Thursday, September 23, 2004

Singing Blue Jay

ตั้งชื่อตัวเองเป็น Singing Blue Jay มาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ความจริงคือตั้งตาม character และ ชื่อย่อของตัวเอง โดยไม่เคยเห็นเจ้า Blue Jay ตัวเป็นๆมาก่อนเลย ไม่เคยสงสัยด้วยซ้ำว่าเป็นนกแบบไหน นิสัยเป็นยังไง เพราะเป็นนกที่ไม่มีในประเทศไทย ถ้าจะดูคงต้องถ่อไปดูที่อเมริกาซึ่งไม่มีแผนจะไปในระยะอันใกล้นี้ ยังไงก็ตามได้ลองค้นดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Blue Jay ลองดูรูปแล้วพบว่าเป็นนกที่สวยทีเดียว (เลือกไม่ผิดเลยเรา…) ก็เลยเก็บข้อมูลไว้ก่อนเผื่อจะไปดูตัวจริงในอนาคต

ว่ากันแบบอนุกรมวิธานก็ต้องบอกว่า Blue Jay อยู่ใน Phylum: Chordata Class: Aves Order: Passeriformes
Family: Corvidae Genus: Cyanocitta SPECIES: Cyanocitta cristata เป็นนกที่พบได้ทั่วไปในแคนาดาตอนใต้ และอเมริกา เป็นนกที่มีการอพยพลงใต้ในช่วงฤดูหนาว แถมมีชื่อในภาษาฝรั่งเศสด้วยคือ Geai bleu

Blue Jays เป็นนกขนาดกลางตัวใหญ่ประมาณ 10 - 11 นิ้ว เป็นนกสีสวยที่มีหงอนเป็นสีน้ำเงินม่วงอ่อนๆ ใต้ฐานหงอนจากตาจนถึงหน้าผากจะมีแถบสีดำ บริเวณหู แก้ม คอเป็นสีขาว ใต้คอเป็นแถบสร้อยคอสีดำที่ต่อเชื่อมไปถึงข้างหู อกช่วงล่าง ท้องและก้นเป็นสีขาว ส่วนบนเป็นสีเทาฟ้าและมีสีสดที่สุดบริเวณสะโพก ปีกและหางเป็นสีฟ้าสดมีแถบดำสีดำสนิท เป็นช่วง ปีกมีส่วนปลายสีขาว มุมหางมีสีขาวเช่นกัน ใต้ปีกและหางเป็นสีเทาหม่น ยกเว้นปลายขนสีขาว ปาก ขาและตาสีดำ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ในอเมริกาเหนือมีเฉพาะ Steller's Jays และ Blue Jays ที่มีแถบบนปีกและหาง ทั้งคู่มีหงอนแต่ของ Steller's Jay จะเป็นสีเกือบดำ

Blue Jay สามารถทำเสียงได้หลายแบบ มักเลียนเสียงนกเหยี่ยว โดยเฉพาะ Red-shouldered Hawk ว่ากันว่าเสียงนั้นเป็นการบอกพวกพ้องว่ามีเหยี่ยวอยู่ใกล้ๆ หรือไม่ก็เอาไว้หลอกลวงนกอื่นๆให้เชื่อมามีเหยี่ยวอยู่ที่นั่น เมื่ออยู่ใกล้รัง Blue Jay จะอยู่เงียบๆ รังมักจะอยู่บนต้นไม้สูงประมาณ 8-20 ฟิต ตัวเมียจะทำหน้าที่กกไข่ในขณะที่ตัวผู้คอยหาอาหารมาให้ ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงดูลูก ประมาณช่วงปลายฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงจะเห็น Blue Jay เป็นครอบครัวหรือ ฝูงเล็กๆ

หลายคนไม่ชอบนก Blue Jay ด้วยความที่มันเป็นนกใจร้ายไปกินไข่ของนกอื่นๆ แต่จากการศึกษาข้อมูลพบว่ามีนกเพียง 1 % เท่านั้นที่มีหลักฐานพบว่ามีไข่หรือนกอื่นๆที่กระเพาะ ส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าอาหารคือแมลงและถั่วนัทประเภทต่างๆ

บางเว็บไซต์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอพยพของ Blue Jay ว่ายังคงเป็นเรื่องลึกลับเพราะถึงแม้จะเห็นปรากฏการณ์การอพยพของนกนับพันตัวอย่างชัดเจน แต่ก็พบว่ามีนกบางตัวอาศัยอยู่ทั่วไปตลอดฤดูหนาวโดยไม่มีการอพยพ คำถามคือนพพวกไหนที่อพยพและพวกไหนไม่อพยพ แถมมีนกบางตัวที่อพยพไปทางใต้ในปีหนึ่งแล้วอยู่ทางเหนือในอีกฤดูหนาวหนึ่ง และในปีถัดไปกลับอพยพลงใต้อีก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็ยังไม่มีใครให้เหตุผลที่ชัดเจนได้

ส่วนเหตุผลของ Singing Blue Jay ที่มีชื่อนี้คือ เป็น J ที่ชอบสีฟ้าและก็ชอบร้องเพลง แถมบางที J ก็เกิดอาการ blue บ้างในบางครั้ง

ค้นข้อมูลจาก
1. http://birds.cornell.edu/BOW/BLUJAY/
2. http://www.nhptv.org/natureworks/bluejay.htm
3. http://www.enchantedlearning.com/subjects/birds/printouts/Bluejayprintout.shtml
4. http://birds.cornell.edu/programs/AllAboutBirds/BirdGuide/Blue_Jay.html
5. http://www.fcps.k12.va.us/StratfordLandingES/Ecology/mpages/blue_jay.htm

Monday, September 13, 2004

Cleanroom Technology

สืบเนื่องจากการเข้าอบรมเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการทำงานในตู้ปลอดเชื้อที่เป็น laminar flow ทำให้นึกถึงสภาพแวดล้อมที่เคยทำงานสมัยที่ยังเป็นวิศวกรฝ่ายผลิตในโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ ซึ่งต้องทำงานในห้องcleanroom หรือห้องสะอาด เพื่อไม่ให้มีฝุ่นเข้าไปในชิ้นงาน ฝุ่นเม็ดเล็กๆแทบจะมองไม่เห็นสามารถสร้างความเสียหายให้กับชิ้นงานได้มาก สมัยนั้นทำงานใน cleanroom class 100,000 และ class 100 เกือบจะลืมเรื่องพวกนี้ไปหมดแล้วทั้งๆที่เคยถูกอบรมเรื่องนี้มามากมาย

ลองค้นเข้าไปดูในอินเทอร์เน็ตพบว่าเฉพาะพิมพ์คำว่า cleanroom technology ก็มีเว็บไซต์ที่ค้นเจอเป็นล้านเว็บ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายจึงลองค้น FAQ ดู แล้วลองสรุปดูบวกกับความรู้เดิมในการทำงานดังนี้

Cleanroom หมายถึงพื้นที่ที่ถูกควบคุมปริมาณฝุ่นและแบคทีเรียในอากาศ นอกจากนั้นยังมีการควบคุมความเร็วลม ความดัน อุณหภูมิ ความชื้น ความสั่นสะเทือนและปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการทำงาน

โดยทั่วไปจะเรียกระดับความสะอาดของ cleanrooms เป็น class รายละเอียดดังตารางข้างล่างนี้

MetricClass EnglishClass           0.1M            0.2 M         0.3M        0.5M
M1.5              1                            35                7.5              3              1
M2.5             10                           350               75             30            10
M3.5            100                          -                   750            300         100
M4.5           1,000                        -                     -                -           1,000
M5.5         10,000                        -                     -                -           10,000
M6.5         100,000                      -                     -                -           100,000

โดยการวัดจะวัดจำนวนของฝุ่น(particles)ต่อหนึ่งคิวบิคฟุต ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึง cleanroom class 10 จะต้องไม่มีฝุ่นขนาด 0.1 ไมครอนเกิน 350 เม็ด จะต้องไม่มีฝุ่นขนาด 0.2 ไมครอนเกิน 75 เม็ด จะต้องไม่มีฝุ่นขนาด 0.3 ไมครอนเกิน 30 เม็ดและจะต้องไม่มีฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอนเกิน 10 เม็ด ทั้งหมดนี้เทียบต่อหนึ่งคิวบิคฟุตอากาศ และต้องไม่มีฝุ่นขนาด 5 ไมครอนเลย ถ้าเป็น Class 100,000 จะไม่มีข้อจำกัดสำหรับฝุ่นขนาด 0.1, 0.2, และ 0.3 ไมครอน แต่จะต้องไม่มีฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอนเกิน 100,000 เม็ด ทั้งหมดนี้เทียบต่อหนึ่งคิวบิคฟุตอากาศ และต้องไม่มีฝุ่นขนาด 5 ไมครอนเกิน 700 เม็ด

NOTE: ในการวัดระบบ English (US Customary Units), จำนวนของฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอนใน cleanroom หนึ่งๆ จะเป็นตัวแยกแยะระดับของความสะอาด

หมายเหตุ: หนึ่งไมครอนหรือไมโครเมตรเท่ากับเศษหนึ่งส่วนพันเมตร

ในการใช้งาน cleanroom จะมีการใช้แผ่นกรองที่เรียกว่า เฮปป้า HEPA ย่อจากคำว่า High Efficiency Particulate Air

ตัวกรอง HEPA จะถูกจัดความสามารถจากความสามารถในการดักจับฝุ่นขนาด 0.3 microns ฝุ่นขนาด 0.3 micron เป็นขนาดที่ถูกเลือกมาใช้ทดสอบเพราะเป็นขนาดที่ดักจับได้ยากที่สุด ฝุ่นขนาดเล็กและใหญ่กว่านี้จะถูกดักจับได้โดยใช้กลไกในการดักจับ 3 แบบเบื้องต้นคือ: diffusion, direct interception,และ inertial impaction

เท่าที่เคยทำงานใน cleanroom การรักษาความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่จะเข้าไปทำงานจะต้องถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเปลี่ยนชุดในห้องล็อคเกอร์ซึ่งเป็นห้องกว้างพอควรมีล็อคเกอร์เรียงรายติดผนัง มีม้านั่งไว้ให้นั่งเวลาสวมรองเท้า โดยปกติแต่ละคนจะมีล็อกเกอร์ของตัวเอง มีเสื้อชุดพิเศษสำหรับใช้ในห้อง cleanroom ที่เรียกว่าชุด จั๊มพ์สูท(Jumpsuit)เป็นชุดผ้าใยสังเคราะห์ มีแถบคาร์บอนสีดำเป็นเส้นเล็กๆอยู่ในผ้า นอกจากเสื้อก็จะมีรองเท้า หมวกผ้า หมวกกระดาษคลุมผม maskสำหรับปิดปากปิดจมูก และถุงมือ วิธีการใส่จะเริ่มจากคาดมาสค์ ใส่หมวกคลุมผม สวมหมวกผ้าที่คลุมมาถึงคอสวมชุดจั๊มพ์สูทที่เป็นเหมือนชุดหมี จากนั้น สวมรองเท้า แล้วจึงสวมถุงมือ(ชนิดไม่มีแป้ง)พูดง่ายๆว่าทั้งตัวเห็นเฉพาะบริเวณตาที่โผล่ออกมาเจออากาศ นอกนั้นถูกคลุมอยู่ใต้ชุดทั้งหมด เมื่อแต่งตัวเสร็จ จะเดินผ่านห้องเป่าลมเพื่อเป่าฝุ่นออกจากตัว หมุนไปหมุนมาสองสามรอบแล้วจึงเข้าไปในห้อง cleanroom เพื่อทำงานจริง

ทุกคนจะต้องแต่งตัวเหมือนกันไม่มีข้อยกเว้น แต่สามารถแยกกลุ่มคนเข้าไปทำงานได้โดยดูจากสีเสื้อ ซึ่งแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน ที่ทำงานเก่า จะให้พนักงานในสายการผลิตใส่เสื้อสีขาว พนักงานแผนกวิศวกรรมและ supervisor ใน line จะใช้สีฟ้า พวก Quality Assurance สีเขียวเป็นต้น

ในการนำของเข้าสู่ cleanroom ของนั้นๆถ้าเป็นชิ้นเล็กๆจะถูกจับใส่ถุง ของชิ้นใหญ่ๆก็สามารถนำเข้าได้แต่ต้องทำความสะอาดมาก่อน และไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเมื่อจะนำเข้าห้องจะถูกเป่าด้วยแอร์กัน(air gun)เพื่อทำความสะอาดแล้วเปิดกล่องรับของเข้าห้องที่ถูกออกแบบให้เปิดได้ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเปิดพร้อมกันทั้งสองข้างได้ เป็นการป้องกันไม่ให้มีอาการเผลอเปิดเอาฝุ่นเข้าไปจากสภาพแวดล้อมนอกห้อง

ในห้อง cleanroom ที่ใช้สำหรับสายการผลิตอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ จะไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องความสะอาดแต่จะให้ความสนใจกับเรื่อง ESD(Electrostatic Discharge)ด้วย จะมีอุปกรณ์ต่างๆเพื่อป้องกันเช่น สายเสียบกราวด์ที่ผู้ติดกับข้อมือผู้ทำงานและต่อเข้ากับจุดต่อบนโต๊ะทำงานเพื่อไม่ให้เกิด ESD เข้าไปทำอันตรายต่อชิ้นงาน

cleanroom ที่ใช้งานทั้งห้องเป็นระดับ 100,000 แต่บนโต๊ะทำงานจะมี laminar flow ควบคุมที่ class 100 เป็นสภาพการทำงานที่ฉันค่อนข้างชอบเพราะอากาศเย็นตลอดเวลา สะอาดมาก ทำงานกับอุปกรณ์ต่างๆที่ออกแบบมาอย่างน่าสนใจ โดยรวมเป็นสภาพการทำงานที่ดีมาก แต่คงไม่คิดจะไปทำอีกแล้ว :-)

ข้อมูลทั่วไปเรียบเรียงจากจาก http://www.lymtech.com/faq.htm
ข้อมูลเกี่ยวกับ HEPA เรียบเรียงจาก http://www.donaldson.com/en/aircraft/support/faq.html

Saturday, September 11, 2004

Tissue Culture เทคโนโลยีที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ที่ทำงานที่นี่มีการจัดอบรมเรื่อง "การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ" ได้ขอเข้ารับการอบรมด้วยเป็นรุ่นที่ 2 เพราะสนใจเทคนิคนี้มานานแล้วแต่คิดมาเสมอว่ามันต้องยุ่งยากมาก อาศัยการฝึกอบรมเทคนิดพิเศษถึงจะทำได้ ครั้งนี้เขาประกาศว่าผู้เข้ารับการอบรมมีพื้นความรู้ม.3ก็เพียงพอ แสดงว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาใกล้ชีวิตคนปกติมาก รุ่นที่ไปนี้เป็นรุ่นวันที่ 8-10 กันยายน 2547 อาจารย์ผู้สอนคือ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด ซึ่งให้ความรู้ดีมาก อธิบายเข้าใจง่ายและเป็นภาษาที่ไม่เทคนิคมากเกินไป

เนื้อหาที่เรียนคือ ทฤษฎีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นจะเป็นการแนะนำวิธีการทำงานในห้องปฏิบัติการตั้งแต่การใช้อุปกรณ์ในตู้ปลอดเชื้อขั้นพื้นฐาน การใช้หม้อนึ่งความดัน การเตรียมวุ้นอาหาร ต่อในวันที่สองด้วยการฝึกปฏิบัติเตรียมฝักกล้วยไม้ การเพาะเมล็ด การย้ายเลี้ยงโปรโตคอร์ม วันสุดท้ายเป็นการย้ายต้นอ่อน การอนุบาลต้นกล้า ทั้งนี้เน้นให้ได้ทำงานกันจริงๆ และเมื่อสิ้นสุดการอบรมแต่ละคนจะได้ต้นไม้ที่ทำการแยกออกมาในตู้ปลอดเชื้อไปเลี้ยงดูฝีมือตัวเองคนละ 2 ขวด และได้ต้นกล้าอีกจำนวนหนึ่ง

ที่โปรยหัวไว้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายหนึ่งให้ชุมชนคีรีวงซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในชุมชนจริงๆ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้จึงได้ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในราคาที่ชุมชนสามารถจัดหาได้ด้วย จากตู้ปลอดเชื้อที่ราคาเป็นแสน เราสามารถสร้างเองได้ในราคาตู้ละ14,000 บาท เครื่องนึ่งฆ่าเชื้ออุปกรณ์แบบตั้งค่าได้และให้ทำงานอัตโนมัติที่เรียกกันว่า ออโตเคลฟ ราคา 150,000 บาท ก็สามารถใช้เป็นหม้อนึ่งที่ปรับความดันโดยการปรับปริมาณแก๊สราคา 18,000 บาท อุปกรณ์ที่ใช้ในตู้ปลอดเชื้ออาจารย์ก็ได้แสดงให้เห็นว่าถ้าสามารถไปจ้างทำเองชนิดไม่ซื้อก็สามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่าและใช้งานได้ดีเช่นกัน นอกจากนั้นโครงการนี้ยังตั้งใจจะเป็นพี่เลี้ยงให้คนในชุมชนได้ร่วมมือกันแล้วสร้างงานต่อโดยการให้ไปสร้างโรงเรือนเองแทนที่จะไปขอทุนทำการวิจัยมาทั้งหมด ซึ่งนั่นจะเป็นการสร้างให้ชุมชนกระตือรืนร้นและมีส่วนร่วม มีความเป็นเจ้าของ โดยส่วนตัวเห็นว่าโครงการแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านจริงๆ และทำให้เทคโนโลยีซับซ้อนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับก็ขึ้นกับจะหาแนวทางธุรกิจอย่างไรต่อไป เช่น ขยายพันธุ์พืชที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ซึ่งมีอยู่ในเทือกเขาหลวงเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ต้นไม้ หรือทำการเพาะพันธุ์ต้นไม้ขายก็แล้วแต่จะหาวิธีกันไป

Monday, September 06, 2004

Begonia บิโกเนียดอกไม้สวยริมระเบียง

ปกติเวลาปลูกต้นไม้ไว้บนระเบียงจะปลูกไม้กระถางเพราะดูแลง่าย ต้องหาไม้ที่ไม่ต้องการแดดมากนัก หลังจากปลูกโน่นปลูกนี่มาหลายปี ในที่สุดฉันก็มีบิโกเนียมาประดับบ้าน จุดเริ่มต้นมาจากการเห็นดอกไม้สีชมพูหวานออกดอกเป็นพวงตัดกับใบสีเขียวสดทรงกลมๆเบี้ยวๆของคุณป้าข้างบ้าน ขอคุณป้ามาปลูก 3-4 กิ่ง ปรากฏว่ามันขยายพันธ์เร็วมาก แค่ตัดกิ่งมาปักใหม่ก็ได้ต้นใหม่ และมีดอกดกจนทำให้ฉันต้องเอาไปแจกจ่ายบ้านพี่สาว และเพื่อนๆ พยายามถามว่าต้นนี้ชื่ออะไร คุณป้าบอกว่าชื่อต้นตุ๊กตา ความที่มันน่ารักเหมือนตุ๊กตา ฉันก็เห็นด้วย แต่ไม่คิดว่าชื่อจริงๆจะเป็นชื่อนั้น จนไปอ่านหนังสือรูปภาพดอกไม้มีคำบรรยายและเรียกดอกไม้แบบนี้ว่า แวกซ์ บิโกเนีย (Wax begonia)

หลังจากนั้นมีน้องชายตัวอ้วนกลมที่รักต้นไม้มากมายเอาต้นไม้มาฝากเลี้ยง มีบิโกเนียหลากชนิด ฉันเริ่มสนใจเพราะบิโกเนียเป็นไม้ใบสวย ทรงใบแปลกมาก และมีดอกสวย เท่าที่เห็นจะเห็นชนิดที่เป็นดอกพวงและมักจะเห็นสีชมพู เลี้ยงไปเลี้ยงมาตอนนี้ที่บ้านฉันมีบิโกเนียอยู่ 6 ชนิด กำลังจะทำท่าภูมิใจว่ามีหลายชนิดมากแล้ว ก็เกิดเอะใจลองไปค้นเว็บค้นหนังสือดู เห็นข้อมูลแล้วจะเป็นลม มีบิโกเนียมากกว่า 500 ชนิดในโลก ท่าทางจะไม่สามารถตามเก็บมาเลี้ยงได้ขนาดนั้น

ฉันค้นต่อเพื่อดูประวัติและรายละเอียดของบิโกเนียพบว่า หลายประเทศให้ความสนใจมาก บางที่มีองค์กรบิโกเนียโดยตรง มีหนังสือรายปักษ์ มีภาพมีข้อมูลมากพอประมาณ แต่ข้อมูลภาษาไทยมีน้อย

บิโกเนียเป็นไม้ป่าที่พบในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง และพบได้ในอินเดียกับประเทศในเขตร้อนอื่นๆ บิโกเนียแบ่งได้ 7 กลุ่มคือ Cane-stemmed ทรงใบเป็นรูปหัวใจ Rex-cultorum ต้องการอุณหภูมิประมาณ 70-75 องศาF Rhizomatous oms. ต้องการอุณหภูมิประมาณ 66 องศาF และให้น้ำโดยวิธีจุ่มน่ำจากข้างล่าง Semperflorens , Shrub-like , Tuberous มักใช้ประดับในงาน เป็นบิโกเนียแบบมีหัวใต้ดินและมีดอกหลากสี สูงประมาณ 15 นิ้วมีใบใหญ่เป็นมัน ถ้าเป็นเมืองหนาวจะตายในฤดูใบไม้ร่วงและจะงอกใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ บางชนิดเหมาะจะปลูกในตะกร้าแขวน และสำหรับกลุ่มสุดท้าย Winter-flowering มีใบสีเขียวบรอนซ์ มีดอกในฤดูหนาว (ข้อมูลนี้จากhttp://www.botany.com/begonia.htm)

ลองไปค้นเว็บอื่นๆบางเว็บให้ข้อมูลว่าบิโกเนียมี species ได้มากกว่า 1400 ชนิด

Begonia (ถูกตั้งชื่อตาม M. Begon ผู้ให้การสนับสนุนด้านพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส) บิโกเนียอยู่ในจีนัสใหญ่ (Family Begoniaceae)มีประมาณ 350 species ในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะอเมริกาใต้และอินเดีย มีประมาณ 150 species เป็นที่รู้จักในการเพาะพันธ์และมีอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่เป็นพันธุ์ผสม ใบจะมีลักษณะเบี้ยว ไม่สมมาตร (จาก 1911 encyclopedia..
http://www.fact-index.com/b/be/begonia.html )

Begonias ถูกจัดอยู่ใน division Magnoliophyta, class Magnoliopsida, order Violales , genus Begonia

อืมม์...ข้อมูลเยอะแยะ เริ่มเกิดอาการ Information overload ต้องไปอ่านเพิ่มแล้วมา update ใหม่อีกแล้วล่ะ