วิชาดูลักษณะคนจาก http://203.170.173.156/deformed/buddish/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86/data/2/2.htm

และจากอีกแห่งหนึ่ง
1. ความรู้ทั่วไป = ความรู้รอบตัว
2. รู้กฎธรรมเนียม = คือข้อกำหนดระเบียบปฏิบัติตามธรรมดาของมนุษย์
3. คณิตศาสตร์ = การคำนวณ
4. ยันตการ = การใช้เครื่องยนต์
5. นิติศาสตร์ = ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ
6. โหราศาสตร์ = รู้การพยากรณ์
7. นาฎดุริยางคศิลป์ = ความรู้เรื่องการร้องรำทำเพลง
8. พลศึกษา = ความรู้เกี่ยวกับพลศึกษา
9. การยิงธนู
10. ประวัติศาสตร์ = ความรู้เรื่องโบราณ
11. แพทย์ศาสตร์ = ความรู้ทางแพทย์
12. อิติหาส = วิชาที่ว่าด้วยวรรณคดี นิยาย
13. วิชาดาราศาสตร์ = วิชาที่เกี่ยวกับดวงดาว
14. วิชาพิชัยสงคราม = วิชายุทธศาสตร์ และ ยุทธศิลป์
15. วิชานิพนธ์ = การประพันธ์
16. วาทศิลป์ = วิชาการพูด
17. เวทมนตร์ = วิชาเสกเป่าด้วยคาถา
18. ความรู้ทางภาษาศาสตร์
http://202.183.216.176/thai/sundorn/knowledge04.html เด็กไทยออนไลน์

ในขณะที่เทียบกับการเรียนการสอนสมัยนี้ สิ่งที่เราต้องเรียนดูจะเปลี่ยนไปตามความรู้ที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย แต่ไม่แน่ใจริงๆว่าระบบการเรียนการสอนของเราสอนให้คนรุ่นใหม่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองเพียงใด

Tuesday, May 09, 2006

การสอบโอเน็ต เอเน็ต

ปีนี้(2549) เป็นปีที่นักเรียนชั้นม.6 ต้องใช้วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่โดยทำการสอบโอเน็ต เอเน็ต

ใครๆก็งงกับการสอบระบบนี้เพราะมีปัญหามากมายเหลือเกิน ตั้งแต่การสมัครสอบที่ต้องสมัครออนไลน์ ในการสอบมีปัญหาเรื่องที่นั่งสอบ เลขประจำตัวไม่ตรงกับสถานที่สอบฯลฯ จนถึงในการบอกผลสอบก็ผิดพลาดจนต้องมีการตวจเช็คซ้ำ 3 รอบ คะแนนที่ได้ไม่มีใครแน่ใจว่าถูกต้องแน่นอนเพราะขาดความเชื่อถือในกระบวนการตั้งแต่ต้น

คำถามที่ถามกันมากได้แก่ การสอบระบบนี้เป็นอย่างไร ทำไมต้องใช้ระบบนี้แทนระบบเอนทรานซ์แบบเดิม ถ้าเทียบกับที่อื่นๆมีการสอบในลักษณะนี้ที่ไหน หรือไม่
ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบมีระบุใน http://ntthailand.mymaindata.com/ ดังนี้

"การวัดและประเมินผลการเรียนปีการศึกษา 2548
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)เป็นองค์กรของรัฐทำหน้าที่จัดระบบการทดสอบ พัฒนาแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินมาตรฐานการศึกษาด้านผู้เรียนบริการสอบ วัดความรู้ความสามารถ พัฒนาบุคลากรด้านการวัดและประเมินผล และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและระดับนานาชาติ
สถาบันฯมีภารกิจหลักในการทดสอบมาตรฐานการจัดการศึกษาด้านผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยการทดสอบผลการเรียนรู้รวบยอดระดับชาติซึ่งเป็นการวัดผลของกระบวนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สะสมระยะยาวในตัวผู้เรียน เพื่อนำผลการวัดไปใช้ในการเปรียบเทียบ บ่งชี้ ประเมินและกำหนดนโยบายการศึกษา
โดยทดสอบนักเรียน 4 ช่วงชั้น ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 - ป.3)
ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 - ป.6)
ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 - ม.3)
และช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 - ม.6)
ในปีการศึกษา 2548 สถาบันทดสอบจะดำเนินการประเมินให้กบช่วงชั้นที่ 4 ก่อน เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องการใช้ผลการทดสอบเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติจะพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้วัดและประเมินผลมาตรฐานการจัดการศึกษาด้านผูเรียน ในช่วงชั้นที่ 4 ใน 2 ระดับ คือ
1. แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O - NET)
2. แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A - NET)

การสอบ O - NET (Ordinary National Educational Test)
O - NET คือ แบบสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการวัดผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับในช่วงชั้นที่ 4 จัดสอบ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ 1 ภาษาไทย 2 คณิตศาสตร์ 3 วิทยาศาสตร์ 4 สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 5 ภาษาค่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)

ลักษณะข้อสอบและการประเมินผล O - NET ประกอบด้วย 
1. แบบทดสอบจะมีทั้งปรนัย และอัตนัย ในอัตราส่วนระหว่าง 80% - 90% : 10% - 20% ข้อสอบแบบปรนัยจะเป็นข้อสอบแบบ 4 ตัวเลือก สำหรับข้อสอบอัตนัยจะเป็นข้อสอบแบบเขียนคำตอบสั้นๆ (Short Answer) 
2. เวลาในการทำข้อสอบวิชาละ 2 ชั่วโมง 
3. ข้อสอบแต่ละข้อ คะแนนอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของข้อสอบ 
4. ข้อสอบครอบคลุมสาระและทักษะสำคัญของ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การสอบเป็นบริการของรัฐให้แก่นักเรียนทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

การสอบ A - NET (Advanced National Educational Test) 
A - NET คือ แบบสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง เป็นการวัดความรู้และ ความคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการวัดความรู้เชิง สังเคราะห์ โดยเน้นทักษะการคิดมากกว่า O-NET ประกอบด้วย 
1 ภาษาไทย 2 
2 คณิตศาสตร์ 2 
3 วิทยาศาสตร์ 2 
4 สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 2 
5 ภาษาอังกฤษ 2

ลักษณะข้อสอบและการประเมินผล A - NET ประกอบด้วย 
1. แบบทดสอบจะมีทั้งปรนัย และอัตนัย ในอัตราส่วนระหว่าง 60% - 80% : 40% - 20% ข้อสอบแบบปรนัยจะเป็นข้อสอบแบบ 4 ตัวเลือก สำหรับข้อสอบอัตนัยจะเป็นข้อสอบแบบเขียนคำตอบสั้นๆ (Short Answer) 
2. เวลาในการทำข้อสอบวิชาละ 2 ชั่วโมง ยกเว้นวิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยเนื้อหาด้าน เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา อยู่ในฉบับเดียวกัน ที่ใช้เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง และจะแสดงผลการทดสอบทั้งรวมและแยก 
3.ข้อสอบแต่ละข้อ คะแนนอาจจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของข้อสอบ
วิธีการคิดคะแนน 1. เมื่อมีการตรวจกระดาษคำตอบมีวิธีการวิเคราะห์ข้อสอบทุกข้อเพื่อหาคุณภาพขอข้อสอบ ถ้าข้อสอบข้อใดไม่มีคุณภาพตามเกณฑ์ ไม่สามารถวัดหรือจำแนกได้ ข้อสอบข้อนั้นจะไม่นำมาคิดคะแนน ดังนั้นคะแนนที่ได้จะเป็นคะแนนสอบที่ได้มาจากข้อสอบที่มีคุณภาพทุกข้อ 2 คะแนนผลการสอบจะแปลงคะแนนเป็นคะแนนมาตรฐานรายวิชา

กำหนดการสอบประมวลความรู้ ช่วงชั้นที่ 4ประจำปีการศึกษา 2548 

สอบ O-NET วันเสาร์ที่25 - วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 
สอบ A-NET วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ - วันพุธที่ 1 มีนาคม 2549"


แต่ผลการสอบก็ไม่เป็นที่ลงตัวเสียที แม้แต่ในวันนี้ (16 พฤษภาคม 2549) นักเรียนยังลุ้นระทึกกันว่าจะสามารถประกาศผล admission ได้ภายในวันนี้หรือไม่ นับว่าเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีปัญหามากที่สุดเท่าที่เคยจัดสอบมา